ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.ขอนแก่นมุ่งสู่พอเพียงก้าวสู่ศูนย์กลางแพทย์ภูมิภาค  (อ่าน 1670 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รพ.ขอนแก่น มุ่งสู่ระบบ รพ.สุขภาพพอเพียง บริหารจัดการระบบการบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินแบบครบวงจรตามมาตรฐานสากล ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ในระดับภูมิภาค

ขอนแก่น/ น.พ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า รพ.ขอนแก่น เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิ ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่บาดเจ็บและฉุกเฉินที่มารับบริการรักษาพยาบาลเอง และให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยที่ส่งต่อมาขอรับบริการจากโรงพยาบาลในเครือข่าย เขต 12 (มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์) และโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า "โรงพยาบาลขอนแก่นมุ่งสู่ระบบสุขภาพพอเพียง" ดังนั้น จึงได้กำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาและแผนการดำเนินงาน ที่เน้นในเรื่องของการสร้างระบบบริการสุขภาพเชิงรุก สร้างระบบการบริการสุขภาพและการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีอย่างพอประมาณตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้ผู้รับบริการมีความอุ่นใจและผู้ให้บริการมีความสุข รวมทั้งพัฒนาสมรรถนะบุคลากรอย่างครอบคลุมทุกระดับ

น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด กล่าวว่า ศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด รพ.ขอนแก่น มีการดำเนินงาน 4 แผนงานหลัก คือ งานป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ/ งานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน/งานดูแลผู้บาดเจ็บและป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาล/ศูนย์จัดการความรู้เรื่องการบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินครบวงจร ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าวนี้จะแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มภารกิจและ 1 ในภารกิจนั้นจะเป็นกลุ่มภารกิจด้านผลิตและพัฒนาบุคลากร โดย รพ.ขอนแก่นได้รับการประสานจากสำนักงานองค์การอนามัยโลกที่ดูแลประเทศแถบภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) สนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และโรงพยาบาลขอนแก่น (WHO Collaborating Centre For Injury Prevention and Safety Promotion) ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการอบรม 3 rd International Training Program on Pre Hospital Care: Strategies in developing Pre Hospital Care ในระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2554 เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบการป้องกันการบาดเจ็บ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งในการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจากกลุ่มประเทศเป้าหมาย 14 ประเทศ ประกอบด้วย พม่า, อินเดีย, ติมอร์-เลสเต, อินโดนีเซีย, ภูฏาน, เนปาล, ศรีลังกา, บังกลาเทศ และประเทศไทย และกลุ่มประเทศ WPR ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา, เวียดนาม, ลาว, ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย โดยทีมวิทยากรได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนองค์การอนามัยโลก, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, รพ.อุดรธานี และ รพ.ขอนแก่น

ขณะที่ น.พ.ประวิทย์ ทวีแสงสุขสกุล นายแพทย์ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์หัวใจ รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบัน รพ.เปิดให้บริการห้องตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการตรวจฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบและหัวใจขาดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดค้ำยัน รักษาภาวะผนังกั้นหัวใจรั่วแต่กำเนิด รักษาภาวะหัวใจเต้นช้าด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร พร้อมทั้งการให้บริการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด คือการผ่าตัดรักษาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าตัดต่อทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (ผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ) ผ่าตัดต่อเส้นเลือดเทียมเพื่อการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวาย ผ่าตัดมะเร็งปอด โดยจะเริ่มให้บริการ วันที่ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกันยังคงให้บริการในเรื่องของยาละลายลิ่มเลือดเพื่อการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันในโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดขอนแก่นให้ครบทั้ง 20 แห่ง รวมไปถึงการเปิดให้บริการตรวจคลินิกเฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือดนอกเวลาราชการ (ในวันพุธเวลา 16.00-20.00 น. และวันเสาร์ 08.30-12.30 น.) และการนัดตรวจพิเศษโรคหัวใจทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว ทันเวลา และลดอัตราการเสียชีวิต ควบคู่ไปกับการบริการส่งเสริมป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ป้องกันได้ รวมถึงเป็นสถาบันร่วมในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชน


บ้านเมือง  11 ตุลาคม 2554