ผู้เขียน หัวข้อ: การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน...เพื่อใคร? (P4P for Who?)  (อ่าน 4553 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด


ปัญหาที่เรื้อรังหมักหมมมานานในกระทรวงสาธารณสุขมีอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาเรื่องของบุคลากร ที่ขาดทั้งปริมาณ(ในทุกสาขาวิชาชีพ) และคุณภาพประสิทธิภาพ(ขวัญกำลังใจในการทำงาน) ปัญหานี้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถรักษาคนให้อยู่ในระบบราชการได้  ไม่สามารถกระจายบุคลากรไปยังพื้นที่ต่างๆได้อย่างเหมาะสม มีการไหลออกไปสู่ภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง  และการกระจุกตัวของบุคลากรในบางพื้นที่ ที่ผ่านมามีการออกมาตรการบางอย่างเพื่อแก้ปัญหานี้ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ใช้ทุน หรือเพิ่มค่าตอบแทน(ในรูปแบบโอที พตส. และเงินไม่ทำเวชปฏิบัติ) แต่ดูเหมือนว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เพราะปัญหาไม่ได้ลดน้อยลงไป ในระยะหลังมีการออกระเบียบฉบับ ๔, ๖ และ ๗ ให้นำมาใช้แต่กลับเป็นปมประเด็นเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งระบบ กลับก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม สร้างความขัดแย้งภายในกระทรวง ล่าสุดมีการพูดถึงการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน และผลการปฏิบัติงาน ซึ่งหลายๆฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการแก้ปัญหานี้ แต่การออกแบบเครื่องมือในเหมาะสมแก้ปัญหาได้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันระดมสมองเพื่อให้ได้เครื่องมือที่ดีที่สามารถแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้เพียงแก้ขัดโดยไม่ได้แก้ไขเหมือนมาตรการต่างๆที่ผ่านมา มิฉะนั้นปัญหาก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป และจะเกิดปัญหาใหม่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นมาอีก

ปัญหาเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุนั้นถูกคลี่คลาย ปัญหาก็ทุเลาเบาบางและหมดไปได้ ปัญหาบุคลากรด้านสาธารณสุขมีเหตุหลายประการ ประการที่สำคัญๆที่ยังไม่ได้มีการลงมือแก้ไขอย่างจริงๆจังๆ คือ


๑. คุณภาพชีวิตของบุคลากร (Quality of Work Life)
ค่าตอบแทน ความมั่นคงปลอดภัย และความก้าวหน้าเป็นประเด็นแรกๆของคุณภาพชีวิตที่ต้องให้ความสำคัญ หากผู้บริหารไม่สามารถดูแลเรื่องเหล่านี้ให้เหมาะสม การไหลออกจากระบบไปสู่ที่ที่ดีกว่าก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ค่าตอบแทนต้องเหมาะสม และเป็นธรรม ไม่แตกต่างจากภาคเอกชนมากเกินไป ความมั่นคงและปลอดภัยในการประกอบอาชีพ รวมทั้งความก้าวหน้าในการทำงานก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของบุคลากรที่จะยอมอยู่ในระบบหรือไม่อย่างไร


๒. ความเป็นธรรมในการทำงาน (Fairness)
การทำงานไม่ว่าจะในระดับใด หากไม่มีความเป็นธรรม(ในทุกๆมิติของการทำงาน) การบริหารงานไม่โปร่งใส ก็ยากที่จะให้บุคลากรทำงานอย่างมีความสุขได้ เรื่องนี้สำคัญสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพผู้ที่มีทางเลือก เพราะสามารถเลือกที่จะไปทำงานในที่ๆมีความเป็นธรรมมากกว่า


๓. การมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็น (Hearing and Participation)
บุคลากรสาธารณสุขเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้เฉพาะด้าน เป็นผู้ที่ต้องมีความรู้ มีเกียรติ และศักดิ์ศรีในการประกอบวิชาชีพ ด้วยเหตุนี้บุคลากรจึงต้องการบริหารงานที่เปิดกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายทุกระดับ และต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกระบวนต่างๆของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง การบริหารแบบบนลงล่างอย่างเดียว(Top Down)โดยไม่เปิดโอกาสหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังย่อมทำลายความรู้สึกเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรีของบุคลากร  

หากกระบวนการออกแบบและเนื้อหาของการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานและผลของการปฏิบัติงานได้มาโดยไม่ได้ตอบโจทย์ ไม่ได้แก้ปมประเด็นทั้งสามข้างต้นแล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิมๆ ไม่ได้ก้าวข้ามปัญหาไปแต่อย่างใด เพียงแต่ก้าวลุยไปในโคลนแห่งปัญหา สภาพเลอะเทอะเปรอะเปื้อนที่มีอยู่ก็จะคงอยู่ต่อไป โอกาสดีๆที่กระทรวงสาธารณสุขจะหลุดพ้นจากสภาพแบบนี้ก็จะผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

ภาคเอกชนที่ดึงบุคลากรจากระบบราชการไปได้ ด้วยเหตุผลหลัก คือ ค่าตอบแทนที่สูงกว่า(ไม่น้อย) และเป็นธรรม โรงพยาบาลเอกชนมีค่าตอบแทนขั้นต่ำให้ แต่ไม่มีเพดาน(ขั้นสูง) ถ้าทำงานมากเท่าไรก็ได้ค่าตอบแทน(ส่วนที่เกินขั้นต่ำ)มากเท่านั้น นี่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นธรรม งานของทุกคนมีค่า และทุกคนก็มีคุณค่าด้วย การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานของกระทรวงฯที่จะออกมาใช้เพื่อดึงบุคลากรให้อยู่ในระบบก็ควรจะยึดหลักการนี้ด้วย นั่นคือการจ่ายค่าตอบแทนต้องเป็นปลายเปิด ตามภาระงานอย่างแท้จริง อัตราต้องไม่ห่างจากภาคเอกชนมากจนเกินไป นั่นหมายความว่า ระบบการคิด และจ่ายค่าตอบแทนต้องสามารถเทียบวัด(Benchmark)กับภาคเอกชนได้ด้วย (ว่ายังห่างกันมากน้อยแค่ไหน)

ความรู้สึกเป็นธรรมยังหมายถึงการที่ทำงานอย่างเดียวกันควรได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน บุคลากรในโรงพยาบาลระดับต่างกันหากทำงานที่เหมือนกัน(ชิ้นงาน) คุณค่าของงานควรเท่ากัน (พื้นที่พิเศษ และความขาดแคลนได้รับการพิจารณาต่างหากแล้ว) ไม่ควรขึ้นอยู่กับสภาพทางการเงินของโรงพยาบาล หรือแล้วแต่การตัดสินใจของผู้บริหาร เพราะไม่ใช่ความผิดของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่มีปัญหาด้านการเงิน และไม่ควรเป็นโชคชะตาของบุคลากรที่ได้ผู้บริหารที่มีความคิดต่างกัน  การจ่ายค่าตอบแทนจึงควรมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่แล้วแต่โรงพยาบาลใดจะเลือกเอาหลักเกณฑ์อย่างใดก็ได้

ความเป็นธรรมระหว่างสาขาวิชาชีพต่างๆในโรงพยาบาลก็ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือเจ้าหน้าที่ด้านอื่นๆที่ทำงานร่วมกันเป็นทีมในการดูแลรักษาผู้ป่วย ค่าตอบแทนตามภาระงานที่จะจัดสรรให้บุคลากรสาขาวิชาชีพดังกล่าวควรยึดโยงกันด้วยราคาตลาดที่เป็นจริงในปัจจุบัน (ถึงแม้จะใช้วิธีการคิดภาระงานต่างกัน) แล้วปรับให้เป็นระนาบเดียวกัน หรือกลุ่มเดียวกัน ซึ่งสามารถปรับเพิ่มหรือลดลงตามสถานการณ์ทางการเงินที่ได้รับ(จากแหล่งต่างๆ)ไปพร้อมๆกัน การแบ่งโควตาให้สาขาต่างๆโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน อ้างอิงที่มาไม่ได้ หรือแบ่งโดยเทียบเคียงกับค่าตอบแทนฉบับก่อนๆล้วนไม่ได้สร้างความรู้สึกที่เป็นธรรมให้กับบุคลากรสาขาวิชาชีพอื่นๆ

...โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กันยายน 2011, 14:05:34 โดย pradit »