ผู้เขียน หัวข้อ: ครึ่งคน ครึ่งวานร(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1977 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เมื่อเดือนเมษายน ปี 2010 ลี เบอร์เกอร์ นักมานุษยบรรพกาลวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิตวอเตอส์แรนด์ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก และเพื่อนร่วมงานเปิดเผยการค้นพบโครงกระดูกจากแหล่งขุดค้นมาลาปา (Malapa) ซึ่งเป็น  ถ้ำหินปูนผุกร่อน ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่ขึ้นชื่อเลื่องลือเรื่องฟอสซิลมนุษย์ดึกดำบรรพ์จนมักเรียกขานกันในนาม         “อู่แห่งมนุษยชาติ” (Cradle of Humankind) สมญานี้ได้มาจากการค้นพบหลายครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเป็นยุคที่ภูมิภาคแอฟริกาใต้เป็นที่ยอมรับในฐานะขุมทรัพย์ของหลักฐานด้านวิวัฒนาการมนุษย์ยุคแรกที่ดีที่สุด โดย      มีฟอสซิลของ ออสตราโลพิเทคัส แอฟริกานัส (Australopithecus africanus) ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษเก่าแก่ที่สุดของเราเท่าที่ทราบในตอนนั้นรวมอยู่ด้วย แต่นับจากปลายทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา การค้นพบครั้งสำคัญๆโดยครอบครัวลีคีย์ในแทนซาเนียและเคนยา ตามมาด้วยการค้นพบของโดนัลด์ โจแฮนสัน ซึ่งเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก       โครงกระดูกลูซีอายุ 3.2 ล้านปีในเอธิโอเปีย ทำให้การอ้างสิทธิในฐานะต้นกำเนิดแห่งวิวัฒนาการมนุษย์ย้ายไปยัง  ฝั่งแอฟริกาตะวันออก และยังครองตำแหน่งมาตราบจนทุกวันนี้

ลี เบอร์เกอร์ คาดว่าอู่อารยธรรมกำลังจะแกว่งไกวอีกครั้ง เขาเชื่อว่ามาลาปาอาจเป็นกุญแจไขไปสู่ช่วงเวลาที่มีความสำคัญที่สุดและเป็นที่เข้าใจน้อยที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษยชาติ นั่นคือ ต้นกำเนิดของชนิดพันธุ์แรกที่ใกล้เคียงกับเรามากพอจะเรียกได้ว่า มนุษย์ หรือเป็นสมาชิกของสกุล โฮโม (Homo) นั่นเอง

มาลาปาเป็นทั้งแหล่งน้ำที่ให้ชีวิตและกับดักที่คร่าชีวิต เมื่อ 2 ล้านปีก่อน ชั้นหินอุ้มน้ำที่พรุนไปด้วย     โพรงถ้ำทอดตัวอยู่ใต้ที่ราบสูงๆต่ำๆในหุบเขาที่ปกคลุมไปด้วยแมกไม้และเนินเขาต่อเนื่อง ถ้ำบางแห่งมีทางเข้าบนพื้นดินผ่านปากถ้ำที่ลาดชันหรือปล่องแนวดิ่งที่อาจลึกถึง 50 เมตร ในช่วงที่ระดับน้ำใต้ดินขึ้นสูง สัตว์น้อยใหญ่สามารถดื่มน้ำจากบ่อซึมที่ผิวดินได้อย่างง่ายดาย แต่พอถึงหน้าแล้ง สัตว์เหล่านั้นอาจเดินตามเสียงหรือกลิ่นของน้ำท่ามกลางความมืดมิดของถ้ำ และเสี่ยงต่อการตกลงสู่ปล่องที่ซ่อนอยู่

หลังจากตายลง ซากของสัตว์เหล่านี้อาจถูกน้ำพัดพาลงสู่เบื้องล่างของระบบถ้ำ ก่อนจะถูกกลบฝังภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ใต้ชั้นดินและทรายหนาๆเพียงชั้นเดียว ดินทรายที่กลบฝังร่างอย่างรวดเร็วช่วยรักษาสภาพโครงกระดูกให้อยู่ในลักษณะเดียวกับเมื่อครั้งยังมีลมหายใจ แท้จริงแล้ว การกลบฝังที่รวดเร็วเช่นนี้ยังอาจถนอมผิวหนังบางส่วนไว้ได้ เช่น ด้านบนของกะโหลกเพศผู้วัยรุ่นและส่วนขากรรไกรใกล้คางของเพศเมียที่เบอร์เกอร์ค้นพบ

นีนา จาบลอนสกี นักมานุษยวิทยาและผู้เขียนหนังสือเรื่อง Skin: A Natural History ถึงกับอุทานว่า “โอ้โฮ! ถ้าถึงขนาดเก็บรักษาผิวหนังของ ออสตราโลพิเทคัส ไว้ได้ ต้องบอกว่าสุดยอดไปเลยค่ะ” ประเด็นที่ทำให้เรื่องนี้ “สุดยอด” ก็คือความเป็นไปได้ในการระบุหรือชี้ชัดลงไปว่า สิ่งมีชีวิตใกล้เคียงกับมนุษย์เหล่านี้ตอบสนองต่อความร้อนอย่างไร โดยเฉพาะสิ่งที่คาดว่าเป็นผิวหนังอาจมีร่องรอยของหนังศีรษะและขนบนใบหน้า รวมทั้ง      ต่อมเหงื่อที่กระจุกตัวหนาแน่น

จาบลอนสกีคิดว่าต่อมเหงื่อเหล่านั้นอาจเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นต่อวิวัฒนาการของสมองที่ใหญ่ขึ้น (เนื่องจากสมองและอวัยวะที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีระบบระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพ) คุณลักษณะอย่างหลังเป็นที่ยอมรับ มานานแล้วในฐานะเครื่องบ่งชี้ความเป็นสายพันธุ์ โฮโม ชิมแปนซีซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์ในปัจจุบันใช้เวลา ส่วนใหญ่หลบร้อนจากดวงอาทิตย์ใต้ร่มเงาป่า และมีความสามารถจำกัดในการขับเหงื่อ บรรพบุรุษยุคต้นๆของมนุษย์อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเช่นกัน แต่ราว 2 ล้านปีก่อนเมื่อสภาพแวดล้อมเริ่มแห้งแล้งขึ้น “พวกมัน” เริ่มออกหาอาหาร ในทุ่งหญ้าเปิดโล่งมากขึ้นสมองขนาดใหญ่ขึ้นยิ่งจำเป็นต้องมีการระบายความร้อนมากขึ้นตามไปด้วย จาบลอนสกีตั้งข้อสังเกตว่าต่อมเหงื่อที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและขนตามร่างกายที่ลดลงช่วยระบายความร้อนได้ดีขึ้น ซึ่งนั่นย่อมเอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง ขณะที่พวก  โฮโม เริ่มใช้สมองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในการสร้างเครื่องมือ วางแผน และทำกิจกรรมท้าทายความคิดอื่นๆ

ถ้าเช่นนั้น สมองของ ออสตราโลพิเทคัส เซดิบา มีลักษณะอย่างไร คำถามนี้เรียกรอยยิ้มจากเบอร์เกอร์ได้อีกครั้ง ด้วยปริมาตร 420 ลูกบาศก์เซนติเมตร สมองของ เอ. เซดิบา อาจไม่ต่างจากสมองของชิมแปนซีเท่าไรนัก แต่รูปทรงของสมองต่างหากที่ผิดแผกออกไป ทีมงานของเบอร์เกอร์ร่วมกับปอล ตัฟโฟโรจากสำนักงานซิงโครตรอนแห่งยุโรป (European Synchrotron Radiation Facility) ในประเทศฝรั่งเศส จัดทำชุดภาพความละเอียดสูงเป็นพิเศษเพื่อสร้างแบบหล่อโพรงกะโหลกเสมือนจริงของฟอสซิลมาลาปาเพศผู้วัยรุ่นแสดงให้เห็นเส้นโครงทั่วไปของชั้นสมองด้านนอก

คริสเตียน คาร์ลสัน นักมานุษยบรรพกาลวิทยา ซึ่งอยู่ระหว่างจำลองสมองของ ออสตราโลพิเทคัส เซดิบา ชี้ว่า “สมองส่วนหน้าทั้งสองซีกดูเหมือนจะมีขนาดแตกต่างกัน” ลักษณะอสมมาตร (asymmetry) หรือความไม่เท่ากันระหว่างสมองซีกขวากับซีกซ้ายที่เด่นชัดถือเป็นลักษณะเด่นของมนุษย์ เพราะส่วนที่เป็นสมองใหญ่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยสมองซีกซ้ายทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสามารถหรือทักษะด้านภาษา

คุณูปการใหญ่หลวงของ ออสตราโลพิเทคัส เซดิบา น่าจะอยู่ที่ความสามารถในการอธิบายต้นกำเนิด       ที่ยังคลุมเครือ ของ โฮโม เพราะที่ผ่านมามีฟอสซิลอายุมากกว่า 2 ล้านปีเพียงไม่กี่ตัวอย่างเท่านั้นที่เชื่อว่าอยู่ในสกุลนี้ แต่พอถึงราว 1.8 ล้านปีก่อน สมาชิกสกุล โฮโม ก็ปรากฏตัวขึ้น ไม่ใช่แค่หนึ่ง แต่อาจถึงสองหรือสามสายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาตะวันออก สายพันธุ์ที่เก่าแก่และมีสมองเล็กกว่าเรียกว่า โฮโม ฮาบิลิส (Homo habilis) หรือ “มนุษย์ช่าง” เนื่องจากพบความเชื่อมโยงกับเครื่องมือหินยุคแรกซึ่งทำขึ้นอย่างหยาบๆ นักวิจัยบางคนจัดโฮโม ฮาบิลิส สองสามตัวอย่างไว้ในสายพันธุ์เฉพาะ คือ โฮโม รูดอลเฟนซิส (Homo rudolfensis) ต่อจากนั้นเป็นกลุ่ม  โฮโม อีเร็กตัส (Homo erectus สายพันธุ์แรกๆในแอฟริกาบางครั้งเรียกว่า โฮโม เออร์กัสเตอร์ – Homo ergaster) พวกหลังมีสมองขนาดใหญ่กว่า ร่างกายสูงใหญ่กว่า และมีความเจริญกว่า แต่อยู่ร่วมยุคเดียวกับ โฮโม ฮาบิลิส ที่มีขนาดร่างกายเล็ก

คำถามคือบรรพบุรุษสายพันธุ์ต่างๆเหล่านี้วิวัฒน์มาจากไหน วิลเลียม คิมเบล นักมานุษยบรรพกาลวิทยา ยอมรับว่า ความพยายามในการสืบเสาะลึกลงไปในอดีตรังแต่จะเพิ่มความอึดอัดคับข้องใจ “ตัวอย่างฟอสซิลโฮโมเหล่านี้มีอยู่แค่หยิบมือเองครับ คุณเอามาใส่รวมกันในกล่องรองเท้าใบเล็กๆ แล้วยังมีที่เหลือพอสำหรับรองเท้าขนาดพองามอีกคู่หนึ่งเลยครับ” ชิ้นส่วนขากรรไกรบนจากหมู่บ้านฮาดาร์ในเอธิโอเปียมีอายุ 2.3 ล้านปี ส่วน         ขากรรไกรล่างจากมาลาวีน่าจะเก่าแก่กว่านั้น สัก 100,000 ปี นักวิจัยบางคนอาจรวมชิ้นส่วนกะโหลกที่พบในเคนยาไว้ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย ทั้งหมดมีเพียงเท่านั้น

แล้วก็มาถึงการค้นพบโครงกระดูก ออสตราโลพิเทคัส เซดิบา ที่ธรรมชาติช่วยรักษาสภาพไว้ได้อย่างดีเยี่ยม หากพินิจพิเคราะห์ในเชิงกายวิภาคศาสตร์แล้ว สายพันธุ์นี้เผยให้เห็นการผสมผสานของคุณลักษณะทั้ง       ดึกดำบรรพ์และที่มีความก้าวหน้า นอกเหนือจากแขนท่อนบนที่ยาว สมองเล็ก และกระดูกส้นเท้าแบบดั้งเดิมแล้ว รูปร่างที่เล็กและรูปทรงของปุ่มฟันกรามตลอดจนโหนกแก้มยังละม้ายคล้ายคลึงกับพวก   ออสตราโลพิเทคัส    ยุคก่อนหน้าอย่าง ออสตราโลพิเทคัส แอฟริกานัส ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกาใต้เมื่อราว 2 – 3 ล้านปีก่อน

แดร์ริล เด รูตเทอร์ นักมานุษยบรรพกาลวิทยา ผู้เป็นส่วนหนึ่งของทีมขุดค้นที่มาลาปา อธิบายว่า ขาที่ยาวและข้อเท้าที่มีลักษณะแบบยุคใหม่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่บ่งบอกว่า ชนิดพันธุ์นี้โน้มเอียงมาทางด้านมนุษย์ (มากกว่าเอป) เขายังยกตัวอย่างกระดูกเชิงกรานที่มีลักษณะเหมือนของมนุษย์โดยพัฒนาให้รองรับการเดินสองเท้าอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีฟันและกล้ามเนื้อช่วยในการบดเคี้ยวขนาดเล็กลง จมูกที่ยื่นออกมาและลักษณะอื่นๆ บนใบหน้า และที่โดดเด่นมากคือมือที่จับได้อย่างแม่นยำ คุณลักษณะเหล่านี้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอให้ทีมขุดค้นเสนอว่า เอ. เซดิบา คือสายพันธุ์ ออสตราโลพิเทคัส ที่น่าจะเป็นต้นกำเนิดของสกุล โฮโม มากที่สุด

กันยายน 2554

kartoonyna

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 12
    • ดูรายละเอียด
อืมมม