ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.จับมือรพ.มหาสารคามหนุนอาชาบำบัดสร้างเสริมฟื้นฟูพัฒนาเด็กออทิสติก  (อ่าน 1767 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
การขี่ม้าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่นำบำบัด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าศูนย์แห่งการขี่ม้าบำบัดเกิดขึ้นอย่างมากมาย จากผลการวิจัยพบว่าหลังจากให้เด็กสมองพิการ 25 คน ขี่ม้าวันละ 20 นาที 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน ปรากฏว่าเด็กกลุ่มนี้มีการทรงท่าที่ดีขึ้น บางการศึกษาพบว่า หลังจากการขี่ม้า 8 นาทีทำให้อาการเกร็งของเด็กสมองพิการ 15 คนดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นอัมพาตครึ่งท่อนและอัมพาตทั้งตัว ซึ่งพบว่าหลังจากขี่ม้า 18 เดือน ทำให้ผู้ป่วยลดเกร็งทำให้อาการเจ็บปวดและปัญหาความผิดปกติของข้อต่อ นอกจากนี้ยังช่วยในการขับถ่ายได้ดีขึ้นอีกด้วย แม้ว่าเมืองไทยจะไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังนักแต่เสียงตอบรับจากผู้ปกครองที่มีโอกาสพาเด็กมาลองขี่ม้าดูก็น่าจะเป็นเครื่องยืนยันผลลัพธ์ที่น่าพอใจเพราะม้าช่วยเยียวยาปัญหาเด็กออทิสติก นอกจากจะเป็นส่วนช่วยบำบัดรักษาทางร่างกายโดยตรงแล้วยังมีส่วนบำบัดผู้ที่มีปัญหาทางด้านระบบประสาท สติปัญญาและอารมณ์ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มออทิสติกและสมาธิสั้น เนื่องจากเด็กออทิสติกจะไม่ควบคุมการเคลื่อนไหว การทรงตัวและประสาทสัมผัสของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆเด็กยังมีการสูญเสียทางด้านสังคมไม่สามารถตอบปฏิกิริยาระหว่างบุคคลได้ จึงทำให้เด็กออทิสติกอยู่ในโลกของตนเองไม่มีการติดต่อสื่อสารกับใคร

นายสุนทร ยนต์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาสารคามได้มองเห็นความสำคัญจึงได้จัดโครงการนี้เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติกได้ครอบคลุม ตลอดถึงการให้ช่วยเหลือที่บ้าน ชุมชนและเพื่อให้เกิดชมรมออทิสติกในจังหวัดมหาสารคามขึ้น โดยให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ให้มีการพัฒนาการเพิ่มตามศักยภาพและปรับตัวอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งโรงพยาบาลมหาสารคาม เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยมารับบริการในคลินิกจำนวน 878 ราย และช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2554 ได้มีกุมารแพทย์เพิ่มอีก 1 คน จึงได้ขยายเวลาให้บริการในคลินิกพัฒนาการเด็กเพิ่มจากเดิมเปิดบริการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือวันพฤหัสบดีเปลี่ยนเป็นวันอังคารเช้าให้บริการกลุ่มเด็กที่คลอดก่อนกำหนด วันพุธและวันศุกร์เช้าให้บริการเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้าทุกประเภทก่อน ซึ่งในแต่ละปีพบว่ากลุ่มเด็กออทิสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษา พฤติกรรมอารมณ์ และจินตนาการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ ไม่สามารถสื่อสารไม่ว่าจะเป็นความต้องการ และความรู้สึกของตนได้ ทำให้มีความบกพร่องในการดูแลตนเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างและสิ่งแวดล้อม (สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล, 2554) การที่เด็กออทิสติก จะได้มาซึ่งพัฒนาการที่ดีขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากทีมสหสาขาวิชาชีพผู้รับผิดชอบดูแลรักษาทางคลินิกและผู้ดูแลที่บ้านในเรื่องการจัดหากิจกรรมส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสมรวมทั้งการติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนสามารถส่งต่อเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ มีการส่งเสริมเครือข่ายผู้ปกครองให้ดูแลบุตรได้ถูกต้องและขยายผลในชุมชนให้เป็นต้นแบบได้

นายแพทย์ไพโรจน์  ศิตศิรัตน์  ประธานชมรมออทิสติก จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ตนเองได้ใช้สถานที่บ้านถนนเทศบาลอาชา อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นสถานที่รับฝึกการพัฒนาออทิสติก โดยให้ผู้ปกครองรับฟังเข้าอบรมขั้นตอนที่จะให้เด็กเข้ามาฝึกบำบัดอาชา ตามขั้นตอนต่าง ๆ ชมการแสดงของเด็กออทิสติกจากศูนย์การศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาสารคาม โดย อ.ชูศักดิ์ จันทภานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองออทิซึมไทย โดยมีการแบ่งฐานต่าง ๆ เช่น ฐานที่ 1 อาชาบำบัดโดยวิทยากรพันตรีสงกรานต์ จันทะปัสสา แผนกสัตวบาลกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 กรมการสัตว์ทหารบก ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ฐานที่ 2 กิจกรรมบำบัด มีกิจกรรมการทรงตัวบนลูกบอล นั่งรถ โยนลูกบอลลงตะกร้า ร้องเพลงโดยนักกิจกรรมบำบัดจากโรงพยาบาลมหาสารคาม ฐานที่ 3 ศิลปะบำบัดจากครูการศึกษาพิเศษสถาบันมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามโดยการระบายสีเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง และฐานที่ 4 จากโรงพยาบาลพ่อแม่สู่ชุมชนโดยพยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลจังหวัดกาฬสินธ์ุ ขั้นตอนสุดท้าย ฝึกให้เด็กได้สัมผัสกับม้าไม้ไปก่อนที่จะนั่งม้าจริง และสุดท้ายลงสนามขี่ม้า โดยครูฝึก จะมีท่าต่าง ๆตามขั้นตอน  ซึ่งปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่มีอาการผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ ความจำสั้นหรือสมาธิสั้น ซึ่งในการบำบัดเด็กเหล่านี้ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย มีหลากหลายวิธีที่จะช่วยพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้ให้เป็นปกติเช่นเด็กทั่วไป โครงการอาชาบำบัดเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ กรมการสัตว์ทหารบกใช้ม้าเป็นตัวสำคัญในการบำบัดเด็กกลุ่มดังกล่าวดีขึ้นมาแล้ว จึงมีแนวคิดที่เปิดให้บริการที่จังหวัดมหาสารคามแต่โรงพยาบาลมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ จึงใช้บริเวณบ้านของตน ซึ่งครอบครัวเองก็มีนิสัยชอบม้าอยู่แล้วบุคลิกและลักษณะนิสัยของม้าจึงได้จัดหาม้าพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นมาเลี้ยงเอาไว้หลายตัว

นายเจือ จิตชนะ ชาว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เล่าว่า ตอนนี้ลูกอายุได้ 5 ขวบ เกิดมาเป็นเด็กออทิสติกในช่วงแรกเป็นการทรมานมากเพราะลูกไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย จนไม่อยากจะเลี้ยงเค้าไว้ พอมาเข้าเป็นค่ายอาชาบำบัดกับชมรมออทิสติกรู้สึกว่าลูกชายตนเองมีการพัฒนาการได้ดีขึ้นตามลำดับ ในช่วงที่เข้ามารักษาม้าบำบัดซึ่งได้อะไรที่มากมาย เช่น ได้เพื่อนได้สังคมและลูกตนเองมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเพราะที่ชมรมมีครูฝึกหรือครูพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามและครูฝึกขี่ม้ากองการสัตวแพทย์และเกษตรกรรมที่ 2 กรมทหารบก ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และเมื่อตนเองกลับไปบ้านก็ไปฝึกให้กับลูกเพื่อที่ลูกจะได้รับรู้หรือรับทราบจนถึงปัจจุบันทำให้ลูกตนเองใกล้จะปกติซึ่งตนเองผู้เป็นบิดาดีใจมากอยากจะฝากให้ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นออทิสติกไม่ต้องท้อและไม่ต้องเสียใจแต่ต้องอดทนสักนิดเพราะครูฝึกที่สอนให้ก็ดีเพื่อการพัฒนาของลูกกลับมาถึงบ้านต้องย้ำฝึกให้อีกสักนิดก็เกิดผลสำเร็จ.

กิริยา กากแก้ว

เดลินิวส์ 6 กันยายน 2554