ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตใหม่ของช้างกำพร้า(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2404 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ณ ชายขอบทางด้านเหนือของอุทยานแห่งชาติไนโรบีในประเทศเคนยา  ผ้าห่มขนสัตว์สีสันสดใสแขวนเป็นระนาวอย่างน่าฉงนอยู่บนคาคบไม้ ร่างสูงสามสี่ร่างในชุดเสื้อคลุมสีเขียวและหมวกซาฟารีสีขาวยับย่นมองเห็นอยู่ลิบๆ พร้อมเสียงตะโกนแหลมสูงระรัวว่า “คาลามา! คีตีรัว! โอราเล!” ทันใดนั้น ลูกช้างตัวน้อยโขลงหนึ่ง            ก็โผล่ออกมาจากพุ่มไม้  หัวสีน้ำตาลที่มีใบหูใหญ่โบกพัดไปมา 18 หัว เดินตามกันมาอย่างไม่เป็นระเบียบ   ลูกช้าง มาหยุดอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีผ้าห่มผูกไว้ แล้วผู้ดูแลก็จะห่มผ้าให้พวกมันเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ก่อนจะเดินกลับบ้านด้วยกัน

บ้านที่ว่าคือสถานอนุบาลลูกช้างไนโรบีของกองทุนสัตว์ป่าเดวิดเชลดริก ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยชีวิตและฟื้นฟูลูกช้างกำพร้า ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก สถานอนุบาลแห่งนี้รับลูกช้างกำพร้าจากทั่วเคนยา ซึ่งจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของการลักลอบล่าสัตว์หรือความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า และเลี้ยงดูจนถึงวัยหย่านม เมื่อ     ลูกช้างหายจากการบาดเจ็บและแข็งแรงดีแล้ว พวกมันจะถูกนำไปยังศูนย์กักสัตว์สองแห่งภายในอุทยานแห่งชาติซาโวที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้กว่า 160 กิโลเมตร ที่นั่นช้างจะค่อยๆปรับตัวกลับคืนสู่ป่า โดยแต่ละตัว ใช้เวลาไม่เท่ากัน อาจนานถึง 8 หรือ 10 ปี

การสำรวจประชากรช้างป่าแอฟริกาเมื่อปี 1979 ประเมินว่า มีช้างป่าแอฟริกาอยู่ราว 1,300,000 ตัว ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 500,000 ตัว ส่วนในเอเชียคาดว่ามีช้างป่าในธรรมชาติราว 40,000 ตัว

ลูกช้างตัวล่าสุดที่มาถึงสถานอนุบาลลูกช้างไนโรบีชื่อมูร์กาในสภาพถูกหอกปักลึกระหว่างดวงตาทั้งสองข้าง ตามหลังและสีข้างมีบาดแผลฉกรรจ์จากคมหอกและขวาน หอกนั้นปักลึกลงไปถึง 25 เซนติเมตร ทำให้     โพรงจมูกของมูร์กาฉีกขาดจนใช้งวงดื่มน้ำไม่ได้ ส่วนบาดแผลลึกนั้นเต็มไปด้วยหนอนแมลง ลูกช้างวัยหนึ่งขวบตัวนี้  น่าจะเป็นกำพร้าจากการที่แม่ถูกพวกลักลอบล่าสัตว์ฆ่าเพื่อการค้า และต่อมาน่าจะถูกชนเผ่ามาไซทำร้ายด้วย        ความโกรธแค้นที่ต้องสูญเสียดินแดนอันเคยเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์แต่ดั้งเดิมให้อุทยาน หน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่สามารถวางยาสลบมูร์กาเพื่อทำความสะอาดบาดแผลและดึงหอกออกได้สำเร็จ

ชะตากรรมของช้างเลวร้ายแสนสาหัสเสียจนมนุษย์ ผู้เป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด กลายเป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียวของพวกมัน สภาพความเป็นจริงที่ขัดแย้งกันนี้เองที่ทำให้สตรีผู้หนึ่งนามว่า ดาฟนี เชลดริก ก่อตั้ง     สถานอนุบาลลูกช้างขึ้นในปี 1987 เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่ดูแลสัตว์ป่า เดวิด เชลดริก สามีของเธอ เป็นนักธรรมชาติวิทยาที่โด่งดังและเป็นผู้ก่อตั้งอุทยานแห่งชาติ ซาโวตะวันออก เขาเสียชีวิตเมื่อปี 1977

การเลี้ยงช้างกำพร้าวัยแรกเกิดเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะพวกมันกินแต่นมแม่ในช่วงสองปีแรกของชีวิต และยังต้องกินบ้างจนถึงอายุ 4 ปี ในช่วงหลายสิบปีที่สองสามีภรรยาเชลดริกอยู่ในซาโว ทั้งคู่ไม่เคยเลี้ยงช้างกำพร้าอายุต่ำกว่าหนึ่งปีได้สำเร็จ เพราะไม่สามารถหาหรือคิดค้นส่วนผสมนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการทัดเทียมกับนมแม่ช้างได้  พวกเขาลองเติมครีมและเนยลงในส่วนผสมเพราะทราบว่านมช้างมีไขมันสูง  ผลก็คือลูกช้าง        มีปัญหาในการย่อยและไม่ช้าก็ตาย ทั้งคู่เลยเปลี่ยนเป็นนมไร้ไขมันที่ย่อยง่ายกว่า แต่ลูกช้างกลับผอมลงๆ จนสุดท้ายก็ตายอีกเช่นกัน ทว่าในที่สุดพวกเขาก็พบส่วนผสมที่ลงตัว นั่นคือนมสำหรับทารกผสมกับกะทิ ส่วนผสมนี้ไม่เพียงช่วยให้ไอชา ลูกช้างกำพร้าวัยสามสัปดาห์รอดตาย แต่ยังแข็งแรงขึ้นทุกวันอีกด้วย

ช้างน้อยไอชายังทำให้ดาฟนีเรียนรู้สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเลี้ยงลูกช้างกำพร้า ครั้งนั้นดาฟนีเดินทางไปไนโรบีเพื่อเตรียมงานแต่งงานให้บุตรสาวโดยทิ้งไอชาอายุหกเดือนไว้กับผู้ช่วยคนหนึ่ง ในระหว่างสองสัปดาห์ที่เธอไม่อยู่ ช้างน้อยไม่ยอมกินนมและตายด้วยความตรอมใจที่สูญเสียแม่อีกคนหนึ่งไป “พอไอชาตาย ฉันรู้เลยค่ะว่าเป็นความผิดของฉัน” เธอเล่า ความทรงจำนั้นยังทำให้เธอเจ็บปวดไม่รู้คลาย  “มันคิดถึงฉันมากเกินไป  เราต้อง    ไม่ให้ลูกช้างผูกพันกับใครคนใดคนหนึ่งมากขนาดนั้น ฉันโง่เองที่คิดว่าไม่ต้องหาครอบครัวที่ใหญ่กว่านี้ให้ไอชาก็ได้  ฉันรู้จักช้างป่าดี  เพราะเฝ้าดูพวกมันในซาโวมาตลอดตั้งแต่แต่งงานและย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ ฉันน่าจะรู้ดีและรอบคอบกว่านี้  แค่เฝ้าดูช้างสักโขลง  คุณก็จะเข้าใจถึงความสำคัญของครอบครัวเลยค่ะ”

 

โขลงช้างป่าคือครอบครัวใหญ่ที่มีความรักความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ลูกช้างจะได้รับการดูแลเลี้ยงดูโดยช้างเพศเมียที่รักใคร่ผูกพันกันภายในครอบครัวซึ่งปกครองโดยช้างแม่ใหญ่ เริ่มจากแม่แท้ๆที่ให้กำเนิด แล้วขยายวงออกไปถึงพี่สาวน้องสาว ลูกพี่ลูกน้อง ป้าและย่ายาย ตลอดจนเพื่อนๆ ความผูกพันนี้จะยืนยาวไปชั่วชีวิต  ซึ่งอาจนานถึง 70 ปีช้างวัยเยาว์ จะอยู่ใกล้ชิดแม่และสมาชิกอื่นๆในครอบครัวขยาย ถ้าเป็นเพศผู้จะอยู่กับโขลงถึงอายุราว 14 ปี ส่วนเพศเมียนั้นอยู่ไปจนชั่วชีวิต เมื่อใดที่ลูกช้างมีภัยหรือตกอยู่ในอันตราย ช้างตัวอื่นจะเข้ามาปลอบประโลมและปกป้องมัน

ความผูกพันนี้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วยระบบการสื่อสารที่ซับซ้อน เมื่ออยู่ใกล้กันช้างจะสื่อสารด้วยเสียง   หลากชนิด ตั้งแต่เสียงครางต่ำๆไปจนถึงเสียงร้องแหลมสูงและเสียงดังแปร๋นๆเหมือนทรัมเป็ต พวกมันจะสื่ออารมณ์ผ่านท่าทางต่างๆโดยใช้งวง หู หัว และหาง เมื่อต้องการสื่อสารระยะไกล พวกมันจะใช้เสียงครางความถี่ต่ำอันทรงพลังซึ่งช้างตัวอื่นที่อยู่ห่างไปกว่า 1.5 กิโลเมตรสามารถได้ยิน

เมื่อช้างสักตัวในโขลงล้มลง สมาชิกในครอบครัวจะอยู่ในอาการโศกเศร้าและแสดงพฤติกรรม               เชิงพิธีกรรม นักชีววิทยาภาคสนามอย่างจอยซ์ พูล  ผู้ศึกษาช้างป่าแอฟริกามากว่า 35 ปี บอกว่า พวกช้างจะพยายามยกร่างของตัวที่ล้มกลบด้วยดินและกิ่งไม้แห้ง ตลอดหลายเดือนต่อมาหรืออาจถึงหลายปี พวกช้างอาจกลับไปเยี่ยมซากกระดูกของตัวที่ตาย มันจะใช้งวงแตะที่กระดูกและทำทางเดินเพื่อกลับไปเยี่ยมซากนั้น

ตั้งแต่ก่อตั้งสถานอนุบาลลูกช้างไนโรบีมา สิ่งที่ทำให้เชลดริกแปลกใจที่สุดคือ แม้แต่ลูกช้างที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสมาก่อนก็ยังพร้อมที่จะถักทอสายใยทางสังคมอันละเอียดอ่อนของโขลงช้างป่าขึ้นอีกครั้งอย่างรวดเร็ว เธอบอกว่า “ช้างเกิดมาพร้อมกับความทรงจำทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง พวกมันเป็นสัตว์สังคมชนิดหาตัวจับยาก รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อตัวที่แก่กว่า และบรรดาเพศเมียจะมีความเป็นแม่โดยสัญชาตญาณแม้ขณะอายุน้อยๆ  เวลาที่เรารับลูกช้างตัวใหม่เข้ามา ตัวอื่นๆจะเข้ามารุมล้อมและใช้งวงสัมผัสหลังของเด็กใหม่อย่างรักใคร่เอ็นดูราวกับอยากปลอบประโลม พวกมันมีหัวใจ ที่แสนอ่อนโยนจริงๆค่ะ”

กันยายน 2554

kartoonyna

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 12
    • ดูรายละเอียด
ช้างเนี่ยมีสังคมที่อบอุ่นก่าคนเนอะ :)