ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.แนะคนใจดีบริจาคไข่ต้ม-ไข่เค็ม-กล้วยน้ำว้า ช่วยผู้ประสบน้ำท่วม  (อ่าน 1423 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สธ.แนะผู้ใจบุญที่ต้องการส่งอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้เลือกอาหารกระป๋อง อาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารกล่องที่เก็บได้นาน บูดเสียช้า เช่น ไข่ต้ม อาหารที่ไม่มีกะทิ อาหารแห้ง เพื่อลดความเสี่ยงผู้ประสบภัยทุกข์ซ้ำเติมจากโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ ย้ำหากมีเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรังป่วย ให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือแจ้ง อสม.ที่อยู่ใกล้
       
       นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงเรื่องอาหารบริจาคผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารกระป๋อง อาหารปรุงสำเร็จหรืออาหารกล่อง อาจเสี่ยงโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงในช่วงน้ำท่วม ในการลดความเสี่ยงผู้ประสบภัย หากเป็นไปได้ควรประกอบอาหารแจกจ่ายประชาชนที่จุดอพยพน้ำท่วมจะดีที่สุด เพราะจะได้รับประทานอาหารที่ร้อน สุกใหม่ ส่วนอาหารที่ปรุงสำเร็จรูปหรือข้าวกล่องควรปรุงใหม่ๆ และแยกกับข้าวใส่ถุงพลาสติกไว้ต่างหาก และให้หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงจากกะทิเพราะจะบูดเสียง่าย
   
       นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า เมนูอาหารที่เหมาะในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะต้องไม่บูดง่าย เช่น ไข่ต้ม ไข่เค็ม น้ำพริกต่างๆ กุนเชียงทอด หมูทอด หมูแผ่น หรือเป็นข้าวเหนียวนึ่งธรรมดา ข้าวหลามที่ไม่ใส่กะทิ ขนมปังกรอบจะเก็บไว้ได้หลายวัน ขอให้หลีกเลี่ยงการบริจาคขนมปังปอนด์เพราะมีอายุสั้นประมาณ 5-7 วัน และขึ้นราง่าย ผู้ประสบภัยบางราย โดยเฉพาะเด็กอาจไม่สังเกต หรือฉีกเฉพาะส่วนที่ขึ้นราทิ้ง กินส่วนที่ยังไม่ขึ้นรา ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจแจกผลไม้ให้ผู้ประสบภัยเสริมด้วย เช่นกล้วยน้ำว้า ส้ม ฝรั่ง ชมพู่ และแจกนมกล่องยูเอชทีให้เด็ก จะช่วยให้ผู้ประสบภัยได้รับสารอาหาร วิตามินครบถ้วนยิ่งขึ้น ช่วยเสริมภูมิต้านทานโรค ไม่ป่วยง่าย
       
       สำหรับผู้ประสบภัย ควรรับอาหารกล่องให้พอดีเฉพาะคนในครอบครัว ไม่ควรเก็บไว้มากๆเผื่อมื้ออื่น หรือเผื่อคนอื่นๆ เพราะอาหารกล่องอาจจะบูดเสีย ไม่ควรเก็บนานเกิน 4-6 ชั่วโมง ส่วนอาหารกระป๋องขอให้ดูวันหมดอายุ กระป๋องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบหรือบวมพอง หลังเปิดกระป๋องให้สังเกตลักษณะของอาหารก่อนรับประทานทุกครั้ง
       
       ทั้งนี้ ครอบครัวที่มีเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ขอให้ดูแลให้คนกลุ่มนี้ให้ได้รับประทานอาหารก่อน เนื่องจากสภาพน้ำท่วมอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้ร่างกายที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าคนทั่วไป อ่อนแอลงไปอีก อาจเจ็บป่วยง่าย และหากพบว่ามีอาการไข้ ท้องเสีย หรืออาการผิดปกติต่างๆ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์หรือแจ้ง อสม.ที่อยู่ใกล้ที่สุด


ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 กันยายน 2554