ผู้เขียน หัวข้อ: "รพ."โวยสปสช.ถ่วงงบฯได้ไม่เต็ม  (อ่าน 901 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
"รพ."โวยสปสช.ถ่วงงบฯได้ไม่เต็ม
« เมื่อ: 06 ตุลาคม 2011, 20:42:24 »
ผอ.รพ. โวยวิธีบริหารงบฯ สปสช. ที่จัดงบแบบแยกย่อยกองทุน ทำให้ได้เงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย 100% เบิกจ่ายยุ่งยาก ส่งผลมีเงินค้างท่อตั้งแต่ปี 51 กว่า 4,000 ล้านบาท หวั่นปีหน้าสถานการณ์ย่ำแย่กว่านี้ เพราะเจอนโยบายเงินเดือน 15,000 บาท และค่าแรง 300 บาท ซ้ำเติมทำให้ต้องมีภาระเพิ่มขึ้น “วิทยา” ย้ำ พ.ย.นี้เดินหน้าเก็บ 30 บาทแน่ 
    นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงเรื่อง “การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ ปีงบประมาณ 2555” ให้กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผอ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ ผอ.เขต สปสช. กว่า 400 คน พร้อมกับกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมบอร์ด สปสช. เพื่อเดินหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ภายในเดือนต.ค.นี้ และเดือน พ.ย. จะเริ่มเก็บเงิน 30 บาทได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าการจัดเก็บ 30 บาท จะไม่กระทบต่อคะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทย เพราะก่อนหน้านี้พรรคได้มีการประกาศเป็นนโยบายอยู่แล้ว สำหรับงบฯ ที่จัดเก็บนี้จะนำไปพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะ รพ.ส่งสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อลดความแออัดของ รพ. โดยใน 6 เดือน จะลดความแออัดของผู้มาใช้บริการใน รพ.ขนาดใหญ่ให้ได้ร้อยละ 50 ส่วนกองทุน สปสช. ปี 2555 มีจำนวน 114,527 ล้านบาท ขอให้ สสจ.ดูแลการใช้เงินของ รพ.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
    นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หากบอร์ด สปสช.เห็นชอบก็สามารถดำเนินการเก็บเงิน 30 บาท ได้ทันทีในเดือน พ.ย. จากข้อมูลคาดว่า จะมีประชาชนที่มีสิทธิ์ในบัตรทองประมาณ 24 ล้านคน ที่จะต้องร่วมจ่ายเงิน 30 บาท
    ในช่วงการประชุมเปิดรับฟังความเห็น นพ.ประเสริฐ ขันเงิน ผอ.รพ.พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวว่า การจัดสรรงบฯ สปสช.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่เป็นธรรมกับ รพ.อย่างมาก โดยเฉพาะการจัดสรรงบที่ถูกแยกย่อยออกไปถึง 12 กองทุน ทั้งการจ่ายเงินตามเฉพาะโรค และการส่งเสริมป้องกัน เป็นเหตุให้ รพ.ได้รับงบฯ ไม่ครบ อย่างในปี 2554 รัฐบาลให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,500 บาท แต่เงินที่ส่งมาถึง รพ.กลับไม่ได้รับตามนั้น ซึ่งนอกจากถูกกันไว้เพื่อจ่ายเงินข้าราชการ 40% แล้ว ยังต้องถูกหักเพื่อไว้ใช้ในกองทุนย่อยเหล่านี้อีก   
    "การเบิกจ่ายเงินกองทุนย่อยยังเป็นเรื่องยุ่งยากมาก หลาย รพ.ประสบปัญหาเหมือนๆ กัน เนื่องจาก รพ.ต้องส่งข้อมูลรายละเอียดตามที่ สปสช.กำหนดอย่างครบถ้วน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ทำให้มี รพ.หลายแห่งไม่ได้เบิกจ่ายเงินก้อนนี้ ทั้งที่ควรจะได้ ที่ผ่านมา สปสช.จึงมีเงินค้างท่อที่ยังไม่จ่ายให้กับ รพ.จำนวนนับหมื่นล้านบาท แต่ในช่วงที่เกิดปัญหา รพ.ขาดทุน  สปสช.จึงได้เร่งทยอยจ่ายคืนเงินก้อนนี้ให้กับทาง รพ.เพื่อบรรเทาสถานการณ์ โดยในปี 2554 นี้ ยังมีเงินค้างท่อที่ สปสช.อีก 4,000 ล้านบาท" นพ.ประเสริฐกล่าว
    นอกจากนี้ ในการเรียกเก็บค่ารักษาผู้ป่วยใน ทาง สปสช.เองยังจ่ายไม่ครบตามที่ รพ.เรียกเก็บอีกเช่นกัน โดยในส่วนของ รพ.พระพุทธชินราช ในปี 2553 ทาง รพ.ได้เรียกเก็บจาก สปสช. 948 ล้านบาท แต่ทาง สปสช.กลับจ่ายเพียงแค่ 499 ล้านบาทเท่านั้น และเมื่อดูภาพรวมการจ่ายเงินทั้งประเทศ โดยในส่วนของ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป มีการเรียกเก็บเงินค่ารักษาเพิ่ม 37,026 ล้านบาท แต่ สปสช.จ่ายคืนเพียง 17,636 ล้านบาท ขณะที่ รพ.ชุมชน เรียกเก็บที่ 30,473 ล้านบาท แต่ สปสช.จ่ายให้เพียงแค่ 23,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้ รพ.ต้องเป็นผู้แบกรับภาระเงินส่วนเกิน และเมื่อเปรียบเทียบกับการเรียกเก็บเงินจากสิทธิ์รักษาพยาบาลในกองทุนอื่น อย่างสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม ที่เรียกเก็บไม่ได้มีเพียงแค่ร้อยละ 0.2 เท่านั้น ขณะที่ สปสช.เรียกเก็บไม่ได้ถึงร้อยละ 40
    ผอ.รพ.พระพุทธชินราชย้ำว่า ถ้า สปสช.ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหาร รพ.แย่แน่ และในปี 2555 นี้ รัฐบาลยังมีนโยบายค่าแรง 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ที่ รพ.ต้องปฏิบัติตาม แต่หากไม่มีงบประมาณจากรัฐมาอุดหนุนเพิ่ม สถานการณ์การเงินของ รพ.จะยิ่งเป็นปัญหาลงไปอีก เพราะบุคลากรใน รพ.มีจำนวนมากที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว จ้างด้วยเงินบำรุงของ รพ.เอง
    ขณะที่ผู้บริหาร รพ.อื่นๆ อาทิ นพ.ชูศักดิ์ เอื้อวิจิตรพนา ผอ.รพ.เพชรบูรณ์ และ นพ.ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ ผอ.รพ.เชียงคำ ต่างก็มีความเห็นสอดคล้องทำนองเดียวกันว่า กองทุนย่อยมีปัญหาเบิกจ่ายอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาเงินค้างท่อที่ สปสช.จำนวนมาก และตั้งคำถามว่าเงินค้างท่องนั้น สปสช.นำไปใช้ทำอะไร.

ไทยโพสต์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554