ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิรูปใหญ่ ระบบประกันสุขภาพไทย-มติชน-30เมย2553  (อ่าน 2009 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
หลังจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) เตรียมเสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการจัดตั้งคณะ กรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อทำการศึกษาหากลไกในการวางแผนการเงินการคลังด้านสุขภาพของประเทศในระยะ ยาวประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ระบบกองทุนประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535  ที่กระทรวงพาณิชย์ดูแล แต่มีปัญหาเรื่องการเบิกค่าประกันค่อนข้างยาก จนมีหลายฝ่ายคิดว่าควรจะมีการนำมารวมอยู่ในกองทุนใดกองทุนหนึ่งใน 3 ระบบนั้น

          นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระบุว่า ปัญหาของระบบหลัก ประกันสุขภาพของไทย ส่วนใหญ่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล รวมทั้งงบประมาณในการใช้จ่ายแต่ละกองทุนยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนปัญหาเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 พบว่ามีการผลักภาระค่าใช้จ่ายในสิทธิประโยชน์ที่ทับซ้อน โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นประกันแบบบังคับสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ หากผู้ขับขี่บาดเจ็บจากรถยนต์เบิกจ่ายตามกองทุนของ พ.ร.บ.นี้ได้ ซึ่งแต่ละปีมีงบฯ เรียกเก็บสูงหลายพันล้านบาท แต่ปัญหาคือ หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่อนข้างยุ่งยาก เบิกจ่ายช้า ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่หันไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพใน 3 ระบบแทน

           กรณีดังกล่าวทำให้มีการใช้สิทธิไม่ตรงจุดไม่ตรงกองทุน จนมีกระแสให้ยุบ พ.ร.บ.ดังกล่าวเสีย แต่บางกระแสก็ระบุว่าจำเป็นสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์โดยตรง ที่ผ่านมาสถาบัน วิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เคยศึกษาและหาทางออก โดยได้ยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ฉบับปรับปรุงขึ้น และได้เสนอไปในสมัย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น แต่เรื่องก็เงียบหายไป โดยเนื้อหาคือ การต่อทะเบียนรถยนต์จากนี้ไป ให้ผ่านทางกรมการขนส่ง และให้นำเงินดังกล่าวส่งไปยังระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบของไทยแทน เพราะปัจจุบันผู้ประสบภัยจากรถส่วนใหญ่ก็ใช้สิทธิใน 3 ระบบอยู่แล้ว นพ.อำพลระบุสำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับปรับปรุง คาดว่าจะนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่ง ชาติ ซึ่งจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้ดำเนินการจัดตั้งภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะใช้ระยะเวลาทำงาน 3 ปี ซึ่งจะทำการศึกษาระบบการเงินการคลังด้านสาธารณสุขทั้งประเทศ ทั้งผู้ประสบภัยจากรถยนต์ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลักประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดย 3 ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะมีการศึกษาประเด็นร้อน อย่างโอกาสการยุบรวมกองทุนทั้ง 3 ระบบด้วย ส่วนจะออกมาอย่างไรคงต้องรอลุ้นต่อไป

          ขณะที่การจัดการปัญหาสวัสดิการข้าราชการนั้น ในส่วนของการจัดการเรื่องยาแพง ด้านนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ในส่วนของ อย.จะเร่งเรื่องขึ้นทะเบียนยาสามัญ เพื่อให้ได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการใช้ยานอกบัญชียาหลักมากเกินความจำ เป็น ทำให้ค่ายาพุ่งสูงขึ้น โดยการดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมค่ายาข้าราชการนั้น จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนายาแห่งชาติ  ซึ่งมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นกรรมการ โดย อย.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ขณะเดียวกันคณะกรรมการชุดนี้ยังมีคณะอนุกรรมการย่อยอีก 4 ชุด ซึ่งเพิ่งแต่งตั้งไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเพื่อทำหน้าที่ที่แตกต่างกันไป

          คณะอนุกรรมการ 4 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ อย.จะมีบทบาทในคณะอนุกรรมการชุดนี้ 2.คณะอนุกรรมการราคากลาง 3.คณะอนุกรรมการวางยุทธศาสตร์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล จะพิจารณาเรื่องยาจำเป็น ลดการใช้ยาฟุ่มเฟือย และ 4.คณะอนุกรรมการวางยุทธศาสตร์การใช้ยา ทั้งหมดจะพิจารณาเกี่ยวกับการใช้ยาเกินความจำเป็นทั้งสิ้น

          สำหรับ อย. นอกจากจะเร่งการขึ้นทะเบียนยาสามัญใหม่ๆ ยังทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้ยาสามัญโดยจะสร้างความเชื่อมั่นในเชิงคุณภาพ เพื่อให้ทั้งแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา และผู้ป่วยเชื่อมั่นว่า ยาสามัญมีคุณภาพเทียบเท่ายาต้นแบบ ที่สำคัญราคายังถูกกว่ายาต้นแบบประมาณร้อยละ 30-50 ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการลดปัญหาค่ายาแพงได้

          "เราจะสร้างความเชื่อมั่นว่า ยาสามัญมีคุณภาพไม่แพ้ยาต้นแบบ โดยก่อนจะมีการขึ้นทะเบียนยา มีการตรวจชีวสมมูล ซึ่งเป็นการศึกษาการดูดซึม การกระจายตัวของยาเทียบเท่ายาต้นแบบ ซึ่งพบว่าไม่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันแพทยสภาจะออกหลักเกณฑ์การประกอบโรคศิลปะว่า ควรมีวิธีอย่างไรในการสั่งจ่ายยา โดยเน้นการให้ยาสามัญก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน" เลขาธิการ อย.กล่าว ด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด ถือเป็นความหวังในการแก้ปัญหาการใช้ยาของประเทศไทยทั้งระบบ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับนโยบาย และความชัดเจนของรัฐบาล และรัฐมนตรีสธ. สิ่ง สำคัญต้องมีการศึกษาให้ชัดเจนว่า ในกรณีของยาบัญชียาหลักตัวไหนมีความจำเป็นเพิ่มเติม หรือตัวไหนไม่จำเป็น ควรจะศึกษาอย่างละเอียดไม่ใช่เน้นแต่เพิ่มยาในบัญชียาหลักเท่านั้น เพราะจะไม่ก่อประโยชน์เท่าที่ควร