ผู้เขียน หัวข้อ: พลังเพศแม่(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1656 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ชูเซ อัลแบร์ตู, มูรีลู, เชรัลดู, อันเชลา, เปาลู, เอดวีเชส, วีเซนตี, รีตา, ลูเซีย, มาร์เซลีนู, เตเรซินยา รวม 11 คนใช่ไหม ไม่นับหนึ่งที่ตายในท้อง แท้งไปสาม และอีกคนที่อยู่ได้ไม่ถึงวัน ดอนามาเรีย รีเบย์รู ดี การ์วัลยู หญิงบราซิลวัย 88 ปี จบการไล่เรียงรายชื่อลูกๆที่เกิดจากการตั้งครรภ์ 16 ครั้งของเธอ และมองไปยังชูเซ อัลแบร์ตู ลูกชายคนโตผู้แวะมาเยี่ยมในวันอาทิตย์ “ลองคิดดูสิว่ามีลูกเต้ามากขนาดนี้” ดอนามาเรียพูดเรียบๆ น้ำเสียงเจือความผิดหวังเล็กๆ “ป่านนี้ฉันน่าจะมีหลานเกินร้อยแล้วค่ะ”

ชูเซ อัลแบร์ตู หรือที่รู้จักกันในแวดวงวิชาการว่า ศาสตราจารย์การ์วัลยู เป็นนักประชากรศาสตร์คนสำคัญคนหนึ่งของบราซิล  เขารู้ว่าจำนวนหลานทั้งหมดของครอบครัวคือ 26 คน  ตลอดชีวิตการทำงานส่วนใหญ่  เขาติดตามเก็บข้อมูล ศึกษาวิเคราะห์ และเขียนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางประชากรอันโดดเด่นของบราซิล ซึ่งสะท้อนให้เห็นในภาพเล็กอย่างครอบครัวของเขาด้วย โดยภายในสองชั่วอายุคน อัตราเจริญพันธุ์ได้ลดลงเหลือจำนวนบุตร 2.36 คนต่อครอบครัว เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 1.9 คนต่อครอบครัว

อัตราเจริญพันธุ์ดังกล่าวของบราซิลถือว่าต่ำกว่าระดับทดแทนเสียอีก ในประเทศใหญ่ที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกาแห่งนี้ ที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมด 191 ล้านคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ยกเว้นบางกรณีซึ่งพบไม่บ่อยเท่านั้น) และรัฐบาลไม่เคยมีนโยบายส่งเสริมการคุมกำเนิดอย่างเป็นทางการเลย แต่ครัวเรือนกลับมีขนาดเล็กลงอย่างฮวบฮาบและต่อเนื่องตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมา

ข้อน่าสังเกตคือไม่ใช่แค่ผู้หญิงทำงานและที่มีฐานะดีเท่านั้นที่เลิกมีลูกมาก นักวิจัยที่ศูนย์ประชากรศาสตร์ซึ่งการ์วัลยูช่วยก่อตั้งพบว่า อัตราการเกิดลดลงในทุกชนชั้นและทุกภูมิภาคของบราซิล ตลอดหลายสัปดาห์ของการสัมภาษณ์ พูดคุยกับหญิงชาวบราซิลเมื่อไม่นานมานี้ เกือบทุกคนบอกว่าครอบครัวบราซิลยุคใหม่ควรมีลูกสอง ถ้าเป็น กาซัล หรือหญิงคนชายคนได้จะดีมาก สามคนน่ะหรือเลิกคิดไปได้เลย บางคนบอกว่าแค่หนึ่งคนก็พอแล้วด้วยซ้ำ เย็นวันหนึ่งในย่านชนชั้นแรงงานชานเมืองเบโลโอรีซอนตี สาวน้อยวัยสิบแปดที่ยังไม่ได้แต่งงานคนหนึ่งเฝ้ามองลูกชายวัยหัดเดินของเธออย่างรักใคร่เอ็นดู หญิงสาวบอกว่าเธอรักลูกมาก แต่เธอมีลูกพอแล้ว เธอใช้คำพูดที่ฉันเคยได้ยินจากหญิงบราซิลคนอื่นๆมาก่อน “อาฟาบริกาเอสตาเฟชาดา” อู่ปิดแล้ว

อัตราเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างชัดเจนไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดเฉพาะในบราซิลเท่านั้น ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องประชากรโลกที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้น แต่ประชากรโลกเกือบครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในประเทศที่อัตราเจริญพันธุ์ลดต่ำลงกว่าระดับทดแทนซึ่งเป็นระดับที่คู่สามีภรรยามีบุตรมากพอที่จะทดแทนตนเอง หรือเฉลี่ยสองคนเศษต่อครอบครัว ในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหลือของโลก อัตราเจริญพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ยกเว้นก็แต่ภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา

สำหรับนักประชากรศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจสาเหตุและนัยของแนวโน้มอันน่าทึ่งนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบราซิลนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สุดกรณีหนึ่งในโลก บราซิลมีพื้นที่ไพศาล แต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ และวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง กระนั้น ข้อมูลเชิงประชากรของประเทศกลับละเอียดครอบคลุมและเชื่อถือได้เสมอมา

ถึงแม้จะมีเหตุผลนานัปการที่ทำให้อัตราเจริญพันธุ์ในบราซิลลดลงอย่างฮวบฮาบและรวดเร็วปานใดก็ตาม แต่หัวใจของเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็คือบรรดาผู้หญิงที่กล้าแกร่งและรู้จักปรับตัว พวกเธอลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลงเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน โดยปราศจากการสนับสนุนใดๆจากภาครัฐ ทั้งยังท้าทายคำสอนของเหล่าบาทหลวง โดยเริ่ม “ปิดอู่” ทุกวิถีทางที่พวกเธอพอจะทำได้

บรรดานักประชากรศาสตร์ต่างถกเถียงกันถึงสาเหตุอันหลากหลายที่ทำให้อัตราเจริญพันธุ์ของบราซิล    ลดลง แต่ถ้าอยากไล่เรียงปัจจัยที่ทำให้อัตราเจริญพันธุ์ของประเทศกำลังพัฒนา (อย่างบราซิล) ลดลงทั้งๆที่ไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐ ต่อไปนี้คือแผนหกประการ (six-point plan) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของสังคมบราซิลยุคใหม่

1. มุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น เร่งด่วน และล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ โดยขับเคลื่อนให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นของประชากรจากชนบทเข้าเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการที่นักเศรษฐศาสตร์เคยคิดกันว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษ ให้เกิดขึ้นภายใน 25 ปีเท่านั้น เหล่าผู้นำทางทหารของบราซิลบังคับใช้ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการสร้างงาน ในเขตเมืองที่ซึ่งพื้นที่อยู่อาศัยล้วนแออัดยัดเยียด ถนนหนทางและตรอกซอกซอยเต็มไปด้วยอันตราย การมีลูกเล็กเด็กแดง จึงเป็นเหมือนการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าจะเป็นลูกมือช่วยงานในอนาคต

2. เปิดเสรีการใช้ยาส่วนใหญ่และปล่อยให้การซื้อขายทำได้สะดวก เมื่อยาเม็ดคุมกำเนิดเข้าสู่ตลาดในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ผู้หญิงทุกชนชั้นสามารถหาซื้อได้ถ้ามีเงิน แม้จะไม่มีใบสั่งแพทย์

3. ลดสถิติการตายของทารกและเด็กลงจนถึงจุดที่ครอบครัวไม่อยากมีลูกมากๆไว้เผื่อกรณีลูกตายตั้งแต่เด็กอีกต่อไป เสริมความมั่นใจด้วยโครงการบำนาญของภาครัฐ เพื่อให้พ่อแม่ชนชั้นแรงงานเลิกคิดว่าการมีครอบครัวใหญ่คือทางรอดเดียวของพวกเขายามแก่เฒ่า

4. ประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปากในหมู่ผู้หญิงว่า แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐที่ผ่าตัดทำคลอดให้อาจยอมทำหมันถาวรด้วยการผูกท่อรังไข่ให้พวกเธอแบบเงียบๆ ด้วยวิธีนี้การทำหมันถาวรซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ ทว่าได้รับความนิยมและการสนับสนุนจากรัฐบาลตลอดหลายสิบปีสามารถดำเนินต่อไป (ระบบสาธารณสุขของบราซิลไม่ยอมรับการทำหมันหญิงโดยสมัครใจอย่างเป็นทางการกระทั่งถึงปี 1997)

5. นำไฟฟ้าและเครื่องรับโทรทัศน์เข้าไปถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ในชนบทพร้อมๆกัน เพราะนี่คือสองปัจจัยหลักที่พลิกรูปแบบการดำเนินชีวิตเดิมๆของครอบครัว จากนั้นก็กระหน่ำออกอากาศภาพลักษณ์อันสดใส             ชวนไขว่คว้าของครอบครัวบราซิลยุคใหม่ นั่นคือมีขนาดเล็ก ร่ำรวย และผิวไม่คล้ำ นักวิชาการพบอิทธิพลต่อการลดขนาดครอบครัวที่เห็นได้ชัดของ โนเวลา ละครภาคค่ำภาษาโปรตุเกสยอดนิยมของบราซิล หรือ เตเลโนเวลา ที่ออกอากาศทั่วภูมิภาคละตินอเมริกา แต่ละเรื่องมีเวลาฉายหลายเดือนเหมือนนิยายรักประโลมโลกที่ยาวไม่รู้จบ

และสุดท้าย ข้อ 6 ทำให้ผู้หญิงทุกคน (ในประเทศคุณ) เป็นชาวบราซิลเสียก็หมดเรื่อง

นี่คือดินแดนอันเปราะบาง...บราซิลกับผู้หญิง คำว่า “ชายเป็นใหญ่” (machismo) ในภาษาโปรตุเกสซึ่งเป็นภาษาราชการของบราซิล มีความหมายไม่ต่างจากคำคำเดียวกันในภาษาสเปนที่ประเทศอื่นๆในอเมริกาใต้ใช้ และ  คำคำนี้ก็เกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงในบ้านและการใช้กำลังทำร้ายสตรีซึ่งบราซิลจัดว่ามีอยู่ในระดับสูง กระนั้น ประเทศนี้ก็เปลี่ยนแปลง อย่างขนานใหญ่โดย โมวีเมนตูดัสมุลเยเรส หรือขบวนการเคลื่อนไหวของสตรีในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980

บราซิลมีประธานาธิบดีหญิง มีนายทหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงหลายคน มีสถานีตำรวจพิเศษที่บริหารงานโดยเจ้าหน้าที่สตรีและทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์สตรีโดยเฉพาะ แล้วยังมีนักฟุตบอลหญิงชื่อดังที่สุดในโลก ฉันใช้เวลาช่วงค่ำวันหนึ่งในเมืองกัมปีนัสกับอานีบัล ฟาอุนเดส อาจารย์แพทย์ด้านสูติศาสตร์ชาวชิลี ซึ่งช่วยนำร่องการศึกษาระดับชาติว่าด้วยอนามัย เจริญพันธุ์ ฟาอุนเดสย้ำหลายครั้งถึงสิ่งที่เขามองว่าเป็นแรงขับสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอัตราเจริญพันธุ์ของประเทศนี้ โดยบอกว่า “อัตราเจริญพันธุ์ลดลงเพราะผู้หญิงตัดสินใจไม่อยากมีลูกมากไปกว่านี้ ผู้หญิงบราซิลเข้มแข็งมากครับ นี่เป็นเรื่องของการที่พวกเธอตัดสินใจและหาหนทางทำให้สำเร็จ”

กันยายน 2554