ผู้เขียน หัวข้อ: ศึก 'สามก๊ก' ธุรกิจโรงพยาบาล 'รพ.เกษมราษฎร์' ซ่อนแผน 'โตลัด'  (อ่าน 1520 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ แอบคิดแผน 'ซื้อกิจการ' เสริมเขี้ยวเล็บ โตแบบ Inorganic Growth รับศึก 'สามก๊ก' ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีธุรกิจอะไรจะร้อนแรงเท่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน มีความเคลื่อนไหวจับมือเป็นพันธมิตรและซื้อกิจการกันอย่างคึกคักเตรียมรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ในอนาคตโรงพยาบาลเดี่ยว จะอยู่ยาก ด้วยต้นทุนการแข่งขันที่สูง ต้นทุนบริหารและค่าเสี่ยงที่สูง ทำให้มีโอกาสจะถูกไล่ซื้อกิจการจากต่างชาติ แม้แต่ บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ ผู้บริหารเครือ "รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล" ของ รศ.ดร.นพ.วิชัย วนดุรงค์วรรณ ยังต้องลุกขึ้นมาแต่งตัวเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนหนีการเป็น "ผู้ถูกล่า" จากรายใหญ่

เมื่อโจโฉแห่งธุรกิจโรงพยาบาล นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผนึกกำลังเข้ากับ ทนายวิชัย ทองแตง แห่ง รพ.พญาไท-เปาโล ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งวงการ รพ.วิภาวดีของ "เสี่ยอ้วน" ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล ก็ไปตีอาณาจักรทางภาคเหนือผนึกกำลังกับ บมจ.เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ (CMR) และจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ รพ.รามคำแหง, รพ.วิภาราม, รพ.สินแพทย์ และ รพ.แพทย์ปัญญา 

รพ.บำรุงราษฎร์ ของ ชัย โสภณพนิช ที่ถูก รพ.กรุงเทพ ของนพ.ปราเสริฐ แอบตีท้ายครัวเข้าถือหุ้น 11.14% แบบไม่ทันตั้งตัวเตรียมใจ จึงแก้เกมโดยสายตรง "เสี่ยตึ๋ง" อนันต์ อัศวโภคิน ขอซื้อหุ้น รพ.เกษมราษฎร์ ของ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ สัดส่วน 24.99% กลายเป็น "ศึกสามก๊ก" (ใหญ่) ที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด

การผนึกพลังของ รพ.บำรุงราษฎร์ และ รพ.เกษมราษฎร์ ได้นำไปสู่การวาง Positioning ทางการตลาดใหม่ ขณะที่ นพ.เฉลิม เตรียมเสริมเขี้ยวเล็บซ่อนแผนเติบโตแบบ Inorganic Growth (ซื้อกิจการ) รองรับขาขึ้นของธุรกิจโรงพยาบาล "ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก"

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล กล่าวกับ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า แผนความร่วมมือกับ รพ.บำรุงราษฎร์ ที่ซื้อหุ้นต่อจาก บมจ.แลนด์ แอนด์  เฮ้าส์ ในระยะสั้นถึงระยะกลางคงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่างคนต่างดำเนินตามแผนธุรกิจของตัวเอง ส่วนความร่วมมือขอให้มองระยะยาวมากกว่า

หมอใหญ่ฉายภาพอุตสาหกรรมโรงพยาบาลในอนาคตให้ฟังว่า ตลาดกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดเซ็กเมนท์ใหม่คือ “ตลาดบนแมส” หรือ A- กลุ่มคนไข้ระดับกลางจะหาทางเลื่อนตัวเองขึ้นไปใช้บริการที่ระดับดังกล่าวโดยยอมจ่ายค่ารักษาแพงขึ้น 5-10% แลกกับบริการที่ดีขึ้น เพราะชนชั้นกลางเริ่มมีรายได้มากขึ้น และตลาดยังไม่มีใครให้บริการรองรับคนกลุ่มนี้

“ผมมั่นใจว่าตลาด "บนสุด" จะเริ่มแคบลงเพราะแข่งขันกันหนัก คนไข้จะหันมาใช้บริการตลาด "บนแมส" มากขึ้นและจะอยู่บนราคาค่าบริการที่สมเหตุผล ศูนย์การแพทย์ World Medical Center ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ของเราจะตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มนี้”

นพ.เฉลิม คาดว่าศูนย์ World Medical Center แห่งแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะจะสร้างเสร็จในสิ้นปีนี้ และเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ปี 2555 เมื่อดำเนินการจนถึงจุดคุ้มทุนก็จะลงทุนที่พัทยาต่อตอนนี้ซื้อที่ดินเอาไว้แล้วทำให้ รพ.เกษมราษฎร์ มีฐานลูกค้าที่ชัดเจนสองกลุ่มคือ "ตลาดกลาง" และ "บนล่าง" (A-)

เมื่อสิ้นปีก่อน รพ.เกษมราษฎร์ ได้ยกเลิกลูกค้าระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง เนื่องจากสร้างภาระมาโดยตลอดเพราะรัฐบาลอุดหนุนโดยไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้สัดส่วนลูกค้าเงินสดเพิ่มเป็น 67% จากเมื่อก่อน 60% และเมื่อเปิด World Medical Center ก็จะเพิ่มเป็น 70% ที่เหลือเป็นลูกค้าประกันสังคม ผลที่ออกมาก็เป็นไปตามที่คาดคือไตรมาส 2 กำไรสุทธิโตขึ้น 27% EBITDA Margin เพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 38% อัตรากำไรสุทธิเพิ่มจาก 14% เป็น 17% ขณะที่รายได้ต่อไตรมาสก็อยู่ในระดับเดียวกับสมัยมีลูกค้าบัตรทองแล้ว

“มีคนถามผมว่าไม่เสียดายเหรอกับรายได้ที่จะหายไปเป็นพันล้านบาท ผมบอกว่าไม่เสียดายเพราะเราเป็นบริษัทมหาชนต้องคิดถึงผู้ถือหุ้นด้วย แม้ทุนเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาท แต่เราก็ยังจ่ายปันผลในอัตราเท่าเดิม แสดงว่าเราตัดสินใจถูกแล้ว”

สำหรับแผนการลงทุนในอนาคต หมอใหญ่ ยืนยันว่า จะขยายงานต่อเนื่องแน่นอน ที่ผ่านมาก็ได้ซื้อหุ้นเพิ่มในโรงพยาบาลศรีบุรินทร์ จังหวัดเชียงราย จนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 93.67% นอกจากนี้ ก็ได้ซื้อหุ้นของบริษัท โรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 72.73% แล้ว โรงพยาบาลศรีบุรินทร์ ได้ลงทุนซื้อที่ดินไป 100 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์แพทย์เฉพาะทาง นอกจากนี้ ยังเล็งเปิดคลินิกที่อำเภอแม่สาย และวางแผนจะเปิดคลินิกเพิ่มที่อำเภอเชียงแสนต่อไป ซึ่งคาดว่าพื้นที่ตรงนั้นจะมีการเติบโตสูงในอนาคตเพราะนักลงทุนจีนมาก่อสร้างกาสิโนขนาดใหญ่

“ลูกค้าที่จังหวัดเชียงรายมีกำลังจับจ่ายสูงมากใช้เงินสดทั้งนั้น เราคาดว่ารายได้จากโรงพยาบาลศรีบุรินทร์จะเพิ่มขึ้นจากปกติ 500-600 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาทได้ในอนาคต อนาคตเรายังมองถึงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งบริเวณนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด”

นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามแผนเดิมที่จะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่บริเวณรามคำแหง พื้นที่กว่า 300 ไร่ทดแทน รพ.เกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 อนาคตจะเน้นขยายการลงทุน "สองแบรนด์" คือ รพ.เกษมราษฎร์ และ World Medical Center โดยยึดหลักแบบไม่เสี่ยง อย่างไรก็ตาม คุณหมอเปรยว่ามองถึงการเติบโตแบบ Inorganic Growth (ซื้อกิจการ) ด้วยเช่นเดียวกัน

“ตอนนี้ก็คุยๆ กันอยู่หลายเจ้าทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาด ทั้งที่เป็นเครือข่ายและสแตนอะโลน คาดว่าน่าจะจบทีละดีล เรื่องเงินไม่มีปัญหาแน่เพราะเรามีหนี้สินต่อทุนเพียง 0.38 เท่า และมี Free Cash Flow 900-1,000 ล้านบาท และได้ขอผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้วงเงิน 3,000 ล้านบาทไว้แล้ว ถ้ามีความต้องการก็พร้อมออกได้ทันที”

สำหรับการซื้อกิจการจะมี 2 รูปแบบคือซื้อสินทรัพย์มาจากโรงพยาบาลที่ไม่ทำกำไรมาบริหารต่อหรือซื้อโรงพยาบาลที่กำลังดำเนินกิจการอยู่ นโยบายจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไป ส่วนตัวให้ความเห็นว่ากระแสการซื้อกิจการโรงพยาบาลน่าจะยังมีอยู่และเป็นสิ่งที่ดีเพราะโรงพยาบาลที่มีผลการดำเนินงานไม่ดีจะสามารถอยู่รอดได้และการมีขนาดที่ใหญ่พอจะได้เปรียบในเรื่องของ Economy of Scale ทั้งเรื่องอุปกรณ์ และคน

สำหรับเป้ารายได้ 10,000 ล้านบาทที่เคยตั้งไว้ นพ.เฉลิม บอกว่า "ยังไม่ทิ้ง" แต่ต้องเก็บเอาไว้ก่อนเพราะอย่างไรขนาดก็มีความสำคัญ จริงแล้วถ้ายังรักษาลูกค้าบัตรทองไว้ป่านนี้รายได้เราคงใกล้แตะ 7,000 ล้านบาทแล้ว แต่เรามองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลักจึงต้องให้ความสำคัญกับ “บรรทัดสุดท้าย” (กำไร) เพราะไม่มีประโยชน์ที่รายได้โตแต่ไม่มีกำไร

"รายได้ทั้งปี 2554 อาจจะโตได้เล็กน้อยแต่กำไรสุทธิน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน"

ก่อนจากกันคุณหมอทิ้งท้ายว่าอนาคตไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและชนชั้นกลางมีกำลังซื้อมากขึ้น ธุรกิจโรงพยาบาลระยะยาวยังโตได้อีกเรื่อยๆ แน่นอน นักลงทุนควรซื้อหุ้นโรงพยาบาลเข้าพอร์ตไว้บ้าง...นพ.เฉลิม กล่าวสรุป

5 กันยายน 2554