ผู้เขียน หัวข้อ: ยัน 10 ผู้ป่วยเสียชีวิตอยุธยาเป็นผู้ป่วยอาการหนัก สธ.ระบุไม่เกี่ยวกับการลำเลียง  (อ่าน 1863 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 สธ.ยันเหตุผู้ป่วยเสียชีวิตที่ จ.อยุธยา 10 ราย ไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนย้ายเพื่อออกจากพื้นที่น้ำท่วม แต่เป็นผู้ป่วยอาการวิกฤต ระบุนครสวรรค์ รับมือได้อีก 14 วัน ทยอยลำเลียงผู้ป่วยได้
             
       นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการายงานข่าว ว่า ระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจาก รพ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้ป่วยได้รับผลกระทบเสียชีวิตกว่า 10 ราย ว่า ได้รับการรายงานจาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้วว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิต เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง 3 วันที่น้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่เกาะเมือง จำนวน 10 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่อาการหนัก และสิ้นหวังในการรักษา โดยไม่ได้เสียชีวิตจากการไฟดับ หรือ การเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด แต่เป็นการเสียชีวิตจากอาการของโรคที่ดำเนินอยู่ โดยแต่ละวันในสถานการณ์ปกติ ก็จะมีผู้ป่วยอาการหนักเสียชีวิตประมาณวันละ 5-6 รายอยู่แล้ว ซึ่งในวันนี้ (10 ต.ค.) ก็มีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต 1 ราย ในห้องฉุกเฉิน ยืนยันว่า ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด ซึ่งในโรงพยาบาลอื่นๆ จะแยกกลุ่มผู้ป่วยเป็นอาการหนัก เคลื่อนย้ายได้ และอาการหนัก เคลื่อนย้ายไม่ได้ ที่ต้องหาทางดูแลในโรงพยาบาลต่อเนื่องอยู่แล้ว
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รพ.สวรรรค์ประชารักษ์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาน้ำเริ่มเข้าท่วม เนื่องจากผนังกั้นน้ำแตกนั้น ขณะนี้เริ่มทยอยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออก โดยได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ทำให้มีความพร้อม ในเรื่องเส้นทางอพยพ วิธีการอพยพ งดรับผู้ป่วยหนักรายใหม่มาร่วมสัปดาห์ และมีการสำรองไฟ น้ำ เวชภัณฑ์ ออกซิเจน ได้เพียงพอ อยู่ได้อีก 14 วัน ฉะนั้น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะทยอยนำผู้ป่วยออก เชื่อว่า จะไม่เกิดความโกลาหล เหมือนที่ จ.อยุธยา และจะแบ่งผู้ป่วยอาการหนักที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ออกมาก่อน โดยจะประเมินสถานการณ์ต่อไป อาจจะไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกมาทั้งหมด หากสามารถเดินไฟ มีน้ำใช้ ได้
       
       “สำหรับโรงพยาบาลในเขตที่น้ำกำลังจะเคลื่อนเข้าต่อไป คือ ปทุมธานี นนทบุรี ได้รายงานว่า มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านแล้ว โดยจะส่งรองปลัดเข้าไปประเมินสถานการณ์ว่า ยังขาดอะไรและต้องเตรียมอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ นอกจากนี้ จะมีการประสานไปยัง คณะแพทย์ มหาวิทยาลัย ต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ ในการรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ที่ต้องเคลื่อนย้ายจาก รพ.ต่างๆ เพิ่มเติม เพราะ รพ.สังกัดกรมแพทย์ อาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ได้ให้ รพ.ในพื้นที่ประสบภัย จับคู่กับ รพ.ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อส่งต่อผู้ป่วย และสับเปลี่ยนกำลังคนเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยแล้ว” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมและประชุมผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ ปทุมธานี นนทบุรี อ่างทอง และลพบุรีว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมเชื่อว่าพื้นที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรีและกรุงเทพมหานครจะเป็นพื้นที่ที่ต้องรับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อจาก จ.พระนครศรีอยุธยาอย่างแน่นอน ดังนั้น สถาน บริการสาธารณสุขในพื้นที่โดยเฉพาะ จ.ปทุมธานีและนนทบุรีจะต้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
       
       “ไม่แนะนำให้ใช้วิธีการทำแนวป้องกันน้ำท่วมเนื่องจากคงไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ ควรเตรียมแผนเปลี่ยนจุดบริการ โดยสถานพยาบาลแต่ละแห่งทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) และโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่น้ำจะท่วม ต้องหาเช่าพื้นที่ที่มีความปลอดภัยที่สุดรองรับเปิดเป็นสถานพยาบาลแห่งใหม่ชั่วคราวทันทีเมื่อเกิดน้ำท่วม และแจ้งให้ประชาชนทราบ”นายวิทยากล่าว
       
       ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ในวันที่ 10 ต.ค. 2554 มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายจำนวน 3 รายนั้น นายวิทยา กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 รายเท่านั้น โดยผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงอยู่ก่อนแล้ว และยืนยันว่า ผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาปลอดภัยทั้งหมด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 ตุลาคม 2554