ผู้เขียน หัวข้อ: เลขา สปสช. ให้สัมภาษณ์-หลายเดือนก่อน  (อ่าน 1820 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
 เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ผู้นำคน ใหม่แล้ว หลังจากที่ได้สูญเสียเลขาธิการคนเก่าไป สำหรับท่านที่มารับตำแหน่งหน้าที่สำคัญในครั้งนี้ ท่านเป็นคนที่ร่วมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มาโดยตลอด เป็นผู้ที่ช่วยกันบุกเบิกในเรื่อง 30 บาท รักษาทุกโรค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีและเข้าถึงการเข้ารับ บริการให้มากที่สุด
        หลายคนคงจะรู้จักนายแพทย์ท่านนี้ดีอยู่แล้ว เนื่องจากท่านเป็นผู้มีบทบาทไม่น้อยในแวดวงสาธารณสุข และกองบรรณาธิการวารสารวงการแพทย์ก็ได้รับเกียรติจาก "นพ.วินัย สวัสดิวร" เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนใหม่ มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน รวมไปถึงแนวคิดต่าง ๆ ในการบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
        นพ.วินัย ได้เริ่มเล่าถึงการเข้ามาทำงานที่ สปสช. แห่งนี้ว่า "ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 เข้ามาทำงานในตำแหน่งรองเลขาธิการ มีหน้าที่หลัก ๆ ในการบริหารกองทุน งานของที่นี่มีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นงานในเรื่องของการที่จะมีส่วนร่วมกับ ภาคประชาชน หรือการขยายกองทุน เป็นต้น แต่ตัวผมเองนั้นมีหน้าที่หลักก็คือการคำนวณงบประมาณ อย่างการเหมาจ่ายรายหัวควรจะเป็นเท่าไร ได้เงินมาแล้วจะจัดสรรอย่างไร นั่นก็คือหน้าที่หลักที่ผมรับผิดชอบมาโดยตลอด ส่วนเรื่องอื่นก็จะเป็นเรื่องของการบริหารบุคคล ผมก็จะมีส่วนร่วมด้วยเพราะจะเป็นคณะกรรมการ การคัดเลือกคน การจัดหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการสำนักงาน และที่สำคัญคือ เป็นผู้ที่รับผิดชอบในการขยายสำนักงาน สาขาเขต เนื่องจากตอนที่เราเริ่มนั้นไม่มีเขต ขณะนี้เราก็มีอยู่ทั้งหมด 12 สาขา ผมก็มีส่วนในการวางโครงสร้าง ของเขตว่าควรจะเป็นอย่างไร ควรมีคนกี่คน และเขตจะทำหน้าที่อะไร ควรจะตั้งอยู่ที่ไหน จังหวัดใด งานพวกนี้ก็เป็นแบบคร่าว ๆ แต่ ก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่นี่ ผมทำงานอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการแพทย์ และเคยดำรงตำแหน่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์และยโสธร (สสจ.) เคยทำงานที่โรงพยาบาลจังหวัดและ โรงพยาบาลอำเภอ โดยภูมิหลังนั้นเรียกได้ว่าทำมาหมดแล้วที่เกี่ยวกับด้านสาธารณสุข และเข้าใจถึงระบบสาธารณสุขดี เพราะได้ทำมาทุกระดับ ก่อนที่จะได้รับหน้าที่ที่ สปสช."
        "มีหลายคนถามผมว่าอะไรที่ทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากงานราชการ ทั้งที่การเป็นข้าราชการมีความก้าวหน้าให้ผมอย่างแน่นอน ซึ่งท่านอธิบดีกรมการแพทย์ในสมัยนั้น ท่านเสรีก็ได้ถามผมว่าแน่ใจแล้วหรือที่จะลาออกและตัดสินใจแบบนั้น อย่างผมนี้ซี 10 คงไม่หนีไปไหนอย่างแน่นอน ท่านกล่าวอย่างนั้น เราก็ตอบไปว่าเรามั่นใจ สิ่งที่ผมตัดสินใจออกมาทำอาจจะเป็นเพราะท่านสงวนก็ว่าได้ ผมเชื่อมั่นในแนวคิดในเรื่องของความตั้งใจที่จะสร้างระบบขึ้นมา และอีกเหตุผลหนึ่งก็คงจะเป็นตอนที่ผมได้เป็น สสจ. ที่ จ.ยโสธร ตอนนั้นผมได้เข้าร่วม Health Care Reform ตอนนั้นได้ประสบการณ์ที่ว่าหากเราทำในเรื่องของการจัดระบบการจัดการงานแบบใหม่ที่เป็นแนวคิดปัจจุบันให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากพอ เราจัดการงบประมาณแบบนี้แล้ว จะทำให้หน่วยบริการรู้สึกถึงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของประชาชนที่เขาดูแล มากกว่า ย้อนกลับไปถึงตอนที่ท่านสงวนได้ชักชวนให้มาทำงานที่นี่ ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจเพราะว่าผมเชื่อว่าองค์กรนี้จะเป็นองค์กรที่มีบทบาท สำคัญในการพัฒนาระบบบริหารสาธารณสุขของประเทศไทย ผมต้องเรียนว่าในการตัดสินใจแบบนี้ในเรื่องของโอกาสความก้าวหน้านั้นจบไปเลย ผมไม่ได้คิดว่าท่านสงวนจะเสียชีวิตและไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น เราสูญเสียบุคลากรที่มีค่าของประเทศไปท่านหนึ่ง ในเรื่องของการก้าวหน้าในการทำงานของผม ขอบเขตของผมก็คงจะเป็นแค่รองเลขาธิการเท่านั้น ซึ่งมันต่างจากที่อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขที่จะสามารถไปได้อีกไกล ผมเชื่อว่าหากเรามองไป กว่าที่เราจะเป็นระดับซี 10 นั้นมันอยู่ที่การเมืองเป็นหลัก ผมไม่ถนัดในเรื่องนั้น ก็เลยคิดว่าหากอยู่ตรงนี้คงจะสบายใจกว่า ข้อดีอีกข้อที่ตัดสินใจมาคือพอได้มาทำงานแล้วผมก็จะสะสมประสบการณ์ ผมจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้เป็นอย่างดี เข้าใจในระบบการทำงานในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง 5 ปีที่ผมทำงานมา ผมก็จะเข้าใจกระบวนการในการคำนวณว่าจะเหมาจ่ายเท่าไร ทำการเจรจาต่อรองต่อไปกับสำนักงานว่าจะทำอย่างไร และจะทำการเจรจาอย่างไรทั้งภาคเอกชนและทางกระทรวงสาธารณสุข เพราะเราต้องทำทุก ๆ ปี"
        เมื่อถามถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ในการบริหารสำนักงานหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติ ว่าท่านมีแนวคิดอย่างไร นพ.วินัย กล่าวว่า "ต้องกล่าวก่อนว่าวิสัยทัศน์ของ สปสช. ตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้ว เราจะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้เข้าถึงด้วยความมั่นใจ ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการมีความสุขทั้งสองฝ่าย แต่ทีนี้คำว่า เข้าถึง หมายความว่าเวลาที่เจ็บป่วย หากมีหน่วยบริการใกล้ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริการปฐมภูมิหรือการบริการที่ดีเยี่ยม ในโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เราก็จะต้องมาจัดระบบให้มันดี ไม่ว่าจะเป็นคนภาคเหนือ ภาคอีสาน ทำอย่างไรให้มีการขยายหน่วยบริการ ทำอย่างไรจะให้มีแพทย์ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปอยู่ตรงนั้นได้ บางอย่างก็ไม่สามารถทำเองได้ ต้องเข้าไปร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจะช่วยประสานงาน ผลักดันให้หน่วยงานอื่นในการทำงาน โดยเฉพาะในเรื่องของคน ในส่วนของโรงเรียนแพทย์ แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข เราอยากที่จะมีส่วนร่วมในการที่ไปช่วยผลักดัน การเข้าถึงของประชาชน ทั้งหน่วยบริการและผู้ให้บริการ เรื่องของเครื่องมือ ยารักษา ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับงบประมาณ เราก็พยายามทำหน้าที่ในการที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเพียงพอกับความต้องการ ประชาชนจะมั่นใจในการเข้าถึงบริการได้ก็ต้องมีคุณภาพของการบริการเข้ามาด้วย เราก็ต้องกลับไปดูเรื่องของการกำกับดูแลคุณภาพของผู้ให้บริการด้วย หากทำสองอย่างนี้ได้ ประชาชนก็จะเข้าถึงระบบบริการด้วยความมั่นใจ หรือสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนด้วยความมั่นใจ ส่วนทางด้านผู้ให้บริการก็จะต้องมีความสุข ผมคิดว่าหากผู้ให้บริการไม่มีความสุขระบบก็จะไม่ยั่งยืน และหากผู้ให้บริการมีความสุขในการทำงาน ประชาชนก็จะเป็นผู้รับความสุขนั้นด้วย ในเรื่องที่จะทำให้แพทย์ พยาบาล หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่มีความสุข ก็จะต้องร่วมมือกัน ในเรื่องนี้ สปสช. ไม่สามารถทำคนเดียวได้ คงจะต้องร่วมมือกัน เรื่องแรกเป็นเรื่องของเงินที่ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เราก็จะต้องทำให้พอและต้องจ่ายให้ทางโรงพยาบาลรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน นั่นเป็นแนวคิดที่อยากจะทำ ไม่ใช่ว่าได้เงินมาก็มากองไว้ที่เราไม่ยอมแจกจ่ายไป เพราะฉะนั้นทางเราจะต้องจัดระบบจัดสรรเงินให้เกิดสภาพคล่องด้วย ในส่วนของโรงพยาบาลเอง หากดูเรื่องของงบประมาณในตอนเริ่มเราได้งบประมาณ 1,200 บาทต่อหัว แต่ตอนนี้เราได้ 2,100 บาทต่อหัว ซึ่งทุก ๆ 1 บาทเท่ากับ 46 ล้าน เราเพิ่มมา 900 บาทในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาเราเพิ่มงบประมาณถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาท หากถามว่าตรงนี้พอหรือไม่ ผมคิดว่าภาพรวมคงน่าจะพอ แต่ว่าการกระจายนั้นมันอาจจะไม่ได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด เพราะเมื่อเรามีเงินพอดี แต่เผอิญว่าแบ่งแล้วโรงพยาบาล นี้ได้มากหน่อย หรือบางโรงพยาบาลอาจจะได้น้อยหน่อย ทีนี้กระบวนการในการแบ่งเนื่องจากจะต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานเยอะหน่อย และมีปัจจัยที่แตกต่างของแต่ละโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลที่อยู่ในเมืองอาจจะมีรายได้จากอย่างอื่น มีข้าราชการประกันสังคมมากกว่า แต่โรงพยาบาลที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะมีรายได้จากพวกข้าราชการ ประกันสังคมน้อยกว่า เหล่านี้เป็นรายละเอียดที่จะต้องค่อย ๆ ทำให้ไฟล์จูนให้เหมาะ เมื่อเราทำไปเรื่อย ๆ แล้วเข้มแข็ง สามารถที่จะดูได้ว่าในพื้นที่ของโรงพยาบาลไหนที่มีปัญหา โรงพยาบาลไหนที่ได้เยอะไป เพราะฉะนั้นมันเป็นรายละเอียดที่ผมจะต้องทำให้มันไฟล์จูนให้ได้ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ระบบงบประมาณของ โรงพยาบาลทุกแห่งมันไม่ติดขัด แต่ในส่วนของผมนั้นไม่ค่อยจะวิตกกังวลเรื่องของงบประมาณมากนัก ผมเชื่อว่าอนาคตของวงการสาธารณสุขหรือการบริการสาธารณสุขจะเป็นวิกฤตที่คน มากกว่าเรื่องเงิน เพราะคนจะเป็นปัญหาหัวใจหลัก ปัจจุบันนี้เนื่องจาก Medical Hub มันรุ่งเรือง ลองนึกภาพว่าแพทย์ที่มีความสามารถไปอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนกันหมด เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนสูง ซึ่งอาจจะดึงมาจากโรงเรียนแพทย์ หรือดึงมาจากหัวเมืองใหญ่ และต่อจากนั้นจะมีแพทย์ที่ไหนไปอยู่ชนบท ที่สำคัญคือว่าระบบของเรานั้นเรารู้แน่นอนว่าจะต้องมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น คนเข้าถึงบริการได้ดีขึ้น ที่นี่ทำงานมากขึ้นแต่ว่าบุคลากรผู้ให้บริการอาจจะไม่พอและลดน้อยถอยลงไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาใหญ่ไม่ใช่แค่ปัญหาเล็ก ๆ แต่เป็นปัญหาระดับชาติ เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤตเลยก็ว่าได้ แต่เรื่องเหล่านี้มันแก้ไขได้ยาก ก็จะต้องใช้หน่วยงานหลายแห่ง เพราะ สปสช. เองก็ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง พอพูดเรื่องคนต้องดูแล้วว่าจะเพิ่มการผลิตได้อย่างไร อย่างไรก็ต้องใช้คน เมื่อผลิตแล้วและส่งไปอยู่จะให้เขาสามารถอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร ระบบการจ่ายค่าตอบแทนจะเป็นอย่างไร ความก้าวหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร รายได้จะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบให้คนอยู่ในภาครัฐ มันไม่ง่าย ไหนจะมีแรงดูดจากภาคเอกชนอีก วิสัยทัศน์ภาครวมก็คือ 1. ให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้วยความทั่วถึงและด้วยความมั่นใจ 2. ผู้ให้บริการต้องมีความสุขในการทำงาน ผู้ให้บริการอาจจะไม่มีความสุขใน เรื่องของภาระงานและจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่จะต้องช่วยกันแก้ไขให้ได้ วิงวอนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่เช่นนั้นระบบบริการสาธารณสุขของเราจะเกิด วิกฤตอย่างแน่นอน"
        "ในเรื่องของเป้าหมายในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. ภายใน 4 ปีนี้ ผมเปรียบการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประชาชนเหมือนกับเรากำลังจะไปออกรบ เราต้องจัดทัพของเราให้ดี จัดแม่ทัพนายกอง จัดขบวนทัพ พัฒนาคนของเราให้เป็นนักรบ หรือใช้คำว่าพัฒนาให้เป็นมืออาชีพ และองค์กรของเราจะต้องเป็นองค์กรที่ High Performance จริง ๆ แล้วมีเรื่องมากมายที่จะทำ แต่หลัก ๆ แล้วอยากให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาสาธารณสุขนั้นมีมากมาย อย่างเรื่องโรคไตที่เรารับมาอยู่ในความดูแล ก็ต้องไปพัฒนาตรงนั้นให้ดี หากถามว่าจะทำอะไรให้สำเร็จ ผมมองในเรื่องของการผลิต เรื่องของระบบบริการสาธารณสุข ผมอยากจะพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่เรียกว่า "ใกล้บ้านใกล้ใจ" ให้เห็นเป็นรูปธรรมให้ชัดเจน เพราะจุดนั้นเป็นจุดที่ผมคิดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ผมจินตนาการว่าหากเราสร้างหน่วยบริการที่ทำให้ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดกับ ผู้ให้บริการ แพทย์เคยไปเยี่ยมบ้าน รู้จักทุกคนในครอบครัว ผู้ป่วยหนึ่งคนมีที่ปรึกษา เข้ามาที่โรงพยาบาลแล้วรู้สึกอบอุ่นใกล้ชิดเหมือนมาหาญาติ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาระบบใกล้บ้านใกล้ใจ หน่วยบริการนั้นไม่ต้องใหญ่ มีพยาบาล 2-3 คน มีแพทย์ครอบคลุมคนในละแวกนั้นประมาณ 5,000-10,000 คนเท่านั้น หากพัฒนาระบบนี้ให้ดีเราจะเห็นภาพของการที่ประชาชนจะเข้าถึงบริการได้ง่าย เราสามารถจัดระบบส่งต่อตรงนั้นไปให้หน่วยที่มีบริการที่มากกว่า เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างทุกอย่างให้พร้อมในอำเภอใดอำเภอหนึ่ง ผมเน้นย้ำเสมอว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการ"
        เมื่อถามถึงเรื่องของงานที่จะสานต่อจาก นพ.สงวน นพ.วินัย กล่าวว่า "ประเด็นที่ท่านเลขาธิการคนก่อนได้สอนไว้ก็คือในเรื่องของการทำมิตรภาพบำบัด ท่านกล่าวเสมอว่าต้องการที่จะส่งเสริมในด้านจิตอาสา โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง อย่างโรคมะเร็งจะต้องเผชิญความทุกข์อย่างมีความอบอุ่น เป็นในรูปแบบของเพื่อนช่วยเพื่อน เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง คนที่เป็นโรคเหล่านี้น่าจะมีโอกาสได้มีเพื่อน ให้กำลังใจกัน ได้พูดคุยกัน ให้ความทุกข์นั้นมันคลายลงได้ ในโครงการมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความสุขได้ ทางเราก็จะไปร่วมกับมูลนิธิของท่านเลขาธิการที่ได้ตั้งขึ้นเพื่อจะช่วยให้ โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มีกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้"
        ต่อข้อซักถามว่าในมุมมองของท่านนั้น ขณะนี้ สปสช.เป็นอย่างไร นพ.วินัย กล่าวอีกว่า "ผมมองว่า สปสช. เป็นองค์กรที่มีทีมที่เข้มแข็ง มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถเยอะ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการที่ดี โดยรวมถือว่าเป็นองค์กรที่ดี เราได้รับการประเมินในทางที่ดี แต่มันก็มีเรื่องที่จะต้องไฟล์จูน เช่น การพัฒนาระบบการตัดสินใจของส่วนนำที่จะต้องรอบคอบ รวดเร็ว โดยที่มีความเป็นเอกภาพ เพื่อที่จะได้นำพาองค์กรให้ไปได้ดี ถูกทาง และจะต้องเข้าใจในทิศทางเดียวกัน เจ้าหน้าที่หรือระบบที่เราวางไว้มันดูลงตัวแต่มีอีกหลายเรื่องที่จะต้อง พัฒนา เช่น ข้อมูลจาก โรงพยาบาลต่าง ๆ ข้อมูลจากรายบุคคล หากมีข้อมูลเยอะมันก็จะสามารถคาดการณ์อะไรได้ดี เหมือนกับรู้เขารู้เรา เรารู้ว่าปัญหาคืออะไร แนวโน้มจะเป็นอย่างไร เรารู้ว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร หากเราวางแผนได้ดีทุกอย่างก็ดีตามมา เพราะมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี ดังนั้น ในเรื่องของความผิดพลาดก็น่าจะน้อยลง"
        เมื่อถามถึงปัญหาในเรื่องของ CL นพ.วินัย ได้ให้คำตอบว่า "ในเรื่องของ CL นั้น ต้องบอกก่อนว่า ภารกิจของผมคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ยานั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงบริการ ในเมื่อภารกิจของเราต้องพยายามทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ เราก็จะต้องมาคิดให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงยา การจะใช้มาตรการเจรจาต่อรอง การจัดการการต่อรองในส่วนกลางเพื่อให้มีพลังในการเจรจาต่อรองนั้นมีมากขึ้น คือบางอย่างอาจจำเป็นต้องซื้อ หรือให้องค์การเภสัชกรรมมาช่วยในการจัดการเรื่องของยาที่มีราคาแพง หรือแม้กระทั่ง CL ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ แต่เราก็ไม่คิดว่าจะมีความจำเป็นต้องทำ หากเราเจรจาต่อรอง แต่อย่างไรก็ตาม เรื่อง CL เป็นเรื่องที่ใหญ่เกินไปสำหรับ สปสช. เราอาจจะเป็นคนทำข้อมูลว่า ผู้ป่วยที่เราดูแลมีผู้ป่วยประเภทใดที่ยังต้องการยาที่มีราคาแพง และยานั้นยังอยู่ในสิทธิบัตรหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นในขั้นแรกเราอาจจะรวมกันเจรจากับทางบริษัทยาว่า เรามีผู้ป่วยอยู่ 10,000 คน ยาของคุณที่เราต้องการใช้มีเท่านี้ ทางคุณเคยขาย 100 บาท หากรวมกันซื้อโดยไม่ต้องไปทำการตลาด ขอลดเหลือ 10 บาทได้หรือไม่ เมื่อถึงตอนนั้นการเจรจาทุกอย่างตกลง เราก็จัดระบบ หากทางเขามั่นใจว่ามีการซื้อจริงก็ไม่จำเป็นต้องมาเดินขายซื้อบ้างไม่ซื้อ บ้าง เขาอาจจะมีการลดราคาให้ได้ หลักการก็คือว่า สปสช. มีหน้าที่ในการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ และยาก็เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงบริการ นั่นคือหน้าที่และภารกิจหลักของ สปสช."
        ต่อข้อซักถามในเรื่องของการลดเบี้ยการประชุมของทาง สปสช. ที่รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขประกาศว่าควรจะลดลง นพ.วินัย เสนอความคิดเห็นว่า "เรื่องที่ รมว.สาธารณสุขได้ให้ข่าวว่าจะลดเบี้ยการประชุมของทาง สปสช. จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับผมสักเท่าไร เนื่องจากผมไม่ได้เบี้ยประชุม ผมเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการ ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการ ในกฎหมายเขียนชัดเจนว่าผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ไม่มีสิทธิโหวต ไม่มีสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้นในกรรมการ เป็นเพียงเลขานุการในคณะกรรมการและไม่ได้รับเบี้ยการประชุมตรงนั้น ในส่วนของเบี้ยประชุมนั้นท่านรัฐมนตรีมีอำนาจตามมาตรา 23 ของ พ.ร.บ. ในการกำหนดเบี้ยประชุม ในส่วนของเบี้ยประชุมมีระเบียบในส่วนของกระทรวงการคลัง กรรมการที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานและกรรมการที่ลงท้ายด้วยแห่งชาติ อัตราจะอยู่ที่เท่าไรมันก็จะมี Rate ของมัน และหากลงท้ายด้วยแห่งชาติต้องทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องเงินด้วย มีความเสี่ยงอาจจะต้องรับผิดชอบทางแพ่ง ก็จะมีอัตราของมัน เพราะฉะนั้นใน พ.ร.บ.มาตรา 23 ได้บอกไว้ว่ารัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดเบี้ยประชุมให้แก่คณะกรรมการและอนุกรรมการ ที่เกี่ยวข้อง ผมมีหน้าที่เพียงแต่ให้ข้อมูล หากท่านต้องการข้อมูล และท่านจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง"
        นพ.วินัย กล่าวปิดท้ายว่า "ผมทราบดีว่าผู้ให้บริการทุกคนเหนื่อยกับการทำงาน ท้อแท้ และน่าเห็นใจเป็นอย่างมาก บางครั้งเหมือนกับว่า สปสช. ได้หน้า แต่เมื่อบริการมีปัญหาก็มาต่อว่าโรงพยาบาล สปสช. ไม่ต้องมารับรู้ ไม่ต้องมาเกี่ยวข้อง แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เราทำคนละหน้าที่กัน มีบทบาทที่ต่างกัน และเราพยายามที่จะช่วยในเรื่องของมาตรา 41 หน้าที่ของเราก็คือหางบประมาณและจัดงบประมาณช่วยเสริมในสิ่งที่จะช่วยเสริมได้ และพยายามที่จะจัดในส่วนของการสมานฉันท์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ผมเข้าใจดีถึงความยากลำบากในการทำงาน มองภาพและเป็นห่วงถึงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่ากำลังคนของเรากำลังจะไม่พอ หากระบบยังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะไม่มีใครมาอยู่ทำงาน รัฐบาลต้องลงมาแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงสาธารณสุข แต่มันกลายเป็นปัญหาระดับประเทศไปแล้ว สุขภาพที่ดีของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพราะฉะนั้นหากจะให้ผู้รับบริการมีความสุข ผมก็จะต้องมีเงินงบประมาณพอและการกระจายเป็นไปอย่างรวดเร็ว"