ผู้เขียน หัวข้อ: แนะผู้สูงอายุออกกำลังดีกว่าใช้ยากันสมองเสื่อม  (อ่าน 1247 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
แพทย์ชี้ยาป้องกันสมองเสื่อม ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป แนะควรควบคุมการโฆษณายาให้เข้มงวดยิ่งขึ้น  เสนอผู้สูงอายุออกกำลังกายป้องกันจะดีกว่า
       
       พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทย กล่าวในการประชุมระดมความคิดเพื่อพัฒนานโยบายการป้องกัน รักษาและดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทย ที่เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพ ต่อสถานการณ์ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมประเทศไทยและนำไปสู่การหาแนวทางและระบบการป้องกัน ดูแลรักษา และผลักดันสู่การพัฒนาเชิงนโยบายระดับประเทศ ว่า จากสถานการณ์โรคสมองเสื่อมในประเทศไทยว่าด้วยอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มจำนวนผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน การรับมือกับโรคสมองเสื่อมยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจต่อภาวะสมองเสื่อม ส่งผลให้ขาดการดูแลที่ถูกต้องที่อาจนำไปสู่การทอดทิ้งผู้ป่วยนำไปสู่การเป็นภาระของสังคม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องประชุมความร่วมมือเพื่อเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว
       
       ขณะที่ พท.พญ.พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ       โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการป้องกันระดับปฐมภูมิของโรคสมองเสื่อม (Primary Prevention of Dementia) ว่า  จากการทบทวนผลวิจัยจากหลายประเทศพบว่ายังไม่มีการยืนยันการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมตามที่มีการอ้างอิงในผลิตภัณฑ์หลายประเภท ชี้วิธีการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมที่ดีที่สุด คือ การออกกำลัง รักษาสุขภาพให้ห่างจากโรคที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยง การทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด และเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
       
       “ว่ายาลดไขมันจำพวกสแตติน (Statin), ยาชาเฉพาะที่ Procain, ฮอร์โมนทดแทนเพศหญิง, ฮอร์โมนเพศชาย, กรดโฟลิค, วิตามินบี 6, ยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID), สารสกัดใบแปะก๊วย (Ginkgo Biloba) และ กรดไขมันโอเมก้า 3 ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ตามคำกล่าวอ้างของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์บางชนิด นอกจากไม่สามารถป้องกันได้แล้ว ยาบางตัวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาด้วยจึงไม่มีการสนับสนุนให้ยาดังกล่าว ดังนั้นจึงควรมีการควบคุมการโฆษณาสรรพคุณยาที่มีส่วนประกอบดังกล่าวว่าในการอ้างถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสมองเสื่อม และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค” พท.พญ.พัฒน์ศรี กล่าว
       
       พท.พญ.พัฒน์ศรี กล่าวด้วยว่า การป้องกันโรคสมองเสื่อมที่ดี สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกาย หรือ การทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ และการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด (cognitive activities) เช่น การคิดเพื่อแก้ปัญหา การเขียน หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การคิดที่ซับซ้อน หรือแม้แต่การเรียนในระดับสูง ก็ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ ส่วนเรื่องอาหารแม้จะยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนในเรื่องผลของอาหารประเภทไหนสามารถป้องกันได้ แต่แนะนำให้รับประทานอาหาร เพื่อสุขภาพเน้นผัก ผลไม้ และปลา ไม่ดื่มสุรามากเกินไป งดเว้นการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ มีกิจกรรมทางสังคม มีกิจกรรมในเวลาว่างเพื่อความผ่อนคลาย และรักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง  ไขมันสูง และโรคซึมเศร้าเนื่องจากการมีโรคเรื้อรังเหล่านี้มีผลเสียต่อการทำงานของสมองระดับสูง
               
       ขณะที่ พญ.อรุณี ประจัญอธรรม  สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า  โรคสมองเสื่อม แบ่งได้หลายระดับตามความรุนแรงของโรค ตั้งแต่รุนแรงน้อย ผู้ป่วยจะยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จนกระทั่งถึงระดับรุนแรงมาก ที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย นอนอยู่บนเตียงเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม ต้องตรวจหาความผิดปกติหลายด้าน เช่นความผิดปกติของความจำร่วมกับการใช้ภาษาและการรับรู้ รวมทั้งติดตามอาการต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการที่ทำการศึกษาการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม พบว่า ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มคนทั่วไป แต่ให้ตรวจประชากรสูงอายุที่มีอาการผิดปกติทางด้านความจำ หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน หรือกลุ่มที่มีประวัติการเป็นโรคภายในครอบครัว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2554