ผู้เขียน หัวข้อ: ภาพรวมปัญหาของระบบสาธารณสุขไทย..... สปสช คือ ปัญหา?  (อ่าน 8293 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด

ภารกิจดั้งเดิมของ สปสช.

สปสช.ถูกจัดตั้งโดยรัฐบาลไทยรักไทย  เดิมถูกมอบหมายให้เป็นหน่วยงานกลาง  รับเงินจากรัฐแบบเหมาจ่ายรายหัว  ไปส่งมอบให้สถานพยาบาลคู่สัญญา  เพื่อทําการรักษา  ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น  สปสช.จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด   ดังนั้นภารกิจของ สปสช.จึงไม่ต่างอะไรกับบริษัทประกันสุขภาพทั้งหลาย คือรับเงินเหมาจ่ายจากผู้เอาประกัน  และนํามาถัวเฉลี่ยให้กับผู้เอาประกันบางคนเมื่อเจ็บป่วยและเบิกค่ารักษาผ่านมือของสถานพยาบาล  ดังนั้นภารกิจของสปสช.ที่ถูกต้องจึงควรเป็นดังนี้

-  จ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลทันทีที่ได้รับเงินจากรัฐ  โดยการเกลี่ยไปให้ตามหลักเกณฑ์ที่สถานพยาบาลโดยความเห็นชอบของ รมต.

-  จ่ายเงินตามความเป็นจริง(Real cost) ให้กับสถานพยาบาล

-  บริหารงานแบบ “องค์กรไม่หวังผลกําไร” หรือ non - profit organization แบบที่medicare หรือ  bluecross  ของต่างชาติทํา  คือ มุ่งหวังการรักษาโดยใช้งบบริหารให้น้อยที่สุดเท่าที่จําเป็น เงินส่วนที่เหลือ(หากมี)ต้องส่งคืนรัฐบาล  เพราะเป็นเงินภาษี  หากต้องการเงินเพื่อกระทํากิจการใดนอกเหนือภารกิจการส่งมอบเงินให้สถานพยาบาล ต้องทําเรื่องขออนุมัติรัฐบาลเป็นกรณี ๆ ไป 

ช่วงสามปีแรกของการก่อตั้งและดําเนินงาน  นพ.สงวน  นิตยารัมพงษ์  ได้ดําเนินการคล้ายวิธีการดังกล่าว คือ  นําเงินที่ได้มาจ่ายให้สถานพยาบาลคู่สัญญาผ่านทางสสจ.  และสสจ.ก็จัดสรรเงินไปยังแต่ละสถานพยาบาล  การจัดสรรเงินมากน้อยขึ้นกับสสจ.จะพิจารณาภารกิจและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละสถานพยาบาล  หากมีเงินคงเหลือ  สสจ.ก็จะเกลี่ยไปให้สถานพยาบาลเพื่อไปใช้ในภารกิจการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลโดย รมต.มอบหมายผ่านปลัด  จะเห็นว่าการดําเนินการดังกล่าวควรจะเป็นการกระจายอํานาจภารกิจจากบนลงล่าง    คือ
รัฐบาล  ...... รมต.สธ. .....ปลัด  ..สปสช(คนกลางรับเงิน)....... สสจ.... สถานพยาบาล

สิ่งที่สปสช.ปฏิบัติในทุกวันนี้และเป็นต้นเหตุแห่งปัญหา

เมื่อหมดยุค นพ.สงวน ไล่ ๆ กับยุคท้ายของไทยรักไทย  คั่นด้วยยุครัฐบาลรัฐประหาร  และยุคใหม่ของรัฐบาลประชาธิปัตย์  ก็เกิดการผลัดใบและกุมอํานาจใหม่หมดในสปสช.พร้อม  ๆ  กับการจัดตั้งเครือข่ายของ NGO ด้วยการจดทะเบียนองค์กรแบบ fast  track ไว้รอรับเงิน   มีการจัดตั้งองค์กรลูกมากมายเพื่อมารองรับช่องทางการใช้เงินมหาศาลโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบ   แต่เนื่องจากกฎหมายหลักประกันสุขภาพเดิมไม่สามารถปรับแก้ไขให้มีช่องทางใช้เงิน  หรือ ผ่องถ่ายเงินได้ง่าย  จึงได้จัดตั้งองค์กรลูกดังกล่าวขึ้นมา 

ทุกวันนี้เราจึงเห็นภาพสปสช.  จับมือกับ  สสส.  สช.  สวรส.  ทําภารกิจโดยการผ่องถ่ายเงินไปมา  โดยอ้างว่าเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านสาธารณสุขของประเทศ  เมื่อสปสช.ต้องการ  ข้อมูลอะไร  สวรส.จะจัดข้อมูลทางวิชาการที่ไม่ถูกต้องตามหลักระเบียบวิจัยมาให้   เมื่อสช.จะดําเนินนโยบายอะไร ก็จะไปจัดเวทีโดยเริ่มจากประชาชนในกลุ่มที่ถูกชักจูงได้ง่ายเพราะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการได้ยากกว่าประชาชนอีกลุ่มหนึ่ง    หรือไม่ก็จัดเวทีสัมมนาโดย NGOเคลื่อนไหวรวบรวมคนมาเข้าร่วมโดยมอบเงิน “ ค่าเดินทาง  ค่าอาหาร  ค่าเหนื่อย ” ให้(เงินดังกล่าวมา จากไหน??)   เมื่อสช.ต้องการรณรงค์ให้เกิดภาพทางกว้างก็จะนําเงินที่ได้ไปซื้อโฆษณา ลงนสพ. ออกทีวี พิมพ์หนังสือรูปปกสวยงาม  เงินดังกล่าวมาจากไหน?  ทําไมกระทรวงสธ.ไม่มีเงินทําแบบนี้บ้าง  ?  สช. และ สปสช. ทําไมมีเงินมากมายไปอุดหนุนเพื่อลงโฆษณาผ่านสื่อสารมวลชนที่ต้องใช้งบประมาณสูง  แต่กระทรวงสธ.ไม่มี  ทําไมความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากระทรวงหรือปลัดที่มีต่อสื่อ  จึงไม่ราบรื่นเหมือนความสัมพันธ์ที่เครือข่ายเหล่านี้มีกับสื่อ....คําตอบ คือ  เงินที่มีใช้อย่างจํากัดและถูกควบคุมด้วยระเบียบราชการและสํานักงบประมาณ !!!! ในขณะที่เครือข่ายเหล่านี้ล้วนเป็นองค์กรอิสระ ไม่ต้องถูกควบคุมใด ๆ 

กลับมาที่ภารกิจที่ สปสช.กระทําต่อสถานพยาบาลหลังหมดยุคนพ.สงวน

-  ไม่จ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลทันที  แต่ใช้วิธีกอดเงินไว้กับตัวก่อน  (ให้สถานพยาบาลรักษาไปก่อน  และค่อยส่งบิลให้พิจารณาจ่ายภายหลัง)  ซึ่งในทางปฏิบัติคือ  สถานพยาบาลได้รับเงินไม่เต็มจํานวนที่จ่ายจริง  หรือ  แม้แต่ไม่ได้เลย  ทําให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพการรักษา  เกิดความเสียหายต่อผู้ป่วย และต่อบุคลากร แต่ สปสช. กลับโทษว่าเป็นความผิดของ    ผู้รักษาและให้รีบจัดตั้ง “พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย  ฯ”  ขึ้นโดยเร็ว  (แน่นอนว่า  ร่างพรบ. นี้ได้มีองค์ประกอบร่วมทั้งแปดอย่างในpart 1ครบทั้งหมด) 

-  ตั้งเงื่อนไขการจ่ายเงินให้ยากขึ้น โดยอ้างว่าต้องการควบคุมค่ารักษา

-  วิธีการจ่ายเงินให้ยากทําโดยอ้างหลักเกณฑ์ต่างประเทศ  เช่น การใช้ DRG,  RW,  LOS  แต่หลักเกณฑ์นี้ถูกปรับเปลี่ยนโดยสปสช.และเครือข่าย(สวรส.)  เพื่อให้ได้ตัวเลขการจ่ายที่ต่ำไว้ก่อน (คํานึงเรื่องเงิน ก่อนคุณภาพการรักษา ซึ่งสวนทางกับวิธีปฏิบัติงานของแพทย์ ที่คํานึงเรื่องคุณภาพและชีวิตผู้ป่วย เรื่องเงินเป็นเรื่องรอง) 

- สร้างภาระให้บุคลากรต้องกรอกข้อมูลมากมาย  หากไม่ครบหรือกรอกไม่ตรงกับที่ตนสั่งก็จะไม่ให้เงินกับสถานพยาบาล  โดยอ้างว่าจะนําข้อมูลไปพัฒนาระบบสาธารณสุข  แต่ทุกวันนี้ระบบสาธารณสุขของรัฐกลับสาระวันเตี้ยลง  มีแต่ข่าวไม่พอใจการรักษา  ในขณะที่รพ.เอกชนเต็มไปด้วย ต่างชาติบินมารักษาเพราะมั่นใจในคุณภาพการรักษาของเอกชนไทย 

-  วิธีดังกล่าวทําให้เกิดภาพออกมาในทางสาธารณะว่า  “รพ.ในสังกัดสปสช.  เป็นโรงฆ่าสัตว์”  เข้าถึงง่ายแต่รักษาไม่ดี  แพทย์ชุ่ย  พยาบาลแย่  เพราะที่สถานพยาบาลไม่เคยมีตัวแทน  สปสช.มาออกร่วมรักษา ประชาชนเห็นแต่คนรักษาไม่เห็นคนกุมเงินและวางนโยบาย จึงต้องด่าคนรักษาไว้ก่อน

-  ในความเป็นจริงโรคที่ซับซ้อนจะมีต้นทุนมาก  เพราะต้องอาศัยเทคโนโลยีสูง  แพทย์หลายคน พยาบาลหลายกะ  ยาราคาแพง  อวัยวะเทียมพิเศษ  เครื่องพยุงชีพราคาแพง  แต่เมื่อนําวิธีคิดเงินแบบ DRG,  RW,  LOSมาใช้  รพ.กลับได้เงินต่ำกว่าความเป็นจริงมาก    จากเดิมรพ.เคยเบิกได้ตามความเป็นจริง  ต้นทุนจริง  กลายเป็นต้องขาดทุน  และเป็นห่วงโซ่อุบาทว์(vicious  cycle)  ที่ดําเนินมาเป็นสิบปี  จนมาปะทุเอาเมื่อมีข่าวว่ารพ.ในสังกัดหลายแห่งกําลังล้มละลาย   

ทุกวันนี้จึงเกิดภาพการปฏิเสธการรักษาทางอ้อม  โดยเฉพาะโรคซับซ้อนที่ต้นทุนสูง    เพราะวิธีที่จะลดต้นทุนในระบบ DRG คือ  LOS ต้องสั้น  จํานวนผู้รับบริการต้องลด  หากทําแล้วหรือทําไม่ได้ ก็ต้องไปลดต้นทุนอื่นคือค่าบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึง  เงินเดือน ค่าจ้างบุคลากร ทําให้คุณภาพการรักษาตกต่ำ รพ.จึงแปรสภาพกลายเป็นโรงฆ่าสัตว์  และเมื่อเกิดปัญหาคุณภาพการรักษา ทําให้คนไข้ร้องเรียน   สปสช.ก็แก้ปัญหาด้วยการผลักดันให้มี “(ร่าง)พรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย  ฯ”  โดย หวังให้มีกองทุนใหม่อีกกอง และสนับสนุนคนในเครือข่ายไปเป็นกรรมการในร่างพรบ.ใหม่นี้ 

-  สปสช.บริหารงานแบบหวังผลกําไร เพียงแต่ไม่แสดงตัวเลขออกมาให้ทราบ ปัญหาคือทําไมสปสช.ต้องหวังผลกําไร  เงินที่เหลือเอาไปทําอะไร  เพราะภารกิจของสปสช.มีไว้เพียงแค่เป็นคนกลางจัดสรรเงินแทนกท.สธ.  เท่านั้น แต่ทําไมต้องไปสรรหาวิธีจ่ายเงินให้น้อยลงและล่าช้าขึ้นมา ..นี่คือ  คําตอบว่าทําไมคนของสปสช.และเครือข่าย  NGO  ต้องรณรงค์ให้จัดตั้งสารพัดกองทุน  สารพัดองค์กรอิสระที่อยู่นอกเหนือการควบคุมในระดับนโยบายของรัฐ    พูดง่าย  ๆ  คือ  สปสช.  ต้องการเงินและอํานาจ  โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งแบบสส.หรือสว.  ไม่ต้องรายงานปปช.แบบสส.  ไม่ต้องแข่งขันแย่งตําแหน่งรมต.แบบสส.  (โดยการนั่งไขว้ไปมาระหว่างองค์กรเครือข่าย)

-  ทุกวันนี้จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทําไมเครือข่ายNGOที่เป็นข่าวในสื่อมวลชน  จึงมีแต่ NGO สายสาธารณสุขเป็นหลัก และ   เป็นคนหน้าเดิมทั้งสิ้น เพราะเงินในระบอบสปสช . สวรส. สช.และอื่น ๆ มีมหาศาล  ยังไม่นับหากสามารถไปดูดเงินจาก  ประกันสังคม  หรือ  กองทุนคุ้มครองผู้เสียหาย  จะมีเงินให้กินให้ใช้นับไม่ถ้วน     

-  นอกจากนี้เมื่อย้อนดูความสัมพันธ์กลุ่มผู้เคลื่อนไหว  จะเห็นว่าทุกครั้งจะเริ่มด้วยการรณรงค์ว่าเกิดปัญหาโน้น  ปัญหานี่  เป็นปัญหาใหญ่โต  รณรงค์ซ้ำไปมาด้วยเรื่องเดิมให้กลายเป็นข่าวใหญ่เพื่อจุดกระแส  แล้วตามมาด้วยสปสช.หรือสช.ออกมารับลูก    หากนักวิชาการหรือผู้มีความรู้เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะให้สวรส.ออกเอกสารวิชาการมารองรับดักทางไว้ก่อนทันที  หรือหากไม่สําเร็จก็จะใช้ภาพของแพทย์ชนบทบางคนออกมาเคลื่อนไหว เรียกว่าแยกกันเดิม รวมกันตี เพื่อบีบรมต.หรือปลัด หรือ  รัฐบาลให้คล้อยตาม  หากไม่สําเร็จก็จะแปรเปลี่ยนจากมิตร  หรือคนกลางๆ  กลายเป็นศัตรูที่จ้องโค่นตําแหน่ง  แบบที่รมต.ในพรรคประชาธิปัตย์โดนมาก่อนแล้ว  ทําให้รมต.คนหลังต้องยอมตามทุกเรื่อง

-  ทุกวันนี้สปสช.กลายเป็นบริษัทประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุด  และมีผลกําไรดีที่สุด  ผู้บริหารและกรรมการได้รับผลตอบแทนในรูปตัวเงินและมิใช่ตัวเงินทั้งทางตรงและอ้อมอย่างมากมายกลายเป็น  บริษัทประกันของรัฐที่หวังผลกําไร  (profit)  และที่ดีกว่าคือ  ไม่ต้องกังวลว่าจะล้มละลาย(เพราะหากล้ม จะหมายถึงรัฐบาลล้มตาม) ไม่ต้องฝึกอบรมตัวแทนขายประกัน แถมยังมีอํานาจควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพได้ทางอ้อมด้วยกลไลบีบบังคับเรื่องตัวเงิน  ซึ่งไม่มีบริษัทประกันที่ไหนในโลกทําได้  และความใหญ่โตของสปสช.ทําให้รัฐบาลยุคต่อมาไม่กล้าแตะต้องเพราะภารกิจสปสช.สามารถนําไปใช้หาเสียงได้โดยง่ายเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคนโดยตรงจะเห็นว่าการดําเนินการดังกล่าว  แปรเปลี่ยนจากการกระจายอํานาจเป็นการรวบอํานาจมาอยู่ที่สปสช.โดยอาศัยเงินเป็นเครื่องมือควบคุม ดังนี้ 
รัฐบาล ...สปสช(คนกลางรับเงิน).....รมต.สธ. .....ปลัด  .... สสจ..... เครือข่ายสปสช...สถานพยาบาล

    เมื่อดูแผนผังข้างต้น  จึงอย่าได้แปลกใจว่าทําไมที่ผ่านมาถึงมีข่าวว่า ในอนาคต กท.สาธารณสุขจะถูกยุบ ทําไมบุคลากรสาธารณสุขที่ไม่อยากเหนื่อยกับงานรักษา  ถึงมีการโอนย้ายไปอยู่สปสช.และเครือข่ายจํานวนมาก  ทําไมถึงมีความพยายามผลักดันสถานพยาบาลไปให้อบต.  อบจ.  ดูแลทั้งหมด  โดยไม่ต้องผ่านกท.สาธารณสุข  แต่ที่น่าแปลกใจคือ รมต.และปลัดในทุกยุคกลับทําเป็นทองไม่รู้ร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้น  เหมือนกับพอใจในตําแหน่งปัจจุบัน  เรื่องในอนาคตคงไม่มาบรรจบในยุคสมัยตน  คล้ายกับเหมือนเมื่อครั้งจะเสียกรุง  ที่ขุนนางต่างพอใจในอํานาจราชศักดิ์ของตน ไม่คิดว่าจะมาเสียกรุงในขณะตนเองยังมีชีวิตอยู่

ภารกิจที่ไม่ได้มอบหมายแต่สปสช.กลับอยากทํา

- จัดสรรโครงการvertical program เช่น เปลี่ยนเลนส์ตาหมื่นคู่ เปลี่ยนไตหมื่นข้าง เปลี่ยนตับหมื่นอัน  จัดสรรยาต้านเอดส์ฟรี  ล้างไตด้วย..ฟรี  โปรแกรมเหล่านี้คือการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลกระทํากันอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีสปสช.  เพราะเป็นมาตรฐานการรักษาที่แพทย์พยาบาลต้องกระทําตามหน้าที่อยู่แล้ว   แต่เหตุที่สปสช.ต้องออกโปรแกรมเหล่านี้  ก็เพราะเป็นโปรแกรมการใช้เงินที่เหลืออยู่  (ทั้ง  ๆ  ที่รพ.ขาดทุน)    และโปรแกรมเหล่านี้เองก็เป็นการฟ้องสปสช.ไปในตัวว่า  ทุกวันนี้มีการรักษาพยาบาลบางอย่างที่สถานพยาบาลไม่สามารถทําได้เพราะไม่มีเงิน  เนื่องจากสปสช.กั๊กเงินไว้    หากต้องการรักษาพยาบาล  สถานพยาบาลก็ต้องหาเงินมารักษาเอง(แต่สปสช.ได้หน้า) ผลคือ “เงินบํารุง” มีสถานะติดลบลงเรื่อย ๆ ตามมาด้วยข่าวรพ.ล้มละลาย

การกันเงินดังกล่าวมาบริหารจัดการภารกิจพิเศษดังกล่าวยังรวมถึงการจัดซื้อยา  เครื่องมือแพทย์  วัคซีน โดยอ้างว่าเพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุด  โดยไม่สนใจคุณภาพหรือคําคัดค้านผู้ประกอบวิชาชีพว่าเป็นการละเมิดดุลพินิจการรักษา  และทําให้คุณภาพการรักษาตกต่ำ  เพราะหากไม่ทําตามที่สปสช .  กําหนด  รพ.ก็จะเบิกเงินจากสปสช.ไม่ได้  ต้องควักเงินจ่ายกันเอง   และที่ผ่านมาก็มีข่าวออกมาเป็นระยะว่า  ยาหรือเครื่องมือที่สปสช.จัดซื้อมาเอง มีคงค้างจนหมดอายุหรือเสียหายเพราะผู้ประกอบวิชาชีพไม่ยอมใช้เนื่องจากมีปัญหาเรื่องคุณภาพ

-  คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกระเบียบให้เลขาธิการสปสช.มีอํานาจจ่ายเงินได้ครั้งละ  1,000  ล้านบาท  รวมทั้งสนับสนุนโครงการพิเศษต่างๆ  เช่นการจัดงบประมาณสนับสนุนให้สมาชิกชมรมแพทย์ชนบทไปดูงานที่แอฟริกาใต้  รวมทั้งจัดการอบรมต่างๆซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของสปสช.เช่น  การใช้เงินกองทุนโรคเอดส์ในการฝึกอบรมโดยมีเจ้าหน้าที่ของสปสช.เข้ารับการอบรมด้วย

-  สร้างภารกิจพิเศษผ่านทางองค์กรเครือข่าย  เช่นการรณรงค์สารพัดโครงการสุขภาพ  ซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของสธ.   แต่สธ.ไม่มีเงินทํา    ภารกิจเหล่านี้ทําให้สามารถผ่องถ่ายเงินออกนอกสปสช.ไปยังพวกพ้องได้ โดยอ้างว่าเป็นภารกิจเพื่อสุขภาพประชาชน   แต่เมื่อตามไปดูพบว่าเงินเหล่านี้บางส่วนถูกใช้จ่ายในการส่งคนของตนไปดูงานต่างประเทศ ไปเป็นทุนไปเรียนต่อสาขาบริหาร  โดยผู้ถูกคัดเลือกต้องเป็นคนที่เห็นด้วยกับแนวทางสปสช.เท่านั้น    มีการจัดตั้งเครือข่ายผู้นําที่เรียกว่า  “คสน.”  เพื่ออบรมความคิด  คล้ายกับเครือข่ายขายตรงหรือเครือข่ายธุรกิจนั่นเอง  เพื่อสร้างคนมารองรับตําแหน่งในอนาคต  หากเห็นคนหน่วยก้านดี  มีแนวคิดเข้าได้กับตนก็จะให้ทุนส่งไปเรียนบริหารต่อเมืองนอก โดยไม่ต้องมีการคัดเลือกแบบ กพ. 

ปัญหาที่สปสช.สร้างและไปกระทบต่อภาพรวมสาธารณสุข

ประเด็นรวมกองทุน  ประกันสังคม  ข้าราชการ  ให้กลายมาเป็นของสปสช.ทั้งหมด  เป็นประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงไม่แพ้กับเรื่องพรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย  ฯ    ทุกวันนี้ทราบดีว่าภาพรวมรพ.ในสังกัดสปสช.  (สธ.)  เกือบทั้งหมดอยู่ในภาวะตัวเลขติดลบรอล้มละลาย  ที่ผ่านมาปัญหาถูกแก้แบบดินพอกหางหมู  โดยการเอาเงินต่อเงินแบบชั่วคราว เหมือนวิธีแก้  ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก   รพ.ที่ติดลบบางแห่งได้เงินในอนาคตที่สปสช.ไปเร่งรัดรัฐบาลให้นําเงินฉุกเฉินออกมาให้อุดรอยรั่ว  (แต่สปสช.เองกับมีเงินเหลือในกระเป๋าหลายหมื่นล้าน  ....  เก็บไว้ทําไม ?) บางรพ.ก็ได้เงินจากเงินบํารุงที่ยังพอมีเหลือของอีกรพ.มาใช้อุดตัวเลขสีแดง   หลายรพ.ติดหนี้บริษัทยา จนบริษัทต้องหยุดส่งยาและขึ้นบัญชีดํารพ. (ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทย) 
ทุกวันนี้สปสช.จึงมีอํานาจมากกว่ากระทรวงสาธารณสุขหรือแม้แต่ครม.เสียอีก    เลขาธิการสปสช.มีอํานาจและเงินเดือนมากกว่า  ปลัดหรือรมต.สธ.(แต่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ) รมต.สั่งการสปสช.ได้แต่สปสช.มีสิทธิปฏิเสธโดยอาศัยมติบอร์ด ที่แม้แต่ปลัดหรืออดีตรมต.สธ.ก็ได้แต่ทําตาปริบ ๆ 

มีการสัมมนาต่างกรรมต่างวาระหลายอย่างโดยหลายองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องในแง่ผลประโยชน์กับสปสช.
ได้ข้อสรุปที่คล้ายกันดังนี้

1.ควรแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.  2545  โดยให้สปสช.ลดบทบาทมาเป็นระดับกรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งจะทําให้สามารถควบคุมและตรวจสอบได้  และจะช่วยลดงบประมาณการบริหารสํานักงานรวมทั้งกําหนดค่าตอบแทนบุคลากรในสปสช.ให้เหมาะสม

2.นําบุคลากรสาธารณสุขที่ได้จากการลดบทบาทดังกล่าว  มาทํางานบริการที่ถูกต้องตามสายงานวิชาชีพที่ได้เรียนมา  เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่รัฐต้องเสียไปเพื่อให้คนเหล่านี้มาเป็นบุคลากรสาธารณสุขของประเทศ  เพราะทุกวันนี้บุคลากรที่ต้องปฏิบัติจริงล้วนแต่มองคนเหล่านี้ว่า “ทํานาบนหลังเพื่อนร่วมวิชาชีพ”   

3.ระบบการจัดสรรงบประมาณควรมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ 
3.1แยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบบริการที่ให้กับสปสช.
3.2การจ่ายงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยควรจ่ายตามที่เป็นจริง

4. ควรมีระบบร่วมจ่าย (copayment) คนจนฟรี คนไม่จนต้องร่วมจ่าย ทั้งนี้ เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการจัดบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสําหรับประชาชนทุกคน โดยที่โรงพยาบาลไม่อยู่ในสภาพขาดทุนและขาดสภาพ    คล่อง เช่นนี้

5. ควรแยกบุคลากรสาธารณสุขออกจาก กพ. และให้ กสธ.จัดสรรตําแหน่ง เงินเดือน ค่าตอบแทนให้เหมาะกับภาระหน้าที่ ได้โดยตรง   

โดย ลี้ คิม ฮวง

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
เบี้ยประชุม ประธาน+(อนุ)กรรมการ สปสช



milozxx

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
อ่านแปปเดียวตาลายเลยคับพี่!!!!