ผู้เขียน หัวข้อ: แนวโน้มใหม่เรื่องสิทธิบัตรกับอุตสาหกรรมยา  (อ่าน 1667 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 ท่านจะเชื่อไหมครับ หากผมบอกว่าวันนี้บทบาทของสิทธิบัตรในอุตสาหกรรมยากำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากอุตสาหกรรมยาจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับเงื่อนไขใหม่ๆ ของการแข่งขันในตลาดเวชภัณฑ์โลก

ที่ผมว่ามานี้ เป็นการพยากรณ์การศึกษาล่าสุดของ UNCTAD และ ICTSD ที่นครเจนีวา ซึ่งระบุว่าอุตสาหกรรมยาเป็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญแก่การคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่คิดค้นและผลิตยาจากการทำวิจัย (research-based pharmaceutical industry) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด โดยใช้เงินลงทุนสูงถึง 8.1 หมื่นล้านยูโรในปี 2551 หรือร้อยละ 16.5 ของยอดขายสุทธิในปีเดียวกัน (อันดับสอง ได้แก่ ธุรกิจซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ 3.1 หมื่นล้านยูโร หรือร้อยละ 9.4 ของยอดขายสุทธิ) และที่ผ่านมาบริษัทยาเหล่านี้ก็อาศัยสิทธิบัตรเป็นเครื่องมือหลักในการปกป้องการลงทุนของตน เพราะสิทธิบัตรให้สิทธิผูกขาดในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากนวัตกรรมที่เป็นผลจากการวิจัยและพัฒนา

 แต่ขณะนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมยากับสิทธิบัตรเริ่มจะเปลี่ยนไป อันมีเหตุผลสำคัญมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกกันในวงการว่า "การสึกกร่อนของสิทธิบัตร" กล่าวคือสิทธิบัตรยายอดนิยมจำนวนมากกำลังจะหมดอายุลงในเร็วๆ นี้ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการค้นพบยาใหม่กลับยากลำบากขึ้นแม้ว่าบริษัทยาใหญ่ๆ จะยังคงทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนามหาศาลอยู่เช่นเดิมก็ตาม ดังนั้นวิธีทำธุรกิจที่มุ่งลงทุนเพื่อค้นหายาใหม่ๆ ที่เป็น "blockbuster drug" มาผลิตขายแบบผูกขาดโดยอาศัยการคุ้มครองของสิทธิบัตร (ซึ่งจะทำกำไรมหาศาลเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตสามารถตั้งราคายาได้สูง) ดูจะไม่ใช่สูตรสำเร็จของความร่ำรวยอีกต่อไปเสียแล้ว   

 ไม่เพียงแต่ค้นคิดยาใหม่ออกสู่ตลาดได้น้อยลง บริษัทยายักษ์ใหญ่ของตะวันตกยังประสบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลกจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญจากประเทศกำลังพัฒนา ทำให้วันนี้บางบริษัทเริ่มเข้าสู่ตลาดยาชื่อสามัญเสียเอง ทั้งที่เมื่อไม่นานมานี้เองบริษัทยาตะวันตกต่างก็ต่อต้านยาชื่อสามัญและพยายามกีดกันทุกวิถีทาง เช่น ผลักดันมาตรการ border enforcement อาทิ กรณีศุลกากรเนเธอร์แลนด์กักยาชื่อสามัญ Losartan จากอินเดียขณะแวะท่าที่รอตเตอร์ดัมระหว่างเดินทางไปบราซิล ซึ่งมองกันว่ามีผลประโยชน์ของบริษัทยารายใหญ่อยู่เบื้องหลัง

 นอกจากนี้ การหันมาผลิตยาชื่อสามัญยังจะเป็นช่องทางให้บริษัทยาตะวันตกได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยในปี 2552 ตลาดเวชภัณฑ์ในบราซิล จีน อินเดีย เม็กซิโก รัสเซีย เกาหลีใต้และตุรกี รวมกันมีการขยายตัวสูงถึง 51% ขณะที่ตลาดยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือและญี่ปุ่นมีการเติบโตเพียง 16%

 ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่บริษัทยาตะวันตกรายใหญ่จะได้ส่วนแบ่งตลาดในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในส่วนของยาที่ผลิตภายใต้สิทธิบัตรด้วย เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนายังมีกำลังซื้อต่ำ หากตั้งราคายาสูงจะมีเฉพาะประชากรส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงยาได้ แต่หากปรับราคายาให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของประเทศกำลังพัฒนา ก็อาจช่วยเพิ่มยอดขายและเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงยาให้กับประชากรส่วนใหญ่ เช่น กรณีอินเดียซึ่งมีคนป่วยโรคมะเร็ง 2 ล้านคนและจะมีเพิ่ม 700,000 คนต่อปี คาดว่าต้องการยารักษาเป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ขณะนี้ยอดขายยารักษามะเร็งในอินเดียอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่แตกต่างกันมากนี้ทำให้มองได้ว่าราคายาขณะนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา จึงมีแนวโน้มว่าบริษัทยารายใหญ่เริ่มที่จะยอมรับแนวคิดเรื่อง Tiered pricing มากขึ้น โดยในอีกไม่ช้า ยาจะมีราคาหนึ่งสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และอีกราคาหนึ่งสำหรับขายในประเทศกำลังพัฒนา โดยขึ้นกับกำลังซื้อ

 ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่าสิทธิบัตรลดความสำคัญลงนะครับ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่าแม้แต่อุตสาหกรรมยาก็อาจลดการพึ่งพาสิทธิบัตรลง ซึ่งก็น่าจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเรื่องนี้พลอยลดลงไปด้วย อันเป็นแนวโน้มที่ดี และที่แน่ๆ ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราน่าจะได้ประโยชน์ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,661  14 - 17  สิงหาคม พ.ศ. 2554