ผู้เขียน หัวข้อ: หากฉันบิน บินไป ได้ดั่งนก(สารคดี-เนขั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1656 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ฉันยืนอยู่บนเนินทรายอันเหน็บหนาวและลมพัดแรงในรัฐนอร์ทแคโรไลนา พร้อมแล้วที่จะทำความฝันที่มีร่วมกับ เลโอนาร์โด ดา วินชี ให้เป็นจริง นั่นคือการโบยบิน  อัจฉริยบุคคลสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการผู้นี้ใช้เวลาหลายปีในการถอดรหัสการบินของนกและประดิษฐ์จักรกลที่ช่วยให้มนุษย์บินได้  ประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นในช่วง 500 ปีหลังจากนั้น ทำให้เรามีเครื่องร่อนที่อยู่เหนือศีรษะฉันในตอนนี้  แต่แม้จะผ่านการผจญภัยและลองผิดลองถูกมาหลายร้อยปี การบินส่วนบุคคล (personal flight) ยังคงเป็นความฝันที่ไม่อาจไขว่คว้า

นั่นไม่ใช่เพราะไม่มีใครพยายาม  หลายชีวิตต้องดับสูญ  และเม็ดเงินมหาศาลหมดไปกับการทำความฝันแห่งโลกการบินให้เป็นจริง กระทั่งทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ และนักผจญภัย ก็ยังคงวิ่งตามความฝันนี้อย่างไม่ลดละ

เลโอนาร์โดวาดภาพนกขณะโบยบินหลายร้อยภาพเพื่อไขความลับแห่งการบินของพวกมัน และร่างแบบที่มีรายละเอียดยิบย่อยของจักรกลการบินที่ไม่ต่างไปจากเครื่องร่อนและเฮลิคอปเตอร์ในยุคสมัยของเรา แต่ปริศนาที่เขาขบไม่แตกคือเรื่องของฟิสิกส์การบิน  กระทั่งอีกกว่า 300 ปีต่อมา และการทดลองอันล้มเหลวอีกไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เซอร์จอร์จ เคย์ลีย์ วิศวกรชาวอังกฤษ จึงสามารถชี้ชัดได้ว่า การบินนั้นต้องอาศัยทั้งแรงยก (lift) แรงขับเคลื่อน (propulsion) และการควบคุมทิศทาง (control)

เครื่องร่อนสำหรับมือใหม่อย่างฉันเป็นเครื่องที่อาศัยหลักการทำงานง่ายๆ และแม้ฉันจะรู้ว่ามันบินได้แน่ๆ แต่การควบคุมก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี ครูฝึกที่สถาบันคิตตีฮอว์กไคต์สในเมืองคิลล์เดวิลฮิลส์ อธิบายว่า การบังคับเครื่องร่อนอาศัยการเคลื่อนไหวง่ายๆ เพียงห้าลักษณะ ได้แก่ เอนตัวไปทางซ้ายหรือขวาเพื่อเลี้ยว ดันคันบังคับ ขึ้นลงเพื่อเร่งหรือลดความเร็ว และดันคันบังคับขึ้นหากต้องการลงจอด กระนั้น เพื่อนร่วมชั้นเรียนของฉันยังทำเครื่องร่วงปักทรายอยู่ตลอด

หลายปีก่อนฉันเคยหัดบินเครื่องบินแบบเครื่องยนต์เดี่ยวมาแล้ว แต่กลับพบว่าการขับเครื่องบินเล็กไม่น่าตื่นเต้นเลย ฉันหวังว่าเครื่องร่อนจะทำให้ฉันได้ “ลิ้มรสชาติ” ของการบินอย่างแท้จริง สิ่งหนึ่งที่มันไม่ทำให้ฉันผิดหวังเลยคือ ความกลัว ฉันกำคันบังคับแน่นจนเจ็บมือขณะวิ่งลงมาตามเนินทราย ทันใดนั้น เท้าฉันก็ลอยขึ้นจากพื้นและวิ่งอยู่กลางอากาศ ฉันกำลังบิน! ไม่กี่อึดใจหลังจากนั้น ฉันดันคันบังคับขึ้นเหนือศีรษะและนำเครื่องลงจอดอย่างโซซัดโซเซ แต่ก็ประคองตัวยืนอยู่ได้ จากนั้นก็เดินกลับขึ้นไปบนเนิน ในใจอยากจะสัมผัสช่วงเวลาที่แสนแปลกและสุดวิเศษกลางอากาศอีกสักครั้ง

ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา “คนติดปีก” จำนวนนับไม่ถ้วนต้องเอาชีวิตไปทิ้ง หลังกระโจนจากหอคอยหรือหน้าผาโดยไม่ตระหนักเลยว่า พวกเขาไม่มีทางกระพือปีกที่ทำขึ้นเองให้แรงหรือเร็วพอที่จะพยุงตัวอยู่กลางอากาศได้ ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ดังกล่าวในปัจจุบันเห็นจะไม่พ้นบรรดานักกระโดดเบสจัมป์ (BASE Jump) ที่กระโจนจากอาคาร  หน้าผา และสะพาน เพื่อดำดิ่งและดื่มด่ำความรู้สึกเร้าใจอยู่ชั่วขณะ ก่อนจะกระตุกร่มชูชีพให้กางออกเพื่อชะลอการตกลงสู่พื้น แต่การกระโดดเบสจัมพ์ก็จัดว่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะในแต่ละปีมีนักกระโดดเบสจัมพ์เสียชีวิตเฉลี่ย 12 คน

การบินที่อาศัยแรงมนุษย์ครั้งที่ประสบความสำเร็จที่สุดเกิดขึ้นในปี 1988 เมื่อ เดดาลัส (Daedalus) อากาศยานเบาที่สร้างขึ้นโดยทีมงานจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ บินเป็นระยะทาง 115 กิโลเมตรจากเกาะครีตไปยังเกาะซานโตรินีของกรีซ เครื่องบินหนัก  31 กิโลกรัมที่ขับเคลื่อนโดยแรงถีบจากนักปั่นจักรยานโอลิมปิกชาวกรีก เผชิญสภาพอากาศแปรปรวนและตกลงในทะเลห่างจากชายฝั่งซานโตรินีไม่กี่เมตร

วิลเบอร์และออร์วิลล์ ไรต์ แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการติดตั้งมอเตอร์และใบพัดที่เครื่องร่อน เครื่องบินติดเครื่องยนต์ทำให้วงการอากาศยานส่วนบุคคลมีความหวังขึ้นมาว่า สักวันพวกเขาอาจทะยานขึ้นฟ้าได้เหมือนนก ซึ่งเป็นสิ่งที่เครื่องร่อนของฉันทำไม่ได้ แล้วก็ถึงคราวของมนุษย์จรวด

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพสหรัฐฯให้ทุนสนับสนุนโครงการทดลองการบินส่วนบุคคลมากมาย แต่ไม่มี โครงการใดเลยที่สามารถบินได้อย่างปลอดภัยหรือบังคับควบคุมได้ ลองดูเข็มขัดจรวด (rocket belt) เป็นตัวอย่างก็ได้ ผู้สวมเข็มขัดติดเครื่องยนต์ไอพ่นที่นี้บินได้ไม่ถึงหนึ่งนาทีเพราะข้อจำกัดด้านเชื้อเพลิงที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถบรรทุกไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น อุปกรณ์ชิ้นนี้ยังมีราคาสูง เสียงดัง และบังคับควบคุมยากชนิดหาตัวจับยาก

นักประดิษฐ์ยังคงพยายามทำความฝันซึ่งเคยโลดแล่นอยู่ในหนังสือการ์ตูนที่เหล่าตัวละครซูเปอร์ฮีโร่สามารถ เหาะเหินเดินอากาศได้ให้กลายเป็นจริงขึ้นมา และอีฟ โรซี ก็เป็นคนที่ทำได้ใกล้เคียงความจริงที่สุด นักบินชาวสวิสผู้นี้กระโดดออกจากเครื่องบินโดยสวมปีกคาร์บอน-ไฟเบอร์กว้างสองเมตรที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเองโดยติดตั้งเครื่องยนต์ไอพ่นเล็กๆสี่เครื่องเอาไว้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โรซีกระโดดออกจากเฮลิคอปเตอร์เหนือแกรนด์แคนยอนและบินอยู่นาน 8 นาทีก่อนจะกระตุกร่มชูชีพลงสู่พื้น เครื่องยนต์ไอพ่นสร้างแรงขับมากพอให้เขาลอยตัวและบินเป็นวงในอากาศได้หลายครั้ง โรซีบอกว่าการบินแบบนี้ไม่ต่างจากการกระโดดร่มโดยสวมชุดมีปีกเท่าไรนัก แต่มีอิสระในการควบคุมมากกว่า

คุณคงไม่ได้เห็นฉันกระโดดออกจากเครื่องบินโดยมีปีกติดไว้ที่หลังแน่ๆ แต่ฉันยอมรับว่าอยากสัมผัสความสุขแห่งการบินแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของโรซีก็ยังดี

กันยายน 2554