ผู้เขียน หัวข้อ: คลังทุ่ม2.5หมื่นล้าน/ปี ขึ้นเงินเดือนขรก.1เม.ย.55 ลุยกองทุนหมู่บ้าน7หมื่นล.  (อ่าน 1731 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
คลังดีเดย์ 1 เม.ย.55 ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบใช้งบ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี “วิรุฬ” เผยปรับทุกวุฒิการศึกษาให้เท่าเทียมกันทุกคน ส่วนรากหญ้าไม่น้อยหน้า “ธีระชัย” สั่งออมสิน - ธ.ก.ส.อัดฉีดอีก 7 หมื่นล้านบาทเข้ากองทุนหมู่บ้านพร้อมประสานงานแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนต่อไป
       
       นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยืนยันจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในสัปดาห์หน้าเพื่อปรับรายได้ให้แก่บุคลากรภาครัฐ ได้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราวที่จ้างจากเงินงบประมาณรายจ่าย และทหารกองประจำการ โดยในระยะสั้นจะจ่ายเป็นเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ก่อน โดยจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 สำหรับการปรับโครงสร้างฐานเงินเดือนทั้งระบบมอบหมายให้กรมบัญชีกลางร่วมกับสำนักงาน ก.พ. พิจารณาดำเนินการต่อไป โดยในวันที่ 1เมษายน 2555 จะสามารถดำเนินการครอบคลุมได้ทั้งระบบ
       
       นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) โดยมีข้อสรุปว่าการปรับขึ้นเงินเดือนจะมีประโยชน์ต่อข้าราชการมากกว่าการเพิ่มค่าครองชีพแต่ปัญหาในการดำเนินการในแนวทางปรับขึ้นเงินเดือนนั้นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) เงินเดือนข้าราชการพลเรือน ซึ่งต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้นจึงอาจจะล่าช้าและไม่สามารถดำเนินการได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2555 ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ได้
       แนวทางที่จะหาทางออกได้ดีที่สุดที่ทั้งกรมบัญชีกลางและก.พ,เห็นตรงกัน คือ การดำเนินการสองแนวทางควบคู่ โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป กรมบัญชีกลางจะจัดสรรเงินเพิ่มค่าครองชีพให้แก่ ข้าราชการวุฒิปริญญาตรี ให้มีรายได้ต่อเดือน 15,000 บาท และข้าราชการวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีให้มีรายได้ 9,000 บาทต่อเดือนไปก่อน ซึ่งจะใช้งบประมาณในปีงบประมาณรายจ่าย 2555 ประมาณ 24,533 ล้านบาทตามเดิม
       
       ขณะเดียวกัน สำนักงานก.พ. ก็จะทำเรื่องเสนอรัฐบาลแก้ไขกฎหมายปรับฐานเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ โดยผ่านกระบวนการรัฐสภา ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้เวลาพอสมควร โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 เมษายน 2555 ซึ่งเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ การจ่ายเงินค่าครองชีพก็จะทยอยลดลง และกลับมาเป็นการจ่ายเงินเดือนแทน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้าราชการจะไม่ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ต่อเดือน
       
       อย่างไรก็ตาม ตามที่ ก.พ.ได้นำเสนอในที่ประชุมเรื่องการปรับฐานเงินเดือนนั้น จะไม่ใช่การปรับเงินเดือนขึ้นในคราวเดียวเป็น 15,000 บาท แต่จะเป็นการทยอยปรับฐานเงินเดือนจาก 9,140 บาท เป็น 12,000 บาทในปี 2555 และ 13,000 บาทในปี 2556 และ 14,000 บาท ในปี 2557 และ 15,000 บาทในปี 2558 ซึ่งในระหว่างที่การปรับฐานเงินเดือนยังทำให้รายได้ของข้าราชการไม่ถึง 15,000 บาทนั้นจะใช้การจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพร่วมไปก่อนเพื่อให้มีรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งในแง่งบประมาณ ถือว่าใช้เงินที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่ในแง่ของภาพรวมของระบบจะมีความยุติธรรมต่อผู้ที่เข้ามาก่อน และจะมีการทยอยปรับเงินเดือนของวุฒิปริญญาโท และเอกตามไปด้วย
       
       นายวิรุฬกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปที่มีอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึง เดือนละ 15,000 บาท ให้รับ พ.ช.ค. เพิ่มอีก เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้วเท่ากับ 15,000 บาท
       
       2. ผู้สำเร็จการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ที่มีอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างไม่ถึง เดือนละ 9,000 บาท ให้รับ พ.ช.ค. เพิ่มอีก เมื่อรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้วเท่ากับ 9,000 บาท 3. ทหารกองประจำการซึ่ง เดิม เงินเดือนในระดับ พ.1 รวมกับเบี้ยเลี้ยงประจำตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม และ พ.ช.ค. อัตราขั้นต่ำเดือนละ 8,610 บาท ให้เพิ่มเป็น 9,000 บาท ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป
       
       จากนโยบายดังกล่าวมีบุคลากรภาครัฐได้ประโยชน์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 649,323 คน คิดเป็นเงินงบประมาณปี 2555 จำนวน 18,396 ล้านบาท และใช้เงินต่อปีเป็นเงิน 24,533 ล้านบาท
       
       ***รากหญ้าไม่น้อยหน้าอัดฉีด 7 หมื่นล.
       
       นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินกองทุนหมู่บ้านเพิ่มแห่งละ 1 ล้านบาท ทั้ง 7 หมื่นหมู่บ้าน รวมเป็นเงิน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเบื้องต้นให้ใช้เงินทุนของธนาคารจ่ายไปก่อน เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณ แต่ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กองทุนหมู่บ้านนั้น ให้ทั้ง 2 ธนาคารจัดทำกระบวนการจ่ายเงิน โดยให้กองทุนหมู่บ้านต้องมีระบบการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือชุมชนในหมู่บ้านตามหลักการพี่ช่วยน้อง
       
       รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการหนี้นอกระบบไว้แล้ว โดยได้เปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบถึง 1.1 ล้านราย รวมเป็นมูลหนี้ 1.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้มีประชาชนถอนตัวยออกไปบ้าง 4.6 แสนราย ส่วนที่เหลือเข้าร่วมโครงการ 5.8 แสนราย รวมมูลหนี้ 6.7 หมื่นล้านาท ซึ่งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเข้าไปแก้ไขและปล่อยสินเชื่อแล้วรวมเป็นเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงเห็นว่าการให้เงิน 1 ล้านบาทแก่กองทุนหมู่บ้านไปดำเนินโครงการดังกล่าวต่อนั้น น่าจะเพียงพอ
       
       “โดยหลักการแล้ว จะใช้ลักษณะของพี่ช่วยน้อง เพื่อให้คนในชุมชนนั้นชักจูงประชาชนที่เป็นหนี้ให้เข้ามาสู่การเป็นหนี้ในระบบ มีวินัยทางการเงินมากขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งนี้จะให้ธนาคารทั้ง 2 แห่งดังกล่าวจัดตั้งเคาน์เตอร์รับเรื่องเฉพาะหนี้นอกระบบขึ้นมา โดยประสานงานต่อไปยังสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน (สพช.) หรือสำนักปากท้อง ของกระทรวงการคลังให้พิจารณาอนุมัติ” นายธีระชัยกล่าว.

ASTVผู้จัดการรายวัน    9 กันยายน 2554