ผู้เขียน หัวข้อ: ฤาจะถึงกาลล่มสลายของระบบสาธารณสุขไทย  (อ่าน 1668 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ผู้อ่านส่วนใหญ่ที่เห็นหัวข้อคงรู้สึกสงสัยระคนตกใจว่า จริงหรือ ทำไมระบบสาธารณสุขไทยซึ่งหลายคนเชื่อว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจะล่มสลายจริงหรือ ในเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกๆ ของโลกที่มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นคือ ไม่ว่าใครขอให้เป็นคนไทยก็สามารถที่จะมีประกันสุขภาพไม่ทางใดก็ทางหนึ่งหรือแม้แต่แรงงานต่างด้าวที่กินค่าแรงรายวัน หากขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง รัฐบาลไทยก็รับภาระที่จะให้การดูแลสุขภาพ

การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องดีสำหรับประชาชนอย่างแน่นอน หากประเทศนั้นๆ มีฐานะทางการเงินและระบบบริหารจัดการที่ดีพอ แต่การให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยที่ในกระเป๋าไม่มีเงิน รวมทั้งมีระบบบริหารจัดการที่ล้มเหลวนี่เองที่กลายเป็นที่มาของความล่มสลายของระบบสาธารณสุข

ปัจจุบันความเสียหายเริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อโรงพยาบาลรัฐที่ขาดทุนจำนวนมหาศาลจนไม่มีเงินซื้อเวชภัณฑ์เริ่มขู่รัฐบาลว่าจะปิดตัวลง คนไทยหลายคนที่ได้อ่านข่าวคงรู้สึกงงๆ ว่าโรงพยาบาลรัฐมีขาดทุนด้วยหรือ แล้วทำไมต้องปิดตัวลงและเมื่อปิดตัวลงแล้ว คนป่วยซึ่งก็คือประชาชนตาดำๆ จะไปรักษาตัวกันที่ไหน เจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานอยู่ทั้งหมอ พยาบาล พนักงานระดับต่างๆ จะไปทำงานที่ไหน มีเงินเดือนกินหรือเปล่า จะเดือดร้อนมากหรือน้อยกว่าประชาชนที่ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร แท้ที่จริงแล้ว โรงพยาบาลของรัฐต้องหากำไรด้วยหรือ หากขาดทุนต้องปิดกิจการเหมือนเอกชนเลยหรือ แล้วพวกเขาเคยเอาเงินจากที่ไหนมาซื้อยา เครื่องมือเครื่องใช้ จ่ายค่าน้ำค่าไฟ จ่ายเงินเดือนหมอ พยาบาลและพนักงานกันแน่
ฟรีบริการสุขภาพถ้วนหน้า

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมที่ถูกปกปิดมานานตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มให้บริการสุขภาพถ้วนหน้ากับประชาชนทั่วประเทศหรือที่เรียกกันติดปากว่า 30 บาทรักษาทุกโรคที่เริ่มในปี 2540 ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าบริการสุขภาพถ้วนหน้า เพราะผู้รับบริการหรือคนไข้ไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียวจึงไม่ต้องเรียก 30 บาทรักษาทุกโรค แต่รัฐบาลปัจจุบันกำลังต้องการ

ก่อนที่จะถึงวันที่คนไทยทั้งประเทศได้มีโอกาสรับบริการสุขภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้น ประเทศเรามีผู้มีสิทธิได้รับการบริการทางด้านสุขภาพอยู่เก่าก่อนปี 2540 อยู่ 3 ประเภท นั่นคือ 1. ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ 2. ประกันสังคมและ 3. ผู้สูงอายุ เด็ก พระสงฆ์ ผู้ยากจนหรือด้อยโอกาสและผู้พิการ

คนสองกลุ่มแรกคือข้าราชการและประกันสังคมได้สิทธินี้ผ่านการทำงาน ข้าราชการได้สิทธิการรักษาผ่านการแลกกับเงินเดือนอันน้อยนิดตลอดชีวิตเสมือนหนึ่งใช้แรงงานตัวเองตลอดชีวิตแลกกับการเป็นสมาชิกโรงแรม 5 ดาวตลอดชีวิตเช่นกัน นั่นคือ พวกเขาหวังว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพอย่างไม่มีข้อจำกัดให้ตัวเขาและครอบครัวตามสัญญาที่พวกเขาคาดหวังไว้นับจากวันแรกที่รับราชการ

ส่วนกลุ่มประกันสังคมนั้นก็เสียเบี้ยประกันรายเดือนร่วมกับนายจ้าง ซื้อบริการสาธารณสุขตามข้อตกลงที่ทำไว้กับสำนักงานประกันสังคม โดยหวังว่าสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์และต่อรองกับสถานบริการให้ คนกลุ่มนี้มักไม่คิดมากในเรื่องประกันสุขภาพ เพราะพวกเขามักอยู่ในวัยทำงาน อายุไม่มาก บางคนก็ทำงานกับบริษัทที่ทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันแถมให้อยู่แล้วและเมื่อเริ่มทำประกันสังคมนั้นผู้ซื้อบริการส่วนใหญ่อายุยังไม่มาก แต่ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ก็เริ่มมีอายุมากขึ้น เป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น

กลุ่มสุดท้ายได้บริการฟรีในฐานะที่ยากจนหรือช่วยตัวเองไม่ได้ ปัจจุบันกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มที่ได้รับบริการสุขภาพถ้วนหน้าที่แปลงมาจาก 30 บาทรักษาทุกโรคนั่นเอง การให้บริการสุขภาพถ้วนหน้าได้ขยายขอบเขตไปสู่ประชาชนทั่วไปที่ในสมัยก่อนมีฐานะดีพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เอง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของชาติที่ตกเป็นภาระของรัฐบาลจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อรัฐบาลเงินหมด แต่ไปให้สัญญากับคนทั่วทั้งประเทศบวกกับแรงงานต่างด้าวไปแล้ว รัฐก็เลยหันมาตัดสวัสดิการคนกลุ่มแรก นั่นคือ ข้าราชการ ทั้งนี้เพราะคนกลุ่มนี้มักไม่มีปากเสียง มีจำนวนน้อยและมักเป็นกลุ่มที่กลัวอำนาจมากที่สุด
สปสช

สปสช

แต่เดิม ก่อนปี 2540 รัฐจ่ายเงินให้กับกระทรวงสาธารณสุขด้วยวิธีการงบประมาณเหมือนกับกระทรวงอื่นๆ นั่นคือค่าแรงข้าราชการ ค่าวัสดุครุภัณฑ์และงบพัฒนาหรืองบสำหรับค่าก่อสร้างเพื่อการพัฒนา แต่เมื่อรัฐหันมาใช้การบริหารการเงินผ่านสปสช. ซึ่งเป็นองค์กรคล้ายกับบริษัทประกันที่รับหน้าเสื่อในการดูแลสิทธิประโยชน์ของกลุ่มคนที่เข้ารับบริการสุขภาพถ้วนหน้า รัฐก็หันมาใช้วิธีการทางงบประมาณใหม่ นั่นคือ ให้ค่าใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เงินเดือนข้าราชการทั้งกระทรวง ค่ายา ค่าวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆ เหมารวมอยู่ในค่าหัวของจำนวนประชากรที่สังกัดในเขต เช่น ในปีแรกๆ รัฐให้เงินค่าหัวประชาชนเพียงแค่ 1,600 บาท คูณด้วยจำนวนประชากรในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาล เช่น หนึ่งหมื่นคน หากคนทั้งหนึ่งหมื่นคนไม่มารับบริการและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและยายังไม่สูงมาก โรงพยาบาลก็ยังบริหารงานต่อไปได้
ยอดคนใช้บริการพุ่ง 330 %

แต่ปัจจุบัน แม้ว่ารัฐจะเพิ่มค่่าหัวให้กับประชากรสูงถึง 2,600 กว่าบาทแล้วหรือเท่ากับค่ายาผู้ป่วยวันละ 7 บาท แต่จากสถิติจะพบว่าจำนวนการเข้าใช้บริการสูงถึง 3.3 ครั้งต่อคน นั่นหมายความว่า ผู้ประกันตนหรือประชาชนที่ใช้สิทธิสุขภาพถ้วนหน้านี้เข้ารับบริการสูงถึง 330 % ในจำนวนนี้รวมประชาชนที่มีโรคเรื้อรังเป็นโรคประจำตัวอยู่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์ หัวใจล้มเหลว ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องเจาะเลือดเพื่อติดตามการรักษาและป้องกันโรงแทรกซ้อน รวมทั้งต้องรับประทานยาทุกวันอีกร่วมสิบล้านคน คนกลุ่มนี้จึงต้องมารับบริการด้วยจำนวนครั้งมากกว่าค่าเฉลี่ยอีกเกือบเท่าตัว

นี่คือที่มาของการขาดทุนยกแรกของโรงพยาบาล

ยิ่งประเทศไทยมีคนสูงอายุมากขึ้นเท่่าไหร่ การขาดทุนของโรงพยาบาลก็มากขึ้นเท่านั้น และนี่คือที่มาของการที่รัฐต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับประชาชนที่เข้าใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกปีในอัตราที่สูงเป็นทวีคูณ

ที่แย่กว่านั้นก็คือ กว่าที่โรงพยาบาลจะได้เงินสปสช. ซึ่งเป็นองค์กรที่รับเงินมาดูแลจัดสรรให้กับโรงพยาบาลนั้น สปสช. ก็ตัดโน่นตัดนี่เป็นค่าบริหารจัดการและแบ่งเป็นกองโน้นกองนี้อีกต่างหาก เงินจึงเหลือมาถึงโรงพยาบาลเพียงแค่ 400 บาทหรือเท่ากับค่ายาคนไข้เพียงวันละบาทเดียวเท่านั้น

กลุ่มประกันสังคมนั้น เงินค่าหัวที่สำนักงานประกันสังคมให้มายิ่งน้อยกว่านี้อีก แต่เป็นโชคดีของโรงพยาบาลที่คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยมารับบริการ นี่คือเหตุผลที่โรงพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่งยังรับคนกลุ่มนี้ไปดูแลด้วย

ส่วนกลุ่มข้าราชการนั้น แต่เดิมรัฐให้สวัสดิการรักษาพยาบาลเต็มที่เนื่องจากคนกลุ่มนี้ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าคนที่ทำงานเอกชนประมาณ 3-10 เท่าขึ้นกับวิชาชีพ แต่เมื่อรัฐเงินหมด วิธีการแรกที่รัฐตัดสวัสดิการโดยที่ข้าราชการไม่รู้ตัวมาก่อนก็คือ การให้โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาผู้ป่วยในตามการวินิจฉัย เช่น เบาหวาน อาจเบิกได้ห้าพันบาทต่อครั้ง ถ้าค่าใช้จ่ายไม่ถึงให้เบิกตามจริง แต่หากเกินกว่านี้ทางโรงพยาบาลต้องออกค่าใช้จ่ายเอง และนี่คือที่มาของการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐอีกเช่นกัน
เมื่อกรมบัญชีกลางตัดสินแทนแพทย์

เมื่อรัฐตัดหนทางทุกอย่างของโรงพยาบาลในการหารายได้ ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลยังมีค่าใช้จ่ายนอกงบประมาณเป็นจำนวนมาก เช่น ค่าตอบแทนพนักงานนอกหมวดเงินเดือนหลายประเภทที่รัฐออกระเบียบมาให้จ่าย อาทิ ค่าตอบแทนแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่ทำงานในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ลดสมองไหลสู่ภาคเอกชน โรงพยาบาลจึงเข้าสู่ภาวะขาดทุน

เท่านั้นยังไม่พอ ลมหายใจสุดท้ายของโรงพยาบาลหรือที่มาของเงินบำรุงโรงพยาบาลอีกทางหนึ่งก็คือ รายได้จากการขายยาให้กับผู้ป่วยที่จ่ายเงินเองหรือกลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจซึ่งโดยทั่วไปโรงพยาบาลสามารถที่จะบวกเพิ่มจากต้นทุนได้ไม่เกิน 30 % ก็กำลังถูกตัดโดยกรมบัญชีกลางและนี่คือที่มาของการโวยวายของกรมบัญชีกลางที่ว่าเงินค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการบานเบอะ

เมื่อโรงพยาบาลพยายามดิ้นรนให้ตัวเองอยู่ได้ ด้วยการเพิ่มการเบิกจ่ายเข้าไปในกรมบัญชีกลางจากการคิดค่ายา และค่าบริการผู้ป่วยข้าราชการที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอกและกรมบัญชีกลางไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ กรมบัญชีกลางจึงออกมาตรการใหม่ นั่นคือจ้างองค์กรขึ้นมาตรวจสอบการใช้ยา ซึ่งเท่ากับเป็นการทั้งละเมิดสิทธิผู้ป่วยและแพทย์และเป็นการลดทอนสวัสดิการข้าราชการไปในตัวด้วยโดยที่ข้าราชการไม่รู้ตัวอีกเช่นกัน

องค์กรตรวจสอบนี้ประกอบด้วยแพทย์จำนวนน้อยที่มิได้เชี่ยวชาญทุกโรค แต่ออกความเห็นวิพากษ์วิจารณ์วิธีการรักษาของแพทย์ทุกสาขา แถมยังมีการไม่เห็นด้วยกับการรักษาของแพทย์แล้วเรียกคืนเงินอีกต่างหาก นี่คือที่มาของการเรียกคืนเงินของกรมบัญชีกลางและเป็นที่มาของการที่โรงพยาบาลไม่มีทางออกจนต้องเลือกที่จะปิดกิจการ ก่อนที่ประชาชนจะแห่กันมาเผาเพราะไม่สามารถมารับยาบรรเทาอาการป่วยไข้ได้

เท่านี้ยังไม่พอ องค์กรที่กรมบัญชีกลางจ้างมาตรวจสอบนี้ยังพยายามที่จะช่วยกรมบัญชีกลางลดทอนค่าใช้จ่ายด้วยการออกระเบียบว่า ยาตัวนั้นตัวนี้ไม่จำเป็น ออกระเบียบให้ใช้ยาในบัญชียาหลักก่อน กำหนดราคากลางของยาในบัญชียาหลัก และท้ายที่สุดกรมบัญชีกลางก็กล้าออกคำสั่งห้ามใช้ยาในบัญชียาหลักกับข้าราชการ

ขีดความสามารถแพทย์ถดถอย

คำว่าจำเป็นในการรักษาพยาบาลคืออะไร สิทธิในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดในปัจจุบันของแพทย์อยู่ที่ไหน หรือตกอยู่ในมือของกรมบัญชีกลางแทนที่จะเป็นของแพทย์ไปเสียแล้ว สิทธิที่จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุดอยู่ตรงไหน หลายคนโดยเฉพาะประชาชนทั่วไปอาจคิดว่า เป็นการดีที่จะได้สิทธิเท่าเทียม

แต่พวกเขาไม่ทราบหรอกว่า เมื่อแพทย์ไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ยาใหม่ๆ ย่อมไม่สามารถที่จะรักษาผู้ป่วยได้อย่างดีที่สุด ความก้าวหน้าทางการแพทย์ของประเทศก็กำลังจะสิ้นสุดลงตามไปด้วย เพราะทั่วโลกมียาใหม่ๆ ออกมาทุกวันและในไม่ช้าโลกจะมียาเพิ่มความเฉลียวฉลาดแล้ว แต่ประชาชนไทยไม่มีโอกาสแม้แต่จะใช้ยาแก้ปวดหรือยาใหม่ เพราะรัฐไม่ให้สิทธิในการใช้ยานอกบัญชียาหลักซึ่งมักเป็นยาใหม่และไม่มียาเลียนแบบ แต่สิทธิในการเรียกร้องเอาความผิดกับแพทย์กลับเป็นของผู้ป่วยที่นั่งอยู่ตรงหน้าแพทย์

ความเสียหายที่ยังมาไม่ถึงอีกอย่างแต่คงมาถึงในเวลาอันใกล้ก็คือ เมื่อลมหายใจสุดท้ายของโรงพยาบาลขาดห้วงลงจากการไม่มีกำไรจากการขายยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะรัฐไม่ให้สิทธิข้าราชการในการใช้ยานอกบัญชียาหลัก โรงพยาบาลก็จะไม่มีเงินจ่ายค่าแรงของเจ้าหน้าที่ ค่าน้ำค่าไฟ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ดังนั้นเมื่อคนไข้มารับบริการก็จะไม่ได้ยา ไม่ได้รับการรักษา ไม่ได้รับการตรวจ แล้วอย่างนี้้ประเทศจะหาแพทย์และพยาบาลที่ไหนมาทำงานให้

เมื่อระบบสาธารณสุขของประเทศเราไม่ก้าวหน้าจากการที่บริษัทยาต่างชาติไม่สามารถขายยาให้กับคนไทยได้เพราะกรมบัญชีกลางพยายามออกกฎระเบียบที่ไม่ให้ข้าราชการใช้ยาที่ผลิตจากบริษัทต่างประเทศ ชาวต่างชาติก็ไม่อยากมาเที่ยว มาลงทุนเพราะคนมีเงินไม่มีใครอยากมาอาศัยอยู่ในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ดี ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในประเทศแถบแอฟริกา การค้าการลงทุนของเราบ้านเราย่อมจะลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งในภาวะที่โลกมีการแข่งขันสูงเช่นในปัจจุบันที่ประเทศยักษ์ใหญ่เพื่อนบ้าน เช่น จีนและอินเดียกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ บริษัทยาต่างชาติก็จะไม่มาเสียเวลาในประเทศที่มีขนาดตลาดเล็กนิดเดียวอย่างเราอีก

อ่านถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงคาดเดาอนาคตของไทยได้อย่างไม่ต้องสงสัย

‘หมอไท ทำดี’
thaipublica.org 12 กันยายน 2011

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
Re: ฤาจะถึงกาลล่มสลายของระบบสาธารณสุขไทย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 23 กันยายน 2011, 00:51:56 »
เสียงท้วงติงจากผู้อ่าน – จดหมายถึงกองบรรณาธิการ
ดิฉัน นางสาวจอมขวัญ โยธาสมุทร นักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ดิฉันได้มีโอกาสอ่านบทความเรื่อง “ฤาจะถึงกาลล่มสลายของระบบสาธารณสุขไทย” ประกอบกับได้ทราบถึงความตั้งใจที่ดีของกองบรรณาธิการที่ต้องการตีแผ่ความจริง และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

อย่างไรก็ตามเมื่อได้อ่านบทความดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพบว่าข้อมูลที่นำมาเผยแพร่นั้นไม่มีการอ้างอิงหลักฐานที่น่าเชื่อถือหรือในบางประเด็น เป็นเพียงสมมติฐานของผู้เขียนซึ่งมิได้แสดงตน ดิฉันทำงานวิจัยระบบสุขภาพมาระยะเวลาหนึ่ง ได้ศึกษาและเห็นข้อเท็จจริงหลายอย่างที่ขัดแย้งจึงอยากเสนอมุมมองที่แตกต่างต่อประเด็นเหล่านี้ให้ทางกองบรรณาธิการพิจารณา

1. การขาดทุนของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจในเรื่องวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการโดยรัฐให้ตรงกันก่อน กิจการของภาครัฐนั้นมีวัตถุประสงค์หรือ “ผลกำไร” ที่ต้องการต่างจากภาคเอกชน ในมุมมองของผู้ให้บริการสาธารณสุขภาครัฐ เงินทุกบาททุกสตางค์ (ที่ได้จากประชาชนจากภาษีทุกประเภท) ที่ลงทุนไปนั้น ก็เพื่อ “สุขภาพ หรือ สุขภาวะ” ที่ดีขึ้นของประชาชนไทยซึ่งเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐจัดบริการขั้นพื้นฐาน การทำกำไรที่เป็นตัวเงินไม่น่าจะเป็นจุดมุ่งหมายของกิจการของภาครัฐ ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนบทความอาจเกิดความเข้าใจผิดในบทบาทของผู้ให้บริการในภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญที่จะพิจารณาเรื่องกำไรหรือขาดทุน (คำว่าเกินดุล/ขาดดุล น่าจะมีความเหมาะสมกับกรณีนี้มากกว่า กำไร/ขาดทุน เช่นเดียวกับการบริหารงบประมาณของรัฐบาล)

หากพิจารณาเรื่องกำไรขาดทุนในทางบัญชีมีโรงพยาบาล 343 แห่ง (กรณีไม่นับค่าเสื่อมราคา) และ 584 แห่ง (กรณีนับค่าเสื่อมราคา) จากทั้งหมด 840 แห่ง มีรายรับจากงบประมาณ น้อยกว่ารายจ่ายจริง [1] อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว พบปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการขาดทุนของโรงพยาบาล เช่น ที่ตั้ง จำนวนบุคลากรต่อผู้ป่วย การบริหารจัดการวันนอนของผู้ป่วย เป็นต้น

ผู้วิจัยเสนอว่าการบริหารจัดการในเรื่องของจำนวนบุคลากรของโรงพยาบาล การบริหารคลังยา และจำนวนวันที่ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลจะช่วยควบคุมจำนวนเงินที่ขาดทุนได้ [2] งานวิจัยชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ ในการบริหารกิจการของรัฐแบบเกินดุลหรือขาดดุลนั้น มีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง

ดังนั้นการด่วนสรุปว่า “เป็นเพราะมีระบบประกันสุขภาพจึงทำให้โรงพยาบาลขาดทุน” อาจดูเป็นบทสรุปที่ง่ายเกินไป ไม่ได้พิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพราะสาเหตุที่จะทำให้โรงพยาบาลขาดดุล อาจเกิดได้หลายประการดังเช่นได้กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวแท้จริงแล้วมีความซับซ้อน หากพิจารณาอย่างไม่รอบด้านอาจนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นหากพิจารณาย้อนหลังก่อนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สถานการณ์บริหารรายรับรายจ่ายที่ขาดดุลนี้ก็เกิดขึ้นในอดีตเช่นกัน

2. การตัดสินใจเรื่องชุดสิทธิประโยชน์การให้บริการทางสุขภาพ และการกำหนดรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ
ในการบริหารระบบประกันสุขภาพนั้น นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า “ทรัพยากรมีจำกัด” และสินค้าสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยา และการบริการทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในตลาดสุขภาพภาพนั้น มิใช่ทุกอย่างที่มีประสิทธิผล และคุ้มค่าสำหรับผู้ดูแลกองทุนประกันสุขภาพจะจัดหาให้กับประชาชนทุกคน ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า การให้วิตามิน/อาหารเสริมทุกชนิดที่มีขายตามท้องตลาดกับผู้ประกันตน หรือการให้บริการผ่าตัดเสริมความงาม คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี และไม่มีระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพแห่งใดสนับสนุน

ประเทศไทยมีกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ในการเบิกจ่ายยาใดๆก็ตาม ทั้งสามกองทุนจะพิจารณาจากรายการยาที่เรียกว่า “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ซึ่งเป็นรายการยาที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ การพิจารณารายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาตินั้นดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีการประกาศหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาที่ชัดเจน เช่น ความปลอดภัย ประสิทธิผล และต้นทุนต่อประสิทธิผลของยานั้นๆ ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้มีการประกาศไว้อย่างชัดเจน ตรวจสอบได้ ข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลนั้นส่วนใหญ่มาจากการทดลองเชิงคลินิกในต่างประเทศ ส่วนข้อมูลต้นทุนประสิทธิผลนั้นเป็นข้อมูลภายในประเทศ โดยปัจจุบันมีการออกคู่มือแนวทางการประเมินต้นทุนประสิทธิผลสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนนี้มาประกอบการพิจารณาคัดเลือกยา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ถูกนำมาใช้ในการคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติและเพื่อคัดเลือกบริการทางการแพทย์ต่างๆ เข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพสำหรับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (หลักการนี้ปัจจุบันไม่ได้ใช้ในกรณีชุดสิทธิประโยชน์ของสิทธิข้าราชการและประกันสังคม) โดยการประเมินดังกล่าวเป็นการพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ (ในที่นี้ใช้ผลลัพธ์ทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นและจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น) ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นการทำงานในเชิงวิชาการที่มีการกำหนดมาตรฐานอย่างชัดเจน โดยนักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน [3]

ปัจจุบันสวัสดิการข้าราชการมีการใช้งบประมาณต่อประชากรมากกว่าสวัสดิการอื่นๆ อย่างชัดเจน โดยหากพิจารณาจำนวนประชากรภายใต้ระบบประกันต่อจำนวนงบประมาณที่ใช้ไป ในปี 2551 สวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณ 58,000 ล้านบาทต่อประชากรประมาณ 5 ล้านคน (ประมาณ 11,600 บาทต่อคนต่อปี) ในขณะที่ระบบประกันสังคม ใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลสมาชิกผู้ประกันตนเป็นเงินประมาณ 17,700 ล้านบาท สำหรับประชากร 8 ล้านคน (ประมาณ 2,140 บาท ต่อคนต่อปี) และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งดูแลประชากร 47 ล้านคน มีการใช้งบประมาณ 98,700 ล้านบาท (ประมาณ 2,100 บาทต่อคนต่อปี) ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กรมบัญชีกลางจึงควรหันมาพิจารณาถึงความจำเป็นความเหมาะสมของการคัดเลือกยาและมาตรการที่เหมาะสมเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า “ทรัพยากรมีจำกัด”

3. “…เมื่อระบบสาธารณสุขของประเทศเราไม่ก้าวหน้าจากการที่บริษัทยาต่างชาติไม่สามารถขายยาให้กับคนไทยได้เพราะกรมบัญชีกลางพยายามออกกฎระเบียบที่ไม่ให้ข้าราชการใช้ยาที่ผลิตจากบริษัทต่างประเทศชาวต่างชาติก็ไม่อยากมาเที่ยวมาลงทุนเพราะคนมีเงินไม่มีใครอยากมาอาศัยอยู่ในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ดี …” (อ้างจากบทความดังกล่าว)

ผู้เขียนบทความดังกล่าวอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการให้บริการทางสุขภาพแก่ชาวต่างชาติ ในมุมมองของรัฐและประชาชนไทยผู้เสียภาษี การให้บริการสาธารณสุขในขั้นพื้นฐานนั้นควรเน้นที่ประชาชนภายในประเทศเป็นหลักมิใช่กิจการที่มุ่งหวังทำกำไรบนความขาดแคลนของประชาชนในประเทศ ประเด็นสำคัญที่พึงพิจารณาคือ สินค้าและบริการทางสุขภาพมิใช่สิ่งทอ ยางพารา หรือสินค้าเกษตรที่ผลิตได้อย่างเหลือเฟือเกินความต้องการของคนในประเทศและเพียงพอจะเป็นสินค้าส่งออก

นอกจากนั้นไม่เคยมีหลักฐานระบุว่าระบบสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ในฐานะประชาชนคนหนึ่งอยากเรียนเสนอกองบรรณาธิการให้มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลและนำเสนอข้อมูลที่มีหลักฐานวิชาการที่น่าเชื่อถือได้มาอ้างอิง มิใช่กล่าวหาด้วยอคติจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์บางกลุ่ม [4] และควรนำเสนอข้อมูลจากหลายด้าน มิเช่นนั้นก็จะไม่ต่างอะไรจากสื่อกระแสหลักที่เสนอข้อมูลเฉพาะด้าน ส่งผลให้ในท้ายที่สุดประชาชนซึ่งเป็นผู้เสพข้อมูลก็จะไม่เกิดการเรียนรู้และก็ยังคง “ไม่รู้เท่าทัน” ประเด็นสำคัญต่างๆ ในสังคมอยู่ดี

การทำให้เกิดการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะในภาคสาธารณสุขนั้น ในความเป็นจริงมีการเผยแพร่เอกสารที่มีหลักฐานเชิงวิชาการสนับสนุนอยู่มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวิจัยที่มีระเบียบวิธีที่ถูกต้อง มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ มีที่มาที่ไป มักไม่ใช่บทความที่เลื่อนลอย ผู้อ่านสามารถค้นหาได้ไม่ยากจึงอยากให้นำเสนอแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือก ไม่อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มักง่ายและเลือกเสพข้อมูลเฉพาะที่อยู่ตรงหน้าหรือที่นำมาป้อนให้ถึงที่เพียงอย่างเดียวซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ในสังคมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเรื่องสุขภาพซึ่งตามธรรมชาติมักเป็นข้อมูลที่มีปัญหาเรื่องความไม่สมบูรณ์ของการรับข้อมูลอยู่มาก

ทั้งนี้ดิฉันได้แนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพของไทยทั้งที่ตีพิมพ์ในวารสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้พิจารณา หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้นะคะ (ค้นหาเอกสารเพิ่มเติม http://kb.hsri.or.th/dspace/)

จอมขวัญ โยธาสมุทร

1. รายงานสถานการณ์การคลังและประสิทธิภาพของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไตรมาส 4
(กรกฎาคม – กันยายน 2553), สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย.2554

2. สุรฉัตร ง้อสุรเชษฐ์ และอรรถพล ศรเลิศล้ำวาณิช,รายงานการวิจัยเรื่อง การศึกษาลักษณะของโรงพยาบาลในประเทศไทยที่มีผลดำเนินการขาดทุนหรือกำไร หลังจากปีแรกของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ภาควิชาบริหารเภสัชกิจ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.2547

3. คู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย 2551

4. ในการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ “ผลประโยชน์” ไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ดังนั้นผู้เล่นทุกคนในระบบสุขภาพรวมถึงประชาชนเองก็ล้วนเป็นผู้ได้และเสียผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายสาธารณสุขทั้งนั้น

thaipublica.org 22 กันยายน 2011