ผู้เขียน หัวข้อ: ผุดแผนพัฒนาวินิจฉัยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากมะเร็ง  (อ่าน 1209 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เครือข่ายแพทย์ผุดแผนพัฒนาขีดความสามารถหมอวินิจฉัยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดต้นเหตุจากแร่ใยหิน เน้นคัดกรอง-ส่งต่อเป็นระบบ เหตุแพทย์ไทยยังขาดความเชี่ยวชาญ เผย 26 ก.ย.นี้ พร้อมยื่นหนังสือหนุน รมว.อุตสาหกรรม ออกประกาศกระทรวงห้ามนำเข้า-จำหน่าย
       
       ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ในฐานะฝ่ายวิชาการ สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาคมการพยาบาลอาชีวอนามัยแห่งประเทศไทย และสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ในนามสมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมด้วยเครือข่ายแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กว่า 1,000 คน ได้รณรงค์การทำให้สังคมไทยปลอดภัยจากแร่ใยหินไครโซไทล์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554 เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการควบคุมแร่ใยหินไครโซไทล์ โดยกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ทางสมาพันธ์จึงจะยื่นหนังสือติดตามความก้าวหน้าการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินต่อรัฐบาลปัจจุบัน โดยจะยื่นให้กับ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.พร้อมทั้งจะส่งมอบเอกสารข้อมูลทางวิชาการประกอบการพิจารณาการออกประกาศกระทรวง ให้มีการห้ามผลิต นำเข้าแร่ใยหินในประเทศไทย หาก รมว.อุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายดังกล่าว จะช่วยปกป้องผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรม และผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการป่วยด้วยโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน โดยเฉพาะมะเร็งเยื่อหุ้มปอด
       
       ศ.ดร.นพ.พรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีระบบคัดกรองผู้ใช้แรงงานสัมผัสแร่ใยหินที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นทางสมาพันธ์ จึงจัดทำแผนพัฒนาระบบนี้ขึ้น เพื่อให้สังคมไทยปลอดภัยจากแร่ใยหินไครโซไทล์ ดังนี้ 1.กระตุ้นให้ประชาชน ผู้ประกอบการในสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหิน 2.พัฒนาระบบการตรวจคัดกรอง โดยเพิ่มขีดความสามารถของแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหิน โดยเฉพาะมะเร็งเยื่อหุ้มปอด
       
       3.จัดอบรมให้ความรู้แพทย์เกี่ยวกับโรคที่เกิดจาการสัมผัสแร่ใยหิน รวมถึงการส่งแพทย์ไปศึกษาต่อเรื่องความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรค 4.พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย โดยประสานการทำงานกับสำนักโรคติดต่อในเขตพื้นที่ต่างๆ และ 5.จัดทำมาตรฐานการรื้อถอนอาคาร สิ่งก่อสร้างที่มีวัสดุซึ่งมีแร่ใยหินเป็นส่วนผสม ต้องมีระบบการป้องกันแรงงานผู้รื้อถอน โดยสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐาน และปิดกั้นไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งปลิวไปภายนอก ตามมาตรฐานการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเหมือนในต่างประเทศ
       
       “ประเทศไทยการนำแร่เข้าใยหินไครโซไทล์ ซึ่งนำมาใช้ใน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องยาง ท่อน้ำ และผ้าเบรก ที่สำคัญ เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมได้มีการขับเคลื่อนให้ความรู้ถึงอันตรายจากแร่ใยหิน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมบางรายได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว และหาสารอื่นที่ใช้ทดแทนได้โดยราคาไม่แตกต่างกัน จึงควรยุติการใช้แร่ใยหินได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ไทยพบผู้ป่วยน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะบุคลากรทางการแพทย์ยังขาดความเข้าใจในการวินิจฉัย และส่งต่อมายังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันโรคทรวงอก โดยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยาจากประเทศญี่ปุ่น มาบรรยายพิเศษให้ความรู้แก่แพทย์ไทย ซึ่งพบปัญหาสำคัญคือ ไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา จึงควรเพิ่มความตระหนักให้แพทย์ที่ตรวจคัดกรองผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการที่ผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ให้หันมาสนใจการตรวจสุขภาพลูกจ้างและวิเคราะห์หาผู้ที่ต้องสงสัย และควรส่งต่อผู้ป่วยมาตรวจวินิจฉัยโรคอย่างเป็นระบบ” ศ.ดร.นพ.พรชัย กล่าว
       
       อนึ่งจากข้อมูลการนำเข้าแร่ใยหินไคร์โซไทล์ ของ กรมศุลกากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550-2553 พบว่า มีการนำเข้าประมาณ ปีละ 50,000 ตันต่อปี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 กันยายน 2554