ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุเปลี่ยนขั้ว ... บอร์ด สปสช.  (อ่าน 1181 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
เหตุเปลี่ยนขั้ว ... บอร์ด สปสช.
« เมื่อ: 22 กันยายน 2011, 22:23:01 »
เป็นที่น่าจับตา สำหรับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ชุดใหม่นี้

จากรายชื่อบอร์ดสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เกิดการพลิกโผอย่างแรงจากการโหวตลงคะแนน จนเกือบเปลี่ยนขั้วการบริหาร และยิ่งน่าจับตา เมื่อรายชื่อบอร์ดใหม่นี้ กลับยังไม่ถูกเสนอเข้า ครม. เพื่อรับรองในวันอังคารที่ผ่านมา 

 เป็นที่รู้กันดีว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มต้นจากกลุ่มแพทย์ที่ร่วมกันปฏิรูประบบรักษาพยาบาลประเทศ แยกอำนาจการบริหารจัดการออกจากกระทรวงสาธารณสุข ตั้ง สปสช.ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อบริการ กุมงบประมาณรักษาพยาบาลนับแสนล้าน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลโรงพยาบาล ถูกกำหนดเป็นผู้ขายบริการ รอคอยการจัดสรรเงิน

 ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี สปสช.ถูกบริหารด้วยแพทย์กลุ่มที่เริ่มต้นแนวคิดปฏิรูปนี้ และกลุ่มเอ็นจีโอที่เห็นด้วยในหลักการ แม้ว่าจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง แต่ก็อยู่ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การผูกขาดอำนาจที่โยงไปถึงหน่วยงานตระกูล ส. แม้แต่ฝ่ายการเมืองยังไม่สามารถเข้ากำกับได้ รวมถึงการโยนภาระขาดทุนให้โรงพยาบาลแบกรับ

 ที่ผ่านมาแพทย์บางส่วนจึงรวมตัว ภายใต้ชื่อ สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนวิธีจัดสรรงบประมาณ และอำนาจการผู้ขาดบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 เป็นแนวทางเดียวกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องการให้โอนงบประมาณทั้งก้อนไปยังเขตเพื่อบริหารกันเอง จะได้จัดสรรงบประมาณโรงพยาบาลอย่างเหมาะสม จากเดิม สปสช.เป็นผู้โอนงบเหมาจ่ายรายหัวไปยังโรงพยาบาลโดยตรง ทั้งยังเสนอให้มีการแยกบัญชีเงินเดือนออกจากงบประมาณรักษาพยาบาล

 ขณะเดียวกันทางฝั่งแพทยสภายังคอยหนุนการเคลื่อนไหวของ สพศท. มีจุดยืนที่เห็นพ้องกัน ทั้งการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข การผลักดันขยายมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณ และเดินหน้าการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล

 ส่วนฝ่ายการเมืองเอง แน่นอนย่อมต้องการเข้ามีส่วนบริหารกองทุน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศชัด ว่าจะนำนโยบายจัดเก็บ 30 บาทกลับมา หากชนะการเลือกตั้ง แต่มีเสียงค้านจากนักวิชาการและกลุ่มคนในบอร์ดชุดเดิม ที่ส่อเค้าเป็นปัญหา

 ฉะนั้น การคัดเลือกบอร์ดใหม่ หากปล่อยให้รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจากขั้วอำนาจเดิมเข้าบริหาร สิ่งที่ต้องการผลักดันคงเป็นไปได้ยาก จึงต่างจับมือร่วมกัน ล็อบบี้ เปลี่ยนขั้วอำนาจบอร์ดชุดใหม่ โดยมีตัวแทนของฝ่ายการเมือง กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภาเข้าไปนั่งบริหารแทน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะคงมีตัวแทนภาคประชาชนที่มาจากฟากบอร์ดชุดเดิมอยู่บ้าง แต่เป็นส่วนน้อยไม่มากพอที่จะกุมเสียงเพื่อกำหนดทิศทางบริหารได้เหมือนเดิม

 ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเสียงเซ็งแซ่ใน สปสช. ที่เชื่อว่า ทิศทางการบริหารจากนี้กำลังถูกเปลี่ยนแปลงไป และต่างรอดูผลการประชุมบอร์ด สปสช.นัดแรก หลัง “นายกแพทยสภา” ประกาศเตรียมเสนอ “ขยายมาตรา 41” เข้าพิจารณา

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 22 กันยายน 2554