ผู้เขียน หัวข้อ: มองแพทย์ไทยในอนาคต...นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา (อ่านกันอีกทีสถานการณ์แบบนี้)  (อ่าน 3045 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

หากมองภาพของวงการแพทย์ไทยในวันนี้ คงมีหลายต่อหลายเรื่องที่เป็นไปในเชิงบวก เช่น ความสามารถของแพทย์ไทยที่ไม่แพ้ใครในภูมิภาคอาเซียน ทั้งทางด้านการรักษาและการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ หรือการนำวิวัฒนาการในการรักษาที่มีความ ก้าวหน้า สะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นปัญหา เช่น ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ปัญหาการลาออกของแพทย์ภาครัฐ ปัญหาแพทย์ไม่พอเพียง เป็นต้น

       หากมองภาพของแพทย์ไทยในอนาคตที่ปัจจัยทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งโครงสร้างประชากร ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ที่ง่ายขึ้นทั้งในฝ่ายของประชาชน และแพทย์ ความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้ป่วย กฎหมายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น หน้าตาของวงการแพทย์จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ศ. นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสมาคม ได้ให้ข้อมูลไว้ในระหว่างการบรรยายในหัวข้อเรื่อง "วิชาชีพแพทย์ในอนาคต" เนื่องในงานประชุมวิชาการแพทยสภา ประจำปี 2551 ในด้านของการผลิตแพทย์ เดิมมีสถาบันในการผลิตแพทย์ของรัฐบาลเพียง 12 สถาบันคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบัน พระบรมราชชนก มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล และสถาบันเอกชนอีก 1 สถาบันคือ มหาวิทยาลัยรังสิต ต่อมา ในระยะ 2-3 ปีหลังได้มีคณะแพทยศาสตร์เกิดใหม่ในอีก 6 สถาบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหา วิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยในปัจจุบันเราสามารถ ผลิตแพทย์ได้ปีละ 1,600 คน และจากการเพิ่มขึ้นของคณะแพทย์ที่ เกิดใหม่ในสถาบันต่าง ๆ คาดว่าในอนาคตอีก 6 ปีข้างหน้าเราจะสามารถผลิตแพทย์ได้ถึงปีละ 8,700 คนต่อปี อย่างไรก็ตาม ศ. นพ. สมศักดิ์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จำนวนแพทย์ที่ผลิตได้ดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งปัญหาใหญ่จะอยู่ที่การลาออกนั่นเอง

       "จากจำนวนโรงเรียนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เราสามารถผลิตแพทย์เพิ่มได้มากขึ้น โดยในอีก 6 ปีข้างหน้าจะสามารถผลิตแพทย์ได้มากถึง 8,700 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าจำนวนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่รับรองว่าไม่พอ เพราะเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เราก็ต้องการการผลิตเพิ่มต่อจากนั้นอีกไม่กี่ปีก็จะเป็นจำนวนที่เพียง พอแล้ว แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันจำนวนแพทย์ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะปัญหาแพทย์ลาออก"

       หากหันมาดูการเปลี่ยนแปลงของประชากรแพทย์ไทย ศ.นพ. สมศักดิ์ ให้ข้อมูลว่าในปี พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมดจำนวน 34,000 คน เป็นชาย 22,134 คน หญิง 12,666 คน ปฏิบัติงานอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 13,578 คน ปฏิบัติงานใน ต่างจังหวัด 17,219 คน ปฏิบัติงานในต่างประเทศ 398 คน ไม่ทราบสังกัด 2,213 คน ถูกถอนใบอนุญาต 13 คน และเสียชีวิตไปแล้วจำนวน 1,199 คน ซึ่งหากพิจารณาจากตัวเลขจะพบว่าเรามีนายแพทย์มากกว่าแพทย์หญิงอยู่ประมาณเกือบ 10,000 คน อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังพบว่าบัณฑิตแพทย์ส่วนใหญ่เป็นหญิงมากกว่าชาย ซึ่งก็จะส่งผลต่อปัญหาจำนวนแพทย์ไม่พอเพียงเช่นกัน โดย ศ. นพ.สมศักดิ์ได้แสดงทัศนะเอาไว้ว่า "สำหรับประชากรแพทย์ตอนนี้รุ่นอาวุโสอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ชายจะมากกว่าผู้หญิง ส่วนในกลุ่มของแพทย์ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี ผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชาย คล้าย ๆ กับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อัตราส่วนระหว่างแพทย์ผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันประมาณ 2 เท่า ส่วนอนาคตของนักศึกษาแพทย์เรากำลังอยู่ในช่วงของจุดเปลี่ยนจากที่เคยมีนักศึกษาแพทย์ผู้ชายมากกว่ามาเป็นจำนวนนักศึกษาแพทย์ผู้หญิงมากกว่า ซึ่งอาจจะยกเว้นวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าซึ่งนักศึกษาแพทย์ชายมากกว่า"

       "หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ และมีแพทย์ที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายก็จะมีปัญหาในอนาคต เนื่องจากช่วงการทำงานจะน้อยลง เพราะผู้หญิงต้องออกไปเลี้ยงลูก ดูแลครอบครัว อยู่เวรดึกมากๆ ก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นเวลาทำงานก็จะน้อย ส่งไปทำงานไกลๆ ก็ลำบาก" ศ. นพ.สมศักดิ์ กล่าว

       สำหรับในด้านแพทย์เฉพาะทาง ในปี พ.ศ. 2550 จากจำนวนแพทย์ทั้งประเทศที่ยังมีชีวิต 33,588 คน มีแพทย์ที่ได้วุฒิบัตรหรือหนังสือ อนุมัติ 20,247 คน (60.3%) จำนวนวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติที่ให้แล้ว 28,774 ใบ จำนวนผู้ได้วุฒิบัตร 12,055 ใบ หนังสืออนุมัติ 16,719 ใบ โดยมีแพทย์ที่ได้สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว 6,388 คน อนุสาขาศัลยกรรม 144 คน อนุสาขาอายุรกรรม 1,029 คน อนุสาขาสูตินรีเวช 338 คน อนุสาขากุมารเวชศาสตร์ 616 คน อนุสาขารังสีวิทยา 46 คน อนุสาขาโสต ศอ นาสิก 101 คน

       "สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จะเห็นว่ามีอายุรแพทย์มากที่สุด ศัลยแพทย์รองลงมา ต่อด้วยกุมารแพทย์และสูตินรีแพทย์ แต่ในอนาคตสัดส่วนจะต้องเปลี่ยนแปลงไปแน่ เพราะสถานการณ์ของไทยตามหลังประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ประมาณ 20 ปี ซึ่งตอนนี้ ที่อเมริกา Internal Medicine มาเป็นอันดับ 1 ศัลยแพทย์ตามมาเป็นอันดับ 2 กุมารแพทย์เป็นอันดับ 3 เพราะฉะนั้นในอนาคตของประเทศไทยสูตินรีแพทย์และศัลยแพทย์จะต้องลดลงแน่ ๆ เพราะว่าเวลานี้การรักษาเป็น Non Invasive หมดเลย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการฝึกอบรม Primary Care technician ซึ่งรวมทั้งอายุรศาสตร์ เวชศาสตร์ครอบครัว กุมารเวชศาสตร์ และ บางที่รวมสูตินรีเวชด้วย ไม่มีการฝึกอบรมเลยไม่ได้เพราะความรู้ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา"

       "ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านก็คือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรและสังคม การเปลี่ยนแปลงของปัญหาการเจ็บป่วยและการตาย ความก้าวหน้าทางชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความก้าวหน้าของระบบสารสนเทศ การเปลี่ยนแปลงของระบบบริการสุขภาพ และบทบาทหน้าที่ของแพทย์ในปัจจุบันและอนาคต" อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกับการทำงานของแพทย์ก็คือ ปัจจัยด้านประชากร ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่าจำนวนประชากรเด็กของประเทศไทยจะลดลง และจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมากขึ้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องการแพทย์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

       "ในอนาคตอีกสิบกว่าปีข้างหน้าจำนวนประชากรเด็กจะเหลือต่ำกว่า 4 ล้านคน และประชากรสูงอายุจะมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มใหญ่ ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ผู้ป่วยกว่าครึ่งจะมีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งเมื่อ อายุมากก็ต้องไปโรงพยาบาลบ่อย นอกจากนั้นในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีก็ต้องไปโรงพยาบาลบ่อยเช่นกัน เพราะต้องไปฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องการแพทย์เพิ่มขึ้นอีก เพราะลักษณะของประชากรเปลี่ยนแปลงไป" ศ. นพ.สมศักดิ์ กล่าว

       จากการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ศ. นพ.สมศักดิ์ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับภาพรวมของแพทย์ไทยในอนาคตเอาไว้ว่า "จะต้องดูแลผู้ป่วยนอกมากกว่าผู้ป่วยใน ต้องดูแลเด็กปรกติที่มีปัญหาทางจิตและพฤติกรรมมากขึ้น ด้านการรักษาต้องเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา ให้คำปรึกษามากกว่าออกคำสั่ง ผู้ป่วยเป็นผู้เลือกวิธีการรักษา เน้นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม มีทักษะที่ดีในการติดต่อสื่อสาร แพทย์ต้องใช้เวลากับผู้ป่วยมากขึ้น แพทย์จะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงโรคที่ผู้ป่วยเป็น ต้องทำงานเป็นทีม การดูแลผู้ป่วยจะมีมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติมากขึ้น แพทย์จะต้องบันทึกข้อมูลในการรักษาพยาบาลมากขึ้น การดูแลจะเป็นแบบแพทย์ประจำตัวดูตั้งแต่เล็กจนโต ผู้ป่วยติดต่อกับแพทย์ได้ตลอดเวลา การรักษาจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายมากขึ้น มีการแข่งขันเพื่อให้ต้นทุนถูกลง มีจริยธรรมและซื่อสัตย์ต่อผู้ป่วย ต้องทำให้ผู้ป่วยไว้วางใจ แพทย์ต้องรู้กฎหมายมากขึ้น ไม่ใช่รู้เฉพาะพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างเดียว แพทย์จะต้องมีการศึกษาต่อเนื่อง ส่วนบริษัทประกันและรัฐบาลก็จะมีบทบาทมากขึ้นในด้านการดูแลรักษา"

       นอกจากนั้นจะมีแพทย์ที่เป็นนักวิจัยอย่างเดียวหรือทำงานบริหารอย่างเดียวมากขึ้น แพทย์ต้องทำหน้าที่เป็นแพทย์ปฐมภูมิมากขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังมีความจำเป็นมากในโรงพยาบาลเอกชนและศูนย์แพทย์ ความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลจะมีมากขึ้น การกระจายแพทย์ไปในที่ห่างไกลยังเป็นปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจและความหนาแน่นของประชากรต่างกัน แพทย์หญิงมีมากขึ้น การส่งไปทำงานในที่ห่างไกลทำได้ลำบาก การถูกฟ้องร้องจากการคาดหวังที่สูงมีมากขึ้น แพทย์จะต้องใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเก่ง เพราะข้อมูลข่าวสารก็มีแพร่หลายมากขึ้นทางอินเตอร์เน็ต ใช้ electronic medical record มากขึ้น ระบบประกันสุขภาพจะมีผลต่อการทำงานของแพทย์อย่างมาก แพทย์จะต้องเพิ่มบทบาทต่อสังคมมากขึ้น เพิ่มการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น มีการประสานงานที่ดีระหว่างผู้ดูแลสุขภาพอื่น ๆ นอกเหนือจากแพทย์ เช่น แพทย์ทางเลือกอื่น ๆ การติดตามข้อมูลและการศึกษาต่อเนื่องทำจากที่บ้านมากขึ้น มีการใช้เครื่องมือในการทำหัตถการใหม่ ๆ มากขึ้น มีการใช้ความรู้ใหม่ เช่น ยีน ในการรักษาและป้องกันมากขึ้น

       ในส่วนของอาการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ก็จะเปลี่ยนไป มี โรคภูมิแพ้และโรคทางพฤติกรรมมากขึ้น โรคที่ป้องกันด้วยวัคซีนจะลดลง โรคจากอุบัติเหตุ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคจากความเครียดและโรคเรื้อรังมีมากขึ้น ปัญหาเด็กวัยรุ่นมีมากขึ้น ทั้งเรื่องจิตใจ เพศสัมพันธ์ ยาเสพติด เสียเวลากับการเล่นเกม คุยทางอินเตอร์เน็ตและคุยทางโทรศัพท์ และมีเด็กอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กมากขึ้น เพราะทั้งพ่อและแม่ต้องทำงาน และนำเด็กไปฝากเลี้ยงในเวลากลางวัน ทำให้เด็กมีปัญหาการติดเชื้อมากขึ้น

       ด้านการเปลี่ยนแปลงในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต ศ. นพ.สมศักดิ์ให้ความเห็นว่า "การดูแลผู้ป่วยจะเปลี่ยนเป็นการดูแลระยะยาว จากการที่วิชาชีพเป็นผู้ควบคุมการดูแลสุขภาพจะเปลี่ยนไปเป็นผู้ป่วยเป็นต้นตอของการควบคุม ข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์จะเข้าถึงได้ทุกคน การตัดสินใจที่เคยขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการฝึกอบรมจะเปลี่ยนไปเป็นการอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) แต่เดิมการไม่ทำให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายเป็นหน้าที่ของบุคลากรแต่ละคน ต่อไปจะเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยจากระบบ แต่ก่อนเราว่าความลับเป็นเรื่องจำเป็น ต่อไปความโปร่งใสเป็นเรื่องจำเป็น ปัจจุบันเราพยายาม ลดค่าใช้จ่ายโดยใช้ของราคาถูก ต่อไปเราจะประหยัดโดยการตัดเอาสิ่งไม่จำเป็นออก ปัจจุบันเราให้ความสำคัญต่อบทบาทของแพทย์มากกว่า แต่ระบบในอนาคตความสำคัญจะเน้นความร่วมมือของแพทย์ทำร่วมกัน"

       ในเรื่องของการฟ้องร้องที่มีมากขึ้น ศ.นพ.สมศักดิ์ให้ข้อมูลว่า จะส่งผลกระทบต่อแพทย์ดังนี้คือ ทั้งแพทย์และผู้ป่วยมีความทุกข์ แพทย์ไม่มีสมาธิในการทำงาน เสียเงินในการสู้คดี เสียเวลา หมด กำลังใจในการทำงาน ทนายได้เงินจากทั้งสองข้าง บางครั้งเงินที่ได้ ไม่พอค่าทนาย เกิดแนวคิดการถูกลอตเตอรี่จากการฟ้องร้องในหมู่ประชาชน เกิดความระแวงระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย มีการรักษาแบบป้องกันการฟ้องร้องมากขึ้น ใช้ยามาก ตรวจแล็บมาก ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น มีการประกันการฟ้องร้อง คนเก่งเลือกเรียนแพทย์น้อยลง ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลขนาดเล็กจะปิดหมด ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดจะถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ แพทย์โรงพยาบาลใหญ่มีงานมากก็จะลาออก แพทย์จะหลีกเลี่ยงการรักษาผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนสูงโดยให้ผู้ป่วยเซ็นไม่ยินยอม แพทย์จะไม่ยอมไปช่วยผู้ป่วยที่มีอาการหนักโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง นักเรียนแพทย์ที่จบใหม่ไม่กล้าที่จะออกไปดูผู้ป่วย แพทย์ขาดความมั่นใจ เปลี่ยนอาชีพไปทำงานที่ไม่ต้องดูแลผู้ป่วย นักศึกษาแพทย์เลือกสาขาวิชาชีพจากอัตราการฟ้องร้อง" ส่วนสิ่งที่ควรแก้ไขในเรื่องการฟ้องร้อง ศ. นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า "ไม่ควรมีการฟ้องร้องแพทย์ในคดีอาญาจากการรักษาพยาบาล เพราะแพทย์ไม่มีเจตนาฆ่าหรือทำร้ายผู้ป่วย ควรมีการกำหนดเพดานในการฟ้องร้อง ควรมีกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีผลกระทบจากการรักษาพยาบาล ควรมีการพิจารณาไกล่เกลี่ยก่อนการฟ้องศาล ต้องลดภาระงานของแพทย์ให้มีเวลาพักผ่อน และให้คำอธิบายแก่ผู้ป่วย สถานพยาบาลต้องร่วมรับผิดชอบ และมีองค์กรช่วยเหลือแพทย์ที่ถูกฟ้อง" ด้านมุมมองที่เปลี่ยนไปในสังคมไทย ศ. นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า "เมื่อก่อนการตัดสินใจแล้วแต่แพทย์ ผู้ป่วยและญาติเห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่คาดหวัง ถ้ารอดถือว่าโชคดี หากแพทย์รักษาโดยไม่คิดเงินถือเป็นบุญคุณ ไม่มีการชดเชย และไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย ส่วนในปัจจุบันการตัดสินใจแล้วแต่ผู้ป่วย ผู้ป่วยและญาติคิดว่าความตายต้องป้องกันได้ มีคาดหวังสูง หมอรักษาต้องไม่ตาย การรักษาโดยไม่จ่ายเงินถือเป็นสิทธิของผู้ป่วย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นต้องมีการชดเชย และผู้ป่วยมีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย"

        แน่นอนว่าในอนาคตปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแพทย์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งนายกแพทยสภาได้กล่าวทิ้งท้ายเป็นข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า "เมื่อสังคมเปลี่ยน สิ่งที่แพทย์ควรทำก็คือปรับตัวตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย"

medicthai.com 4 ก.ย. 2011
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 กันยายน 2011, 02:10:04 โดย pani »