ผู้เขียน หัวข้อ: “จุรินทร์” เมินเสียงค้านโอนสิทธิ สปส.เอ็นจีโอขู่เคลื่อนไหว-ผู้จัดการ-13พค2553  (อ่าน 1605 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
ภาคประชาชนรุม ค้านมติ ครม.โอนสิทธิประกันตนคู่สมรสไป สปส.ขู่เคลื่อนไหวไม่เอาด้วย ชี้เหมือนโ ยนเงิน ให้ รพ.เอกชน ด้าน “จุรินทร์” เมินเสียงต้าน อ้างเป็นนโยบายรัฐ ขณะที่ “หมอวินัย” ชี้ ต้องคำนวณงบฯรายหัวโอนให้ สปส.ใหม่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติโอนสิทธิครอบครัวผู้ประกันตน จากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปอยู่ในระบบประกันสังคม ว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศไว้เบื้องต้นว่าจะขยายสิทธิผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม นอกจากผู้ใช้แรงงานแล้วก็จะขยายไปถึงคู่สมรสและบุตรด้วย ซึ่งเป็นขั้นตอนการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ขณะนี้การขยายสิทธิประกันสังคมไปยังคู่สมรสและบุตรผู้ประกันตนได้ ก็ต้องแก้กฎหมายประกันสังคม ที่ได้ผ่านกระบวนการเกือบจะเสร็จแล้วโดยเฉพาะในขั้นตอนของกฤษฎีกา ก็จะกลับเข้าสู่ที่ประชุมครม.อีกครั้ง หลังจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร เมื่อกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน       
       นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ครอบครัวของผู้ประกันตนที่เปลี่ยนสิทธิไปอยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับสิทธิเพิ่มเติม นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว ยังได้ครอบคลุมไปถึงทุพพลภาพและเสียชีวิตด้วย ส่วนความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเป็นเรื่องระหว่างหน่วยงาน แต่ว่าในภาคนโยบายถือว่าครม.มีมติแล้ว ส่วนที่จะกระทบกับกระทรวงสาธารณสุขก็คือเรื่องงบประมาณ ซึ่งเดิมรัฐบาลจัดสรรงบฯให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ต่อไปก็จะโอนงบฯให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งขณะนี้ครอบครัวผู้ประกันตนมีประมาณ 5.8 ล้านคน       
       นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ขณะนี้การโอนงบฯรายหัวของคู่สมรสและบุตรยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ที่ชัดเจน คือ จะไม่ใช่งบฯเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 2,546 บาท ต่อหัวประชากร และไม่ใช่จำนวน 700 บาทต่อหัว ตามที่ สปสช.คำนวณไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง ที่สำคัญการคำนวณค่าใช้จ่ายต้องคำนวณตามกลุ่มอายุ เพราะคนกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงของการเกิดโรคน้อยกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลย่อมถูกกว่า
     
       นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย ตามปกติแล้ว กลุ่มคู่สมรสมักจะมีอายุที่ไม่สูงมาก ดังนั้น จะไม่ค่อยเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งการที่ ครม.มีมติดังกล่าวเท่ากับเป็นการโยนเงินไปให้ สปส.และโรงพยาบาลเอกชนจะได้ประโยชน์มาก เพราะส่วนใหญ่ สปส.จะไปซื้อบริการการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลเอกชน และโดยปกติแล้วผู้ที่จะไปใช้บริการตามสิทธิก็จะมีน้อย จะทำให้กำไรไปตกอยู่โรงพยาบาลเอกชน เหมือนกับรัฐเอาเงินไปให้โรงพยาบาลเอกชน รัฐบาลจำเป็นต้องมองถึงมุมนี้ด้วย       
       “ถ้ามองกันตามจริงแล้ว สิทธิที่ผู้ป่วยจะได้รับจาก สปสช.จะได้ผลเป็นรูปธรรมมากกว่า เพราะเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งองค์กรภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับมติครม.นี้อย่างยิ่ง และกำลังจะมีการหารือถึงแนวทางในการคัดค้านต่อไป” นายนิมิตร์ กล่าว