ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ทุ่ม 400 ล.ดันโฟเลท-ไอโอดีนเข้าบัญชียาหลัก(ผู้จัดการ29เมย2553)  (อ่าน 2000 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 สธ.ดีเดย์ 1 มิถุนายน แจกสารอาหารเสริม “โฟเลท-ไอโอดีน” ให้หญิงตั้งครรภ์ พร้อมหนุนให้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์รับโฟเลท-ไอโอดีน ก่อน 6 สัปดาห์ ป้องกันเด็กไม่ครบ 32-เอ๋อ มีปัญหาเชาวน์ปัญญา คาด ใช้งบ 300-400 บาทต่อปี สั่งอภ.ผลิต พร้อมดันเข้าบัญชียาหลัก ให้ใช้ฟรีทั้ง 3 ระบบ ประกันสุขภาพ
       
       วันที่ 29 เมษายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “โครงการลูกครบ 32 สมองดี เริ่มต้นที่ 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์” ว่า จากการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในแต่ละปีจะมีทารกแรกเกิดราว 800,000 คน โดยใน 10,000 คน จะพบเด็กที่มีภาวะโรคเอ๋อ 7 คน โรคภาวะหลอดประสาททารกในครรภ์เปิดอีก 4 คน และปัญหาปากแหว่ง เพดานโหว่อีก 20 คน หรือประมาณ 1,500 คนต่อปี สาเหตุสำคัญเนื่องจากแม่ขาดความรู้ในการดูแลตนเอง ตั้งแต่เตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์จนถึงระยะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือน หรือ 6 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญสำหรับการพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารก โดยสารอาหารที่จำเป็นในระยะนี้ คือ โฟเลท และไอโอดีน
       
       “การเสริมโฟลิกในช่วง 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ในปริมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน นอกจากจะลดโอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาทแล้ว ยังสามารถลดโอกาสการเกิดปากแหว่งได้ประมาณ 1 ใน 3 ลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดร้อยละ 25-50 ลดความผิดปกติของแขนขาร้อยละ 50 และยังลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะไม่มีรูทวารหนัก โดยรวมแล้วการเสริมวิตามินที่มีกรดโฟลิก จะสามารถลดความพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 25-50” นายจุรินทร์ กล่าว
       
       นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมอนามัยยังพบว่า หญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ โดยระหว่างปี 2549-2551 พบหญิงตั้งครรภ์มีค่าไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร สูงถึงร้อยละ 71.8 61.3 และ 58.3 ตามลำดับ ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดต้องไม่เกินร้อยละ 50 โดยพบหญิงตั้งครรภ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับสารไอโอดีนน้อยที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ อย่างไรก็ตาม เด็กทารกที่ขาดสารไอโอดีน จะเป็นโรคเอ๋อ มีเชาวน์ปัญญาต่ำ โดยพบว่าจะมีค่าไอคิวลดลงโดยเฉลี่ย 13.6 จุด จากปกติที่ 90-110 จุด ซึ่งระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยเมื่อปี 2545 มีค่า 88 จุด ในขณะที่ประเทศแถบยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกไกลมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 98-104 จุด
       
       “ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ สถานพยาบาลทุกแห่ง จะเริ่มให้สารอาหารประเภทโฟเลทที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์ที่เติบโตรวดเร็ว และไอโอดีน โดยรวมอยู่ในเม็ดเดียวรับประทานง่าย เพื่อประโยชน์ต่อทารกในครรภ์ โดยจะสนับสนุนให้ผู้หญิงที่มีการวางแผนครอบครัว เตรียมความพร้อมที่จะตั้งครรภ์มารับวิตามินดังกล่าวก่อนการตั้งครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์ โดยคาดว่าภายในปีงบประมาณนี้จะต้องใช้งบประมาณไม่เกิน 100 ล้านบาท และคาดว่า น่าจะใช้งบประมาณปีละ 300-400 ล้านบาท นอกจากนี้ พยายามผลักดันให้สามารถผลิตได้เอง โดยมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) พิจารณาโอกาสในการผลิตสารอาหารดังกล่าว เมื่อผลิตสำเร็จจะผลักดันให้เข้าอยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อจะได้ ใช้ฟรีทั้ง 3 ระบบทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ” นายจุรินทร์ กล่าว