ผู้เขียน หัวข้อ: หวั่นน้ำท่วม รพ.พระนั่งเกล้า สธ.เตรียมแผนย้ายผู้ป่วยไปสถาบันบำราศฯ  (อ่าน 1365 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
“วิทยา” เตือนอย่าประเมินสถานการณ์ต่ำ สั่งโรงพยาบาลเตรียมแผนอพยพผู้ป่วย เผย รพ.พระนั่งเกล้า เกือบท่วมแล้ว น้ำเจ้าพระยาจ่อกำแพงห่างแค่ 1 ฟุต เสริมคันกั้นสูง 1.5 เมตร แจ้งเลื่อนนัดผู้ป่วยผ่าตัดไม่ฉุกเฉินไป 2-3 สัปดาห์ ระบุ เตรียมแผนย้ายผู้ป่วยไปสถาบันบำราศฯ สำรองออกซิเจน 7 วัน สธ.เตรียมประสาน 5 หน่วยงาน ตั้งศูนย์แพทย์เฉพาะกิจ ขอความร่วมมือทั้งรัฐ เอกชน รอตั้งรับถ้าน้ำท่วม กทม.
       
       วันนี้ (11 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สธ.เดินทางตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เนื่องจากด้านหลังของโรงพยาบาลอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้ระดับน้ำอยู่ห่างจากกำแพงโรงพยาบาลราว 1 ฟุต และมีบางส่วนล้นเข้ามาตามช่องประตูรั้ว แต่ยังไม่เข้าท่วมภายในโรงพยาบาล เพราะมีการเสริมกระสอบทรายเป็นแนวป้องกันน้ำในระดับความสูง 1.5 เมตร
       
       นายวิทยา กล่าวว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ไม่ควรประเมินสถานการณ์ต่ำ โดยเชื่อว่า ภายใน 3-4 วัน มวลน้ำจะจากปทุมธานี จะมาถึง จ.นนทบุรี จึงควรเตรียมการในส่วนของระบบส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย โดยจะต้องประสานโรงพยาบาลเครือข่ายในหลายระดับ จำเป็นต้องประสานสถานพยาบาลจังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ เช่น จ.นครปฐม หรือ กาญจนบุรี ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯด้วย
       
       นพ.ธวัชชัย วงค์คงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ขอเลื่อนนัดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดในกรณีไม่ฉุกเฉินออกไป 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้พ้นภาวะวิกฤตของสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อสำรองเตียงไว้สำหรับการรองรับผู้ป่วยอาการหนักจากโรงพยาบาลอื่นที่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากโดยปกติเตียงสำหรับผู้ป่วยในของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เต็มทุกวัน ไม่มีเตียงว่าง นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้เตรียมการสำรองไฟ น้ำ และออกซิเจน สำหรับใช้ 7 วัน เพื่อดูแลผู้ป่วยทั่วไปได้ โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาลอื่น หากออกซิเจนหมดก่อนที่น้ำจะลดได้ติดต่อเช่าออกซิเจนวันละ 120 ถังและเครื่องสำรองไฟไว้กับเอกชนเรียบร้อยแล้ว
       
       นพ.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีที่โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้นั้น ได้มีการประสานสถาบันบำราศนราดูร สังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งตั้งอยู่ติดกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษา ซึ่งได้รับแจ้งว่า หากเป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถรับได้ 50 ราย และผู้ป่วยทั่วไป 90 ราย ทั้งนี้ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเมื่อมีการประเมินสถานการณ์แล้วว่าอยู่ในภาวะวิกฤตจริงๆ เท่านั้น
       
       “ในการเตรียมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะไม่ย้ายเมื่อเกิดน้ำท่วมแล้ว แต่จะเคลื่อนย้ายก่อนน้ำท่วมแน่นอน ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่า จะใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักที่มีอยู่ 30 ราย ภายใน 2-3 ชั่วโมง และในการส่งผู้ป่วยจะมีทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลตามไปดูแลด้วย และได้ประสานขอรถอีเอ็มจากกองทัพ เรือและเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้ในการส่งต่อผู้ป่วยไว้พร้อมแล้ว” นพ.ธวัชชัย กล่าว
       
       นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมหารือเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ว่า จะเตรียมประสานเครือข่ายโรงพยาบาล สังกัดโรงเรียนแพทย์, กทม., สังกัดทหาร, เอกชน เพื่อร่วมกันทำงานในการเตรียมพร้อมรองรับในสถานการณ์อุทกภัยที่พื้นที่ในปริมณฑลอาจได้รับความเสียหาย เพื่อร่วมวางแผนด้วยกัน ว่า มีปริมาณเตียงสำรองเพียงพอสำหรับประชาชนเท่าใด ซึ่งจะตั้งเป็นศูนย์การแพทย์กลาง อยู่ภายใต้ความดูแลของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ของรัฐบาล เพื่อให้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะต้องหารือกันในระดับสูงกว่านี้ ให้ได้มติว่าจะประสานงานอย่างไร และมีโรงพยาบาลใดบ้างที่พร้อมเข้าร่วมในการสำรองเตียง และรับผู้ป่วย ในกรณีที่ปริมณฑลไม่สามารถรับมือได้ โดยจะเร่งนำเสนอให้เร็วที่สุด


ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ตุลาคม 2554