ผู้เขียน หัวข้อ: ระบบการแพทย์ของคิวบา -(มีหมอบางคนอ้างว่าไป(เที่ยว)ดูงานมา)  (อ่าน 1939 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
จาก
"Old-fashioned Doctering Keeps Cubans Healthy" โดย Sarah Lunday


กรุงฮาวานา - ในออฟฟิซของนายแพทย์ อเล็ก คาเรราซ ใกล้ใจกลางกรุงฮาวาน่า มีน้ำ้ซึมหยดลงมาจากเพดาน บานกระจกหายไปจากหน้าต่าง เครื่องอบฆ่าเชื้อโรคที่พังไปนานแล้วนอนสงบนิ่งไม่ติงไหว โทรศัพท์กรีดกริ่งไม่ยอมหยุดพัก ขณะที่ คุณหมอคาเรราซตอบครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าพยาบาลคนเดียวของคลีนิค ลาพักเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์

นายแพทย์คาเรราซ และพยาบาล รับผิดชอบรักษาสุขภาพให้ ๑๒๐ ครอบครัวในละแวกใกล้เคียงกับคลีนิค การอยู่ร่วมกับชุมชนที่ให้การรักษาพยาบาล เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนไข้ คุณหมอคาเรราซเล่าว่า คนไข้คนหนึ่งบอกว่า หยุดสูบบุหรี่ตามที่หมอสั่งแล้ว แต่เมื่อคุณหมอแวะไปที่บ้านโดยไม่บอกล่วงหน้า "ผมยังเห็นก้นบุหรี่เต็มถาดอยู่เลย" ว่าพลางคุณหมอก็ยักไหล่ไปด้วย

นายแพทย์คาเรราซ มีเพียงผังคนป่วยที่เขียนด้วยมือ เพื่อบันทึกข้อมูลและความต้องการของคนไข้ เช่น คนนั้นมีระดับคอเลสเตอรอลสูง คนนี้เป็นเบาหวาน หรือใครมีโรคติดสุราเรื้อรัง "แค่นี้คุณก็มีข้อมูลเพียงพอแล้ว ก็รู้ได้ทุกอย่าง" คุณหมอกล่าว

แม้ว่า แพทย์ชาวคิวบา จะไม่อาจรู้สภาพผู้ป่วยได้หมดสิ้น แต่เมื่อเทียบกับแพทย์ในประเทศอื่นแล้วก็ยังกินขาด โดยเฉพาะแพทย์ในประเทศเพื่อนบ้านเศรษฐี คือ สหรัฐอเมริกา การที่นายแพทย์ไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนที่ตนทำการรักษา ช่วยให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหว และรู้จักคนไข้ในสังกัดได้เป็นอย่างดี เป็นแบบอย่างที่ประเทศยากจนหรือแม้แต่บางท้องที่ในสหรัฐเอง ควรนำไปศึกษา

ระบบสาธารณสุขของคิวบานั้น มีองค์ประกอบหลักคือ เครือข่ายแน่นหนาของแพทย์ประจำบ้าน(family doctor ไม่ใช่ resident) ที่กระจัดกระจายไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้าน ไม่ว่าจะในชนบทหรือในเมือง แพทย์ประจำบ้านชาวคิวบาจึงคุ้นเคยกับชุมชนเป็นอย่างดี และมีประชากรในความดูแลไม่เกิน ๕๐๐ คน เมื่อเทียบกับแม้ประเทศอย่างสหรัฐแล้ว หมออเมริกันมีคนไข้ในความดูแลมากกว่าหลายต่อหลายเท่านัก ถ้าคนไข้ต้องการการรักษาที่สลับซับซ้อนเกินกำลัง หมอประจำบ้านเหล่านี้ ก็จะส่งไปให้โรงพยาบาลประจำชุมชนนั้นๆ

แต่ระบบของคิวบาก็มีจุดอ่อนไม่น้อย โดยเฉพาะ ความขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์และยา หากป่วยหนักต้องไปโรงพยาบาลก็ต้องรอกันนานๆ แต่ความต้องการทางแพทย์ขั้นพื้นฐานของประชากร ๑๑.๒ ล้านคนในประเทศคิวบา ก็ได้รับการตอบสนองอย่างสมบูรณ์ ไม่มีใครขาดการดูแลรักษา ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาเอง ยังมีประชากรคนยากจนอีกถึง ๔๐ ล้านคน ที่ต้องใช้ชีวิตโดยขาดการเหลียวแลทางการแพทย์ เพราะว่าไม่มีประกันสุขภาพ

"ประชากรทุกคน อย่างน้อยๆก็ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ทุกคนอยู่ในระบบสาธารณสุข ชาวคิวบาเน้นด้านการป้องกันโรคก่อนที่มันจะเกิดได้ดีมากๆกว่าในหลายๆประเทศ" เป็นความเห็นของ นายแพทย์ สตีเฟน เอ เชนเดล หัวหน้าฝ่ายศัลยกรรมตกแต่ง แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งได้เดินทางไปอาสาสมัครให้การผ่าตัดให้เด็กๆชาวคิวบา (เช่น ซ่อมอาการ ปากแหว่ง เพดานโหว่) และช่วยฝึกอบรมแพทย์ชาวคิวบา ในด้านเทคโนโลยี่การผ่าตัดใหม่ๆ มา ๕ ปีแล้ว

แพทย์ชาวคิวบาหลายๆท่าน เช่น คุณหมอคาเรราซกล่าวว่า ประเทศของเขาขาดปัจจัยเรื่องอุุปกรณ์และเทคโนโลยี่สมัยใหม่ก็จริงอยู่ แต่ก็อุดช่องโหว่นั้น ด้วยความเอาใจใส่คนไข้อย่างทั่วถึง ของแพทย์ประจำบ้านที่เข้าถึงประชาชนจริงๆและที่มีจำนวนมาก เฉลี่ยแล้ว ในประชากร ๑๐,๐๐๐ คน จะมีแพทย์ประจำบ้าน ๕๘.๒ คน เทียบกับสหรัฐที่มีแพทย์เพียง ๒๗.๙ คนต่อประชากรจำนวนเท่ากัน ตามสถิติของ Pan American Health Organization

บ๊อบ ชว้อร์ทซ์ ผู้อำนวยการ Disarm Education Fund ซึ่งเป็นกองทุนให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์อนามัยอาสาสมัคร ตั้งอยู่ในนิวยอร์ค ให้ข้อสังเกตว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างหมอกับคนไข้ที่ได้รับการดูแล ช่วยตัดปัญหาที่จะเกิดโรคร้ายแรงตามมาในภายหลังได้มาก เช่น ลดอัตราการสูบบุหรี่ ทารกเกิดมาแข็งแรงสุขภาพดี ช่วยให้ประชากรมีคุณภาพสูง แม้ว่าคิวบาจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ระบบสาธารณสุขอนามัย ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าที่มีในประเทศเศรษฐีเสียอีก เช่น อายุเฉลี่ยของประชากรอเมริกันเท่ากับ ๗๗ ปี ในขณะที่ของชาวคิวบาเท่ากัน ๗๖ ปี อัตราตายของเด็กแรกเกิด ๖.๔ ต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน ในขณะที่ของอเมริกา มีถึง ๗.๓ ต่อประชากรพันคน และอัตราของเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนของทั้งสองประเทศก็มีพอๆกัน คือ ๙๕ เปอร์เซ็นต์

ระบบอนามัยของคิวบาเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ ฟิเดล คาสโตร ได้เริ่มอย่างเอาจริงเอาจังมาตั้งแต่ยึดครองประเทศได้ ในปี คษ ศ ๑๙๕๙ ทุกวันนี้ ระบบสาธารณสุขของคิวบาก็เป็นแบบอย่างให้ศึกษานานาชาติ โดยเฉพาะการอนามัยในชนบท ชุมชนยากจนในเหล่าประเทศละตินอเมริกา ตลอดจนในอัฟริกา ได้อิทธิพลจากแบบอย่างของคิวบา จากการสรุปของศูนย์ศึกษาคิวบาในนิวยอร์ค ประเทศคิวบาส่งแพทย์นับพันๆคนไปทำงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศเหล่านี้ และให้การรักษาพยาบาลฟรี เช่นในประเทศ นิคะรากัว เอล ซัลวาดอร์ ฮินดูรัส และ ประเทศอัฟริกาใต้

ในทศวรรษที่ ๑๙๘๐ ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในชนบทของอเมริกา สำหรับชนพื้นเมืองชาวอินเดียน ก็ได้รับอิทธิพลแบบอย่างจากคิวบา มารีโอ กุเทียเรซ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยในชนบทแห่งรัฐคาลิฟอร์เนีย อยู่ห้าปี (ขณะนี้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปทำงานสาธารณสุขระดับรัฐแล้ว) ให้ข้อสังเกต สำนักงานอนามัยในชนบทของอเมริกา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลท้องถิ่น มีลักษณะคล้ายศูนย์กลางของชุมชนมากกว่าที่จะเป็นโรงพยาบาล โดยทางศูนย์ตั้งตัวแทนสาธารณสุขให้ไปรับใช้ประชากรโดยใกล้ชิด เช่น ขับรถพาไปส่งหมอ แวะไปเยี่ยมดูแลที่บ้านหลังการผ่าตัด และกำชับดูแลให้เด็กๆได้รับการฉีดวัคซีนตามเวลา

แพทย์หญิง เดบรา จอห์สัน แพทย์ศัลยกรรมตกแต่งอีกผู้หนึ่ง ซึ่งได้อาสาสมัครไปช่วยเด็กคิวบามาสามปีแล้วกล่าวว่า "ระบบของเค้าก็เป็นคล้ายๆการแพทย์แบบหยิบฉวยเอาของใกล้ตัวมารักษา ชาวคิวบามีความสามารถเป็นเยี่ยม ในการประดิษฐ์สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา จากความไม่มีอะไรเลย"

แพทย์ชาวคิวบาอีกท่านหนึ่ง คือ นายแพทย์ เฮนรี วาซเควซ อายุ ๒๗ ปี ดูแลชาวบ้านในความรับผิดชอบประมาณ ๔๘๐ คน อยู่ที่หมู่บ้านเชิงเขาที่เรียกว่า Boquerones เขาไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเอ๊กซเรย์ บางครั้งยังต้องทำยาสมุนไพรใช้เอง จากสวนผักที่ปลูกสมุนไพรใกล้ๆบ้านด้วยซ้ำ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หารถหาราไม่ได้ ก็พาคนไข้ขี่ฬ่่อไปโรงพยาบาลที่อยู่ไกลออกจากหมู่บ้านไป ๔ ไมล์ เมื่อคุณหมอวาซเควซเดินผ่านหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ผ่านบ้านห้องแถวหลังคาสังกะสี ต้นมะม่วง และฝูงไก่จิกหาอาหารบนลานดิน เด็กหนุ่มๆก็หยุดทักทาย แม่บ้านโบกมือไหวๆในประตูบ้าน เขาก็หยุดตบหลังชาวบ้านเบาๆเป็นการทักทาย แล้วไต่ถามทุกข์สุขความเจ็บไข้ได้ป่วยที่เคยมี หรืออาจมี

คุณหมอวาซเควซสามารถร่ายสถิติเกี่ยวกับคนไข้ได้อย่างขึ้นใจ - มีคนไข้ ๔๕ คนที่อายูเกิน ๖๐ อีก ๘ คนอ่อนกว่าหนึ่งขวบ ในหมู่บ้านนี้มีเด็กเกิดปีละประมาณ ๒๐ คน และไม่มีคนไข้โรคเอดส์หรือที่ติดเชื้อ HIV คุณหมอบอกว่า เขาชอบให้การดูแลแบบปฐมรักษาแบบนี้ คิดว่าไม่ว่าจะมีเหตุฉุกเฉินเพียงไร ก็จะสามารถรับมือได้ในคลีนิคในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ แต่อีกสักสองสามปี ก็อยากหาประสบการณ์ด้านอื่นบ้างที่มันตื่นเต้น เช่น ไปทำงานในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลในเมืองบ้าง "ถ้าผมเลือกที่ยะย้ายไป ผมก็ยังรู้สึกว่า ได้ทำอะไรๆที่มีประโยชน์ต่อชุมชนแห่งนี้ไว้แล้ว" คุณหมอสรุป