ผู้เขียน หัวข้อ: คนไข้ไทย..กับทางตัน วารสารฉลาดซื้อ(เมย2553)..ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา  (อ่าน 2341 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวของคนไข้ ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ผู้คนมักคิดว่าการเรียกร้องสิทธิผ่านสื่อจะได้รับความเป็นธรรมเร็วกว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงการรู้จักใช้สิทธิหรือได้ใช้สิทธิ กับการจะได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่องราวฟ้ากับเหว

จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ใช้เวลายาวนานถึง 19 ปีเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้ลูกที่พิการจากการทำคลอด ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิจนกระทั่งทุกวันนี้ อีกทั้งนานเกือบ 8 ปีที่ก่อตั้งเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายนับจำนวนไม่ถ้วน เห็นว่าทุกครั้งที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักแสดงตัวออก มารับปากต่อสังคมว่าจะให้ความเป็นธรรมโดยเร็ว แต่จากนั้นผู้เสียหายต่างก็นับวันรอโดยไม่รู้จุดหมาย ทุกกรณีล้วนเดินตามรอยผู้เสียหายรุ่นพี่ที่เคยรอกันนานสามถึงแปดปีมาแล้ว

คนไข้ที่ตกเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรหรือร้องเรียนเก่งแค่ไหน ล้วนตกอยู่ในสภาพที่ถึงทางตัน...และไร้ทางออก เมื่อเรื่องไปสิ้นสุดที่หน่วยงานชื่อ”แพทยสภา” และ“กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” หน่วยงานที่ล้าหลังและเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านมาตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน

เมื่อมีคำถามว่าร้องเรียนแล้วต้องรอนานแค่ไหน หรือเมื่อไหร่จะได้รับความเป็นธรรม ข้าพเจ้ามักรู้สึกยากลำบากใจที่ต้องตอบว่าเราคือคนไข้ไทยหัวก้าวหน้าที่ รู้จักคำว่า ”สิทธิผู้ป่วย” แต่ระบบต่าง ๆ ยังล้าหลังอยู่ต้องทำใจรอเพียงอย่างเดียว เนื่องจากรู้ดีว่าแทบทุกกรณีล้วนถูกดึงเวลาให้หมดอายุความทางแพ่ง 1 ปี การที่หน่วยงานจะแจ้งมติให้ชาวบ้านทราบภายใน 1-3 เดือนนั้นเป็นเพียงความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง

แพทยสภาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงประกอบไปด้วยแพทย์ทั้งสิ้นไม่มีคนนอกอยู่เลย มิหนำซ้ำกรรมการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของหรือผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลเอกชน เคยมีเหตุการณ์ที่คู่กรณีของผู้เสียหายนั่งเป็นประธานสอบสวนเรื่องร้องเรียนโรงพยาบาลของตนเอง ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ปฏิบัติกันได้อย่างไม่อายฟ้าดิน ส่วนกองการประกอบโรคศิลปะนั้นก็ไม่ได้ต่างจากแพทยสภาแต่อย่างใด เคยมีเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการกองละเมิดสิทธิผู้ป่วยเรื่องเวชระเบียนเสียเอง มิหนำซ้ำยังมีเจ้าหน้าที่บางคนออกหน้าเจรจาต่อรองค่าเสียหายกับผู้เสียหายแทนโรงพยาบาล ทั้งที่หน่วยงานนี้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน

ผู้เสียหายส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการรอคอยและหันไปพึ่งศาล แต่นั่นเท่ากับพาตัวเองไปพบศึกอันใหญ่หลวง เนื่องจากต้องไปเผชิญหน้ากับนายกแพทยสภา ที่นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยไปเบิกความช่วยแพทย์ ขณะที่พยานทางการแพทย์ของฝั่งผู้เสียหายนั้นหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

ขณะที่ผู้เสียหายพบทางตัน และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกตอกลิ่มให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พลันแสงสว่างในปลายอุโมงค์ก็ปรากฏ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศจะผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน นั่นหมายถึงต่อไปจะมีกองทุนชดเชยความเสียหายให้คนไข้ไทยโดยไม่ต้องไปฟ้องศาล และคนไข้ไทยจะได้ปลดแอกออกจากหน่วยงานที่ไร้ประสิทธิภาพเสียที

แต่แล้ว...ความฝันของคนไข้ไทยแทบสลาย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันให้นำ สำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ให้บริการและที่ผ่านมาหน่วยงานแห่งนี้เป็นคู่กรณีกับ ผู้เสียหายทางการแพทย์มาโดยตลอด

กลุ่มผู้เสียหายคือคนไข้ที่โชคร้ายประสบเคราะห์กรรม พวกเราถูกหน่วยงานซ้ำเติมความทุกข์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีทางต่อสู้ พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข คือความหวังเดียวที่พวกเราจะได้รับความเป็นธรรม แต่การนำสำนักงานกองทุนไปอยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น ใครก็ได้โปรดอธิบายให้พวกเราสบายใจด้วยเถิดว่า เหตุผลใดถึงทำให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งใครจะเป็นผู้รับประกันว่าหน่วยงาน
เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ของสังคมไทย...ฤา...ชะตากรรมของคนไข้ไทย..กับทางตันคือของ คู่กัน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พฤษภาคม 2010, 14:07:25 โดย story »