ผู้เขียน หัวข้อ: 115 ปี 'เจ้ากรมเป๋อ' ตำนานยาไทยตลอดกาล  (อ่าน 1254 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยร้านขายยาแผนโบราณก็ยังคงยืนหยัดคงประสิทธิภาพยาไทยรักษาคนไทยให้หายป่วยได้ แม้จะมียาแผนปัจจุบันที่เข้ามาทำให้ยาแผนโบราณถูกลดความนิยมไปบ้าง แต่สำหรับร้านขายยาเก่าแก่กว่า 100 ปี “เจ้ากรมเป๋อ” ยังได้รับความนิยม ลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนไม่ขาดสาย มาวันนี้เข้าสู่ยุครุ่น “เหลน” เข้ามาบริหารงานก็ยังสามารถคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ยาไทยไว้ไม่เสื่อมคลาย

       ย่านประตูวัดจักรวรรดิเป็นที่ตั้งร้านขายยาแผนโบราณเจ้ากรมเป๋อ ตั้งตระหง่านมาเป็นเวลา 115 ปีแล้ว ปัจจุบันทายาทรุ่นเหลนเป็นผู้ดูแลกิจการ “ถวัลย์ สุวรรณเตมีย์” ย้อนอดีตให้ฟังว่า ร้านขายยาแผนปัจจุบันเจ้ากรมเป๋อก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2439 มาถึงวันนี้เป็นเวลา 115 ปี แล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายเป๋อ สุวรรณเตมีย์ ที่ไม่ได้มียศศักดิ์เกี่ยวข้องกับทางราชการเลย แต่เหตุที่ถูกเรียกว่าเจ้ากรมนั้นมาจากยศของคนที่มีหน้าที่จัดการเรื่องทุกอย่างของวัด ไม่ต่างจากมัคนายก ในปัจจุบัน โดย นายเป๋อ ได้รับใช้ดูแลใกล้ชิดและดูแลกิจการของวัดจักรวรรดิราชาวาส กับสมเด็จหลวงปู่มา (ท่านเจ้ามา) เป็นเจ้าอาวาส ด้วยความขยันขันแข็ง และซื่อสัตย์สุจริตของท่านทำให้ได้รับแต่งตั้งยศเป็นเจ้ากรมของวัด

       ช่วงที่เจ้ากรมเป๋อรับใช้หลวงปู่มา ก็ได้ศึกษาวิชาด้านสมุนไพรมาโดยตลอด จนกระทั่งหลวงปู่ชราภาพมากก็เป็นห่วงอนาคตของเจ้ากรมเป๋อ จึงแนะให้เปิดร้านขายยาสมุนไพร อาศัยความรู้ที่สะสมมาตลอดเกือบทั้งชีวิตมาต่อยอดเป็นอาชีพ โดยให้เช่าพื้นที่วัดเป็นสถานที่จำหน่าย หลังจากหลวงปู่มรณภาพ เจ้ากรมเป๋อก็ถอนตัวจากการดูแลวัด หันมาประกอบธุรกิจร้านยาอย่างเต็มตัว จนกระทั่งปี พ.ศ.2487 ท่านก็เสียชีวิตลงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวัย 84 ปี

       เมื่อเจ้ากรมเป๋อเสียชีวิตลง ธุรกิจนี้ก็ตกไปอยู่ที่ลูกชายและลูกสาวเพียง 2 คน โดยลูกสาวเข้ากรมเป๋อมีทายาท 7 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 6 คน ซึ่งคุณแม่ของนายถวัลย์เป็นลูกสาวคนโต แต่เป็นบุตรคนที่ 2 รองจากพี่ชาย ต่อมาเหลือเพียงทายาทรุ่นหลานของเจ้ากรมเป๋อเป็นผู้สืบทอดกิจการ คือ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสลาด ทัพวงศ์ ที่แม้จะเรียนจบมาทางด้านแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับยาแผนโบราณเพราะเป็นยาที่สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้เหมือนกัน

       “เมื่อคุณหญิงสลาด เข้ามาบริหารซึ่งผมก็คลุกคลีอยู่ในร้านยาตลอดก็เห็นความสำคัญไม่แพ้กัน แม้จะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศช่วงหนึ่ง เมื่อกลับมาก็คิดจะสานต่อกิจการนี้ในฐานะทายาทรุ่นเหลน ที่ผมไม่อยากทิ้งสมบัติที่มีคุณค่าทางด้านยาแผนโบราณไป เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ร้านเรามีสมุนไพรกว่า 500 ชนิด จนถึงขณะนี้มีกว่า 750 ชนิดแล้ว ทั้งสมุนไพรที่มาจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ รักษาโรคได้ประมาณ 50-60 โรค ยกเว้นโรคปอดและกระดูก โดยโรคที่ผู้คนเข้ามาหาซื้อยาแผนโบราณเพื่อทำการรักษาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ โรคเบาหวาน สมุนไพรที่เสริมความงาม และยาเกี่ยวกับสุภาพสตรี”

       การเข้ามาซื้อยาแผนโบราณของร้านเจ้ากรมเป๋อ ลูกค้าจะมี 2 ประเภท คือ 1.เข้ามาเล่าอาการให้ฟัง และใก้ทางร้านจัดตัวยาให้ตามสัดส่วนสมุนไพรที่เป็นสูตรของทางร้าน และ 2.มีใบสั่งยามาพร้อมว่าต้องการสมุนไพรชนิดไหน จำนวนเท่าใด ซึ่งทางร้านก็มีการแนะนำไปบ้างหากสั่งตัวยาสมุนไพรบางตัวมีปริมาณมากไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ โดยลูกค้ามีทุกระดับชั้นตั้งแต่ผู้ใช้แรงงาน ไปจนถึงคนใหญ่คนโตเป็นที่รู้จักในสังคมไทย

       “ปัจจุบันความนิยมในเรื่องยาแผนโบราณเริ่มกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น หลังคนไทยมีอาการแพ้ยาแผนปัจจุบันมากขึ้น และเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง รวมถึงราคาแพงกว่ายาแผนโบราณมาก นอกจากนี้ยาแผนปัจจุบันยังรักษาโรคแบบชั่วคราว ในขณะที่ยาแผนโบราณบางคนใช้รักษาโรคเดียวกันแต่อาการหายไปเป็นปี อย่าง โรคไข้ทับระดู หรือ ยาแผนโบราณรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดน้ำตาลในเลือด มีตัวยากว่า 10 ชนิด ที่กำลังเป็นที่นิยมมากในขณะนี้ เพราะคนไข้รู้ว่าหากรับประทานยาที่ช่วยลดน้ำตาลเป็นเวลานานจะมีผลต่อไต เป็นต้น”

       ศักยภาพยาแผนโบราณเรียกได้ว่ายังสามารถครองใจคนไทยได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ร้านเจ้ากรมเป๋อมีลูกค้าแวะเวียนมาทั้งวันตั้งแต่ 8.00-16.30 น. (หยุดวันอาทิตย์) ในขณะที่ลูกจ้างต่างขมักเขม้นบรรจุยาตำรับต่างๆ ตามที่ลูกค้ามาสั่งไว้ไม่หยุดมือ ส่วนนายถวัลย์ และลูกพี่ลูกน้องอีก 2-3 คน ต้องยืนรับลูกค้าสั่งยาและจัดยา ประมาณ 7 ชั่วโมง/วัน สิ่งเหล่านี้คงเป็นเครื่องการันตีได้ว่ากระแสยาไทยๆ กับสมุนไพรที่มีมากในป่าเขตร้อนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สำหรับร้านเจ้ากรมเป๋อ จะพยายามถ่ายทอดธุรกิจนี้ให้แก่ทายาทรุ่นต่อไปหวังให้เป็นแหล่งรวมสมุนไพรคุณภาพอยู่คู่คนไทยให้ยาวนานที่สุด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 กันยายน 2554