ผู้เขียน หัวข้อ: คสช. ผ่าวิกฤต"ค่ายาข้าราชการ"-มติชน-28เมย2553  (อ่าน 1994 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
จากปัญหาค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการข้าราชการที่พุ่งสูงขึ้นทุกปี จาก 40,000 ล้านบาทเป็น 61,000 ล้านบาทและล่าสุดปีงบประมาณ 2554 มีแนวโน้มว่างบฯ ยังคงที่ 61,000 ล้านบาทด้วยนั้น นอกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้งคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลเพื่อทำหน้าที่คุมค่า รักษาข้าราชการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยดึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) มาช่วยตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งพบว่ามีบุคลากรในโรงพยาบาล (รพ.) มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต ทั้งฮั้วกับบริษัทยา จ่ายยาเกินความจำเป็น โดยเฉพาะการจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาตินั้น

          ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาสวัสดิการข้าราชการของ สธ. โดยเฉพาะขึ้น ซึ่งมี นพ.เสรี หงษ์หยก รองปลัด สธ.เป็นประธานเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อกระทรวงการคลังในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยล่าสุดเมื่อวันที่  26 เมษายน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรี สธ. กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาสวัสดิการข้าราชการ ได้รวบรวมข้อมูลพบว่า รพ.สังกัด สธ. จำนวน 16 แห่งจากทั้งสิ้น 880 แห่ง มีสัดส่วนการใช้ยานอกบัญชียาหลักประมาณ 2,105 ล้านบาท หรือร้อยละ 21 ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย ขณะที่รพ.สังกัดอื่นๆ อีก 15 แห่ง มีปริมาณการใช้ยานอกบัญชีหลักสูงถึง 7,935 ล้านบาทหรือร้อยละ 79 พร้อมเสนอให้มีหน่วยงานกลางระดับประเทศของรัฐบาลในการกำกับดูแลระบบการเงิน การคลังของหลักประกันต่างๆ รวมถึงหลักประกันบริษัทเอกชน โดยจัดหลักเกณฑ์ให้เกิดความเหมาะสม ลดความ เหลื่อมล้ำซ้ำซ้อน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรม

          ปรากฏว่าข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเมื่อ วันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุม คสช. ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติขึ้น มีอายุ 3 ปี เพื่อทำหน้าที่ศึกษาระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบประกันสังคม โดยเฉพาะโรคมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยต้องคำนึงด้านคุณภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมกัน

          นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า คสช.มีมติร่วม กับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เสนอออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อทำการศึกษาประสิทธิภาพการทำงานของ 3 กองทุนระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยว่าคุ้มค่า และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ รวมทั้งยังทำการศึกษาอีก 1 ระบบคือ ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเบิกค่าประกันค่อนข้างยากสุดท้ายประโยชน์ไปอยู่ที่ ภาคเอกชน

          คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ศึกษาการทำงานของทั้ง 4 ระบบว่ามีความคุ้มค่าต่อประเทศมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะ 3 กองทุนระบบประกันสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล รวมทั้งงบประมาณในการใช้จ่ายแต่ละกองทุนยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง กองทุนสวัสดิการข้าราชการที่กำลังเป็นปัญหา ซึ่งเป็นกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงเกรงว่าหากมีการใช้งบประมาณในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็น อาจส่งผลต่องบประมาณทั้งประเทศในอนาคต คณะกรรมการจะศึกษาว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้าระบบการเงินการคลังจะเป็นอย่างไรและจะมีแนวทางแก้ไข เปลี่ยนแปลงระบบอย่างไรบ้าง รวมทั้งจะศึกษาข้อดีข้อเสียหากมีการยุบทั้ง 3 กองทุนระบบสวัสดิการ โดยจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนเมษายนนี้

          "ข้อสรุปที่ได้จะเสนอให้การเมืองตัดสินใจว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยควรเป็นเช่นไร รวมทั้งปัญหาการใช้จ่ายเกินความจำเป็นของค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งเป็นการทำงานแบบองค์รวมมากกว่า เพราะแต่ละระบบมีปัญหามาโดยตลอด ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการให้บริการ หรือแม้กระทั่งระบบประกันสังคมก็ยังขาดการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่ง ส่วนสวัสดิการข้าราชการยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีปัญหาใช้จ่ายยาสูงเกินความจำเป็น"

          นพ.อำพล ระบุส่วนการควบคุมพฤติกรรมของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการสั่งจ่ายยาไม่ถูก ต้อง ด้านแพทยสภา อยู่ระหว่างร่างแนวทางปฏิบัติการสั่งจ่ายยาของแพทย์ โดยจัดทำเป็นเกณฑ์ขั้นตอนการวินิจฉัยว่า ระดับใดควรให้ยาชนิดใด ซึ่งจะช่วยปัญหาการสั่งจ่ายยาข้ามขั้นตอน เพราะที่ผ่านมาบางครั้งไม่จำเป็นต้องได้รับยาราคาแพง แต่ก็มีการสั่งจ่ายยาออกไป เบื้องต้นจะดึงแพทย์จากราชวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมกันร่างแนวทาง
          ขณะที่คณะกรรมการของกระทรวงการคลัง ก็ยังดูเงียบเหงา เพราะบรรดาตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการต่างระบุว่า ยังไม่มีความคืบหน้าในการประชุม
          จึงไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะเป็นเช่นไร...