ผู้เขียน หัวข้อ: เอ็นจีโอ จี้ สธ.ท้วงร่างประกาศยูเอ็น-โรคไม่ติดต่อ  (อ่าน 1553 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
จี้ สธ.ท้วงร่างประกาศยูเอ็น ข้อตกลงโรคไม่ติดต่อ หลังพบสหรัฐฯยุโรป สอดไส้ไม่ให้ซีแอลกลุ่มยาโรคไม่ติดต่อ

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  เจ้าหน้าที่องค์การหมอไร้พรมแดน เปิดเผยว่า ในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศสมาชิกสหประชาชาติในวาระการประชุมเพื่อหารือในประเด็นการป้องกันโรคไม่ติดต่อ (UN High Level Meeting on Non Communicable Diseases) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 17-22 กันยายน นี้ ที่รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในวันดังกล่าวจะมีการประกาศข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาตกลงเพื่อจัดทำร่างคำประกาศดังกล่าว โดยในประเด็นเรื่องการเข้าถึงยา ปรากฎว่าทางประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศใหญ่ๆ กลับพยายามขัดขวางไม่ให้มีการระบุถึงกลไกยืดหยุ่นในข้อตกลงทริปส์ (TRIPS' Flexibilities) ในการประกาศบังคับสิทธิ์ ที่มีไว้เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถใช้ในยามจำเป็น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาและ แก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ 

ทั้งนี้ข่าวล่าสุดแจ้งว่า ในข้อความของร่างประกาศที่จัดทำนี้ ทางสหรัฐและสหภาพยุโรป ไม่ยอมให้มีการระบุถึงข้อตกลงทริปส์เลย โดยพยายามบ่ายเบี่ยงว่า กลไกยืดหยุ่นต่างๆมีไว้สำหรับการแก้ปัญหาโรคติดต่อเท่านั้น คือ โรคเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรคเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง แถมยังพยายามโกหกในประเด็นนี้ทุกเวที

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราเริ่มวิตกกังวล เพราะหากมีการประกาศข้อตกลงดังกล่าวจริง จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อในหลายประเทศได้ ซึ่งโรคไม่ติดต่อเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา และเท่าที่ทราบ ขณะนี้ทางตัวแทนไทยที่เข้าร่วมจัดทำร่างประกาศนี้ ทำท่าที่จะยอมในประเด็นดังกล่าวนี้ เนื่องจากเห็นว่า ข้อตกลงภาพรวมที่ไทยได้มาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด

“ประเด็นนี้ ดิฉันคิดว่า เจ้าหน้าที่ไทยที่เข้าร่วมเจรจาที่นิวยอร์คอาจจะยังไม่ทราบถึงความสำคัญของ Doha Declaration ว่าสำคัญมากขนาดไหน เพราะในความตกลงทริปส์นั้น มีกลไกยืดหยุ่นการเข้าถึงยา มาตั้งแต่ปี 1994 แต่ไม่มีประเทศกำลังพัฒนาไหนกล้าใช้ จนกระทั่งประเทศกำลังพัฒนาต้องผลักดันให้มีคำประกาศโดฮาในปี 2001 เพื่อรับรองสิทธินี้ของประเทศสมาชิก หลายๆ ประเทศกำลังพัฒนาจึงเริ่มกล้าใช้เมื่อถึงคราวจำเป้นในการแก้ปัญหา สาธารณสุขในประเทศ ซึ่งรวมทั้งการประกาศบังคับใช้สิทธิของประเทศไทยด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่ต้องระบุในคำประกาศนี้” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว และว่า จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง หากผู้แทนไทยที่ทำหน้าที่เจรจาจะมองข้ามสาระสำคัญนี้ อันเป็นหัวใจหลักของการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อ และเชื่อว่าทางกระทรวงสาธารณสุขเอง คงยังไม่ทราบในประเด็นนี้

น.ส.กรรณิการ์ กล่าววต่อว่า สำหรับสิ่งที่ผู้แทนไทยในสหประชาชาติที่นิวยอร์คควรทำขณะนี้ คือการขอสงวนความเห็นในสาระที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในร่างเอกสารก่อน แล้วรอให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขไปเจรจาเอง ซึ่งครั้งนี้ทราบว่า ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ จะร่วมเดินทางไปด้วยตัวเอง พร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงที่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ อย่างลึกซึ้งไปเจรจาต่อเองในปลายสัปดาห์หน้า แทนที่จะยอมตามสหรัฐและสหภาพยุโรปเช่นนี้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  8 กันยายน 2554