ผู้เขียน หัวข้อ: หมอรู้ได้อย่างไร ? ว่าคุณป่วยเป็นโรคอะไร(ผ่าอกคุย กับ หมอสัญญา )  (อ่าน 1874 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
..ก็ไม่ยากครับ เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดชีวิต เพราะ ชีวิตก็คือการเรียนรู้ ยังไงล่ะครับ

สิ่งแรกที่เราจะมีส่วนร่วมได้ดีสิ่งหนึ่งก็คือ เราน่าจะรู้ “หลักคิด” พื้นฐานที่หมอจะใช้ในการวินิจฉัยโรค

เราๆท่านๆคงเคยไปเจอหมอมาบ้างแล้วทุกคนแหละ โรคหนักบ้างเบาบ้างก็แล้วแต่กรณีไป แต่เราเคยคิดหรือไม่ว่า เอ..แล้วหมอเขามีหลักยังไง ใช้อะไรเป็นแนวทางในการพินิจพิเคราะห์ว่าคนป่วยของหมอ จะเป็นโรคอะไรได้บ้าง

หรือว่าหมอเขาเห็นคนป่วยเดินเข้ามาก็เขียนใบสั่งยาเลย ไม่ได้พูดคุยอะไรก็รู้เรื่องแล้ว ...แสดงว่าหมอเขาคงระดับเซียนแหงๆเลย ใช่หรือเปล่า?

ไม่ใช่หรอกครับ เพราะการที่หมอเราจะรู้ว่าคนป่วยของเขาเป็นโรคอะไร มีอะไรผิดปกติอยู่ภายในนั้น ไม่มีทางที่จะพูดคุยไม่กี่คำ แล้วจะวินิจฉัยได้อย่างไม่มีพลาด เพราะโดยพื้นฐานแล้ว การที่เราจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น สิ่งแรกที่เราต้องทำก่อนคือ การพูดคุยซักถามคนป่วยก่อน

ยกตัวอย่างเช่น มีชายฉกรรจ์เป็นหนุ่มใหญ่อายุราวๆสี่สิบเศษๆอยู่คนหนึ่ง แกมาหาหมอที่คลินิกตามสิทธิประกันสุขภาพใกล้บ้านอยู่เป็นประจำ ทุกครั้งที่มาก็เพื่อมาขอเอายาโรคกระเพราะ หรือโรคกรดไหลย้อน ...ทำไมทุกครั้งถึงมาขอรับยาได้หรือครับ ก็ง่ายมาก เขาก็บอกหมอที่คลินิกซิครับว่า “พอดีเป็นโรคกระเพาะ จะมาขอรับยา”

เจอแบบนี้ หมอที่มีคนป่วยรออยู่อีกเป็นร้อย ไม่มีใครหรอกครับจะมานั่งซักประวัติ ตรวจร่างกายกันให้ยุ่งยาก เอ้า...คุณอยากได้ยาโรคกระเพาะใช่ไหม “โอเคครับ สบายมาก เดี๋ยวจัดให้..”

ว่าแล้วคุณหนุ่มใหญ่คนนี้ก็มารอรับยา แน่นอนว่าเขามาที่คลินิกนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มารับยาโรคกระเพราะ หรือโรคกรดไหลย้อนอะไรนั่น แต่เขามาขอยาร่วมๆสองหรือสามปีได้แล้ว ทุกครั้งที่มารับยา หมอจะไม่ได้มาซักถามอะไรมาก เพราะถูกคนป่วย “ช่วย” วินิจฉัยให้เสียก่อนแล้ว

สำหรับอาการที่เขาเป็นนั้นหรือ ก็ไม่มีอะไรมาก นอกเสียจากอาการแสบๆร้อนๆตรงลิ้นปี่ แล้วก็มีบางครั้งที่มันร้อนๆแผ่มาถึงบริเวณคอ จะว่ามันมีอาการที่เกี่ยวอะไรกับเวลาที่กินข้าวด้วยหรือเปล่า ก็มีบ้างที่เวลากินอิ่มๆจะแน่นลิ้นปี่ หรือแสบร้อนๆ จุกๆ ขึ้นมาบ้าง …คือสรุปว่า เขาคิดว่า มันไม่น่าจะเป็นอะไร ร้ายแรง อย่างมากก็แค่โรคกระเพาะนั่นแหละ เพราะไปเจอหมอตั้งหลายครั้งแล้ว หมอก็ไม่เห็นจะว่าเป็นอะไรอย่างอื่น ..ซึ่งก็แน่นอนล่ะครับ ก็หมอท่านไม่ได้ซักไซ้ไล่เรียงอะไรมากมายนี่นา

แต่ในห้วงเวลาร่วมๆสองปี ก็มีหมออยู่ท่านหนึ่งที่คลินิก (หมอรักษาหน่วยปฐมภูมิจะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ เพราะหมอส่วนใหญ่มักจะนิยมเข้าไปเรียนต่อเฉพาะทางกัน) เกิดบังเอิญถามคุณหนุ่มฉกรรจ์ท่านนี้ว่า สูบบุหรี่หรือเปล่า ซึ่งคำตอบก็คือสูบจัดมากพอควร วันละซองสองซอง... หมอท่านก็เลยแนะนำว่า ให้เลิกบุหรี่ซะ เพราะมันทำให้อาการโรคกระเพาะเป็นมากขึ้นได้

จากนั้น เขาก็ยังมารับยากันเรื่อยๆเกือบทุกเดือน แต่เมื่อราวๆเดือนกรกฎา ที่ผ่านมานี่เอง คุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่า มันคือเดือนสุดท้ายที่เขายังมีลมหายใจมารับยาโรคกระเพาะ

เมื่อเดือนก่อนนี้เอง ที่ชายหนุ่มใหญ่ พ่อของลูกสาวสองคนที่กำลังเรียนมัธยมต้นรายนี้ ก็มารับยาไปตามปกติ พอเอายาเสร็จ ภรรยาของเขาที่มาด้วยกัน ก็บอกว่าจะไปซื้อข้าวมันไก่ที่ปากซอยฝั่งตรงข้าม ตัวคุณสามีก็บอกว่างั้นเดี๋ยวไปรอที่รถก่อนก็แล้วกัน

ระหว่างที่คุณภรรยาไปรอซื้อข้าวมันไก่ฝั่งตรงข้าม พอดีร้านข้าวมันไก่ร้านนี้ขายดีมาก คุณภรรยาก็รอนานตั้งร่วมๆเกือบยี่สิบนาที กว่าจะข้ามถนนกลับมาที่รถได้ก็เล่นเอาเมื่อยเหมือนกัน พอคุณภรรยาเปิดประตูรถปุ๊บ ยังไม่ทันจะบ่นว่ารอซื้อข้าวนานฉิบ คุณภรรยาก็ต้องชะงักไปครู่หนึ่ง ก่อนที่จะกรีดร้องด้วยความตกใจสุดขีด

“หา... ตายแล้วคุณพี่ค่ะ เป็นอะไรไป ทำไมถึงนอนฟุบแบบนี้” คุณภรรยาเรียกสามีของเธอด้วยความตื่นตระหนก เพราะสามีของเธอ ทุกทีเห็นว่าแข็งแรงดีเสมอ แต่คราวนี้นอนสลบเหมือดอยู่บนเบาะข้างคนขับ ปลายนิ้ว ปลายเล็บเขียวอื๋อชัดเจน ริมฝีปากก็ซีดเขียว และแน่นอนว่า เรียกยังไงก็ไม่รู้สึกตัว ตัวเย็นเหมือนกับคนตายยังไงยังงั้น

“ช..ช่วย ...ช่วยด้วยค่ะ ใครก็ได้ช่วยหน่อยค่ะ” เธอร้องตะโกนให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาใกล้เคียง มาช่วยกันหน่อย เพราะไม่รู้ว่าสามีของเธอ เกิดอะไรขึ้น เป็นอะไร เป็นอย่างนี้ไปได้ยังไง

ก็พอดี หมอที่อยู่ใกล้ที่สุดก็อยู่ที่คลินิกที่เขาเพิ่งจะไปเอายาโรคกระเพาะมานี่แหละ คุณภรรยาก็รีบวิ่งเข้าไปที่คลินิก เพื่อไปเรียกหมอที่กำลังหน้าดำคร่ำเคร่งกับการเขียนใบสั่งยาเป็นพัลวัน

“คุณหมอค่ะ... สามีหนูตอนนี้หมดสติอยู่ในรถค่ะ” คุณภรรยาบอกหมอคนเดิมที่เขียนใบสั่งยาโรคกระเพาะมาให้เมื่อครู่ อาการตื่นตระหนกที่เห็นได้ชัดของคุณภรรยา ทำให้หมอต้องพิศวงไปไม่น้อย

...ซึ่งก็แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นหมอคนไหน ก็ต้องทำหน้างงๆในตอนแรก และคงตั้งคำถามในใจว่า ...หมดสติอะไร จริงหรือเปล่า แต่ยังไงหมอก็รีบวิ่งออกจากห้องตรวจ ที่มีคนป่วยกำลังนอนตรวจอยู่บนเตียง

...จากนั้น ปฏิบัติการปั๊มหัวใจ เพื่อยื้อมัจจุราชก็เริ่มขึ้นบนรถเก๋งคันนั้น ก็คิดดูแล้วกันว่าหมอเขาอุตส่าห์พยายามแค่ไหน ที่เริ่มปั๊มหัวใจในรถ อย่างทุลักทุเล ต้องเรียกคนที่คลินิกมาช่วยอีก เพราะคนป่วยหยุดหายใจ วิธีการที่จำเป็นยิ่งยวดในตอนนั้น ก็คือต้องใส่ท่อหายใจก่อน เพื่อจะได้ทำการบีบปอด เอาอากาศไปฟอกในปอด พร้อมๆกับการปั๊มหัวใจเพื่อให้มีกระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกาย รวมทั้งตัวกล้ามเนื้อหัวใจเองด้วย

...แต่ทว่า ที่คลินิกแห่งนี้ ไม่มีอุปกรณ์การใส่ท่อหายใจที่เตรียมพร้อมสำหรับใช้งานได้ตลอด อ้าว...แล้วหมอจะทำไงดีล่ะ ...ก็ไม่ยากครับ คนป่วยก็ขาดออกซิเจน หรือรับออกซิเจนไม่ได้เต็มที่ไปก่อนนะสิครับ!

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนั้น ก็คือรีบกระเตงผู้ป่วย ส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด
...ครับ หนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์คนนี้ เช้าวันนั้น ชีวิตของเขาเริ่มต้นที่คลินิก มาเอายาโรคกรดไหลย้อนกับโรคกระเพาะ แต่ตอนเที่ยงๆ เขาต้องมาอยู่ในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ที่โรงพยาบาลศูนย์หัวใจแห่งหนึ่ง

ภายใต้สภาพที่ยังไม่รู้สติดี หรือเทียบเท่ากับโคม่านั่นแหละครับ หัวใจของคนที่หมอจัดแต่ยาโรคกระเพาะให้มาตลอดนี้ กำลังขาดเลือดรุนแรง ตอนนี้ หัวใจกลับมาเต้นได้แล้ว หลังฉีดยากระตุ้นหัวใจนานาชนิดที่มีก่อนจะได้มาฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ...ตอนนี้ หัวใจยังเต้นได้ก็จริง แต่สมองเขากลับขาดเลือดมานาน การขาดเลือดไปเลี้ยงนาน ก็คือการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ประสาทที่แสนจะเปราะบางนั่นเอง

ครับ... หัวใจคนเราทนการขาดเลือดได้นานประมาณยี่สิบนาที โดยที่ไม่เกิดความเสียหายถาวร แต่เซลล์สมองมันทนทานต่อการขาดเลือดได้เพียงแค่ไม่เกินสามหรือสี่นาทีเท่านั้น โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ ความคิดอ่านตรรกะ และการทำงานขั้นสูงของสมองที่เกิดเป็นสติปัญญาของเรา จะเสียหายได้เร็วที่สุด

ตอนนี้ ผู้ป่วยมาอยู่ในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจแล้ว เส้นเลือดก็ตีบรุนแรงอยู่หลายเส้น ตันสนิทไปไม่น้อยกว่าสองในสามเส้นหลักของเส้นเลือดหัวใจปกติ ถ้าเป็นรายอื่น กรณีแบบนี้ก็ต้องผ่าตัดด่วน แต่ผู้ป่วยคนนี้ เขามีภาวะโคม่า สมองไม่สั่งการใดๆ การผ่าตัดหัวใจเพื่อบายพาสหลอดเลือดหัวใจ แม้จะสำเร็จ แต่ก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรผู้ป่วยมากนัก เพราะสมองตายอยู่ดี

สุดท้าย ญาติผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งเพิ่งจะมาถึงที่หน้าห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ พอดีเขาเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่แผนกรังสีวินิจฉัยที่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง คุยกันไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก เขาก็เข้าใจดีว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็เท่ากับตอนนี้กล้ามเนื้อหัวใจกำลังเสียไปเรื่อยๆ จากการขาดเลือดไปเลี้ยงขั้นรุนแรง ถ้าเราไม่ไปทำอะไรกับเส้นเลือดหัวใจที่ตันสนิทในตอนนี้ ก็เท่ากับนอนรอความตายแน่ๆ แต่ถ้าหากผ่าตัดบายพาส หลังผ่าตัดก็ไม่แน่ว่าสมองอาจจะค่อยๆกลับมาฟื้นสภาพบ้าง ไม่มากก็น้อย แม้จะมีโอกาสค่อนข้างริบหรี่ก็ตาม แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้เสียชีวิตไปเฉยๆ

...ก็พอดีว่า คุยกับญาติแล้ว เขาก็เข้าใจถึงอันตรายและโอกาสที่จะได้ประโยชน์บ้าง ในเมื่อไม่มีอะไรจะเสีย ก็...เอ้า ผ่าตัดหัวใจก็ผ่า แล้วค่อยมาว่ากันอีกที

สุดท้ายเคสผู้ป่วยรายนี้จบลงอย่างไร อาจจะพอเดากันได้อยู่ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ผู้ป่วยคนนี้ เขาเริ่มต้นจากการรักษา โดยกินแต่ยาโรคกระเพาะกับโรคกรดไหลย้อนมาร่วมๆสองปี โดยอาการไม่ได้ทุเลาลง แต่ก็ยังไปขอรับยากับหมอทุกครั้ง ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย เมื่อมองย้อนกลับมาก็คือ การที่ไปสรุปเอาเองแล้วว่าตนเองเป็นอะไร อีกทั้งไม่เคยมีการซักประวัติอาการให้ละเอียดมาก่อนแต่อย่างใด ทำให้เขาเริ่มด้วยโรคกระเพาะ และจบลงด้วยหัวใจหยุดเต้น

เทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย จะมาทดแทนการซักถามข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบไม่ได้หรอกครับ

ฐานเศรษฐกิจ 14 สิงหาคม 2010

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ในตอนที่แล้ว ผมได้เล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับคนป่วยโรคหัวใจคนหนึ่ง ซึ่งทึกทักเอาเองว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือไม่ก็โรคกรดไหลย้อน แต่กลับต้องมาเสียชีวิตด้วยความที่ทึกทักเอาเองนี่แหละ ซึ่งโรคที่ทำให้เสียชีวิตก็คือโรคหัวใจวายฉับพลันจากการขาดเลือดนี่แหละ
 
คงจะมีคุณผู้อ่านหลายๆท่านที่สงสัยว่า ทำไมผมจึงต้องยกตัวอย่างเจ้าโรคกรดไหลย้อนนี่ด้วย ซึ่งโรคนี้ อันที่จริงก็คือ ภาวะหนึ่งที่หูรูดในทางเดินหลอดอาหารส่วนปลาย ตรงส่วนที่ต่อกับกระเพาะอาหารเกิดการคลายตัวง่าย ทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งโดยปกติจะมีความเป็นกรดสูง เกิดการไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เกิดเป็นอาการคล้ายๆกับจะอาเจียน มีเรอเปรี้ยวในบางครั้ง โดยเฉพาะหลังทานอาหารที่มีไขมันสูงๆ

เหตุที่ยกตัวอย่างโรคกรดไหลย้อนในทางเดินอาหารนั้น ก็เพราะเหตุว่า ในบรรดาคนป่วยที่มาด้วยโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงนั้น หมอมักจะวินิจฉัยไปในแนวโรคกระเพาะ หรือไม่ก็โรคกรดไหลย้อน อะไรทำนองนี้

เหตุผลประการหนึ่งที่หมอมักจะ “วินิจฉัยไม่ตรง” ก็คือ ตัวคนป่วยที่มาให้หมอนั่งคุย (แม้จะแค่ไม่กี่วินาทีก็ตาม) มักจะอยู่ในสภาพที่ “ก็ดูดีอยู่” เวลาที่หมอเขาเห็นคนป่วยพูดคุยได้เหมือนปกติ ก็จะเกิดความเอนเอียงไปว่า เออ..คงเป็นอะไรไม่มากมั้ง ไม่น่าจะมีโรคอะไรรุนแรง ...ว่าแล้วก็สั่งยาโรคกระเพาะซะเลยดีกว่า ไม่เห็นจะอยากมาเสียเวลาซักถามอะไรมากมายกับโรคที่ดูๆแล้ว “ไม่มีอะไร”


แต่ก็แน่นอนครับ... ส่วนตัวผมเจอคนป่วยที่มาเล่าให้ผมฟังว่า หมอเขาย้ำแล้วย้ำอีกว่า...
“คุณลุงครับ คุณลุงไม่ได้เป็นอะไร เป็นแค่โรคกรดไหลย้อนเท่านั้น”

...แต่โทษที ลุงคนนี้แหละที่ต้องมาผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจฉุกเฉิน

ไม่กี่วันก่อนหน้าที่จะเขียนบทความฉบับนี้ ผมก็ยังเจอคนป่วยที่ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลอำเภอแห่งหนึ่ง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯเท่าใดนัก แต่ครั้งนี้เขาไม่ถึงกับต้องมาปั๊มหัวใจกันเหมือนเคสรายที่เล่าเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่สภาพก็คือต้องรีบทำการผ่าตัดฉุกเฉินเหมือนกัน ญาติๆกับตัวคนป่วย (ยังรู้เรื่องดีมากก่อนผ่าตัดบายพาส) เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองสงสัยมากเลยว่า ตัวเองเป็นโรคหัวใจ มันไม่ใช่โรคกระเพาะแล้ว มันไม่ใช่ไม่มีอะไรอย่างที่หมอบอกแล้ว เพราะอาการช่วงหลังๆมันมีอาการเหนื่อยมากขึ้นผิดสังเกต ทำอะไรทีก็หายใจอึดอัด
 
ผมเคยมีคนป่วยคนหนึ่ง ไปบอกกับหมอว่า ออกแรงแล้ว หายใจไม่ออก...

...หมอเขาก็ดีใจหาย แนะนำมาว่า... “ถ้าหายใจไม่ออก ก็หายใจเข้าลึกๆซิ!!”
เออ...แล้วมันจะหายเหนื่อยมั้ย...

กลับมาที่ว่า แล้วทำไมหมอที่ดูคนป่วยที่มาด้วยโรคหัวใจ กลับไปวินิจฉัยไปคนละโรคแบบนี้ได้เล่า!!...
คำตอบก็คือ ... สำหรับในบางคนแล้ว อาการของกรดไหลย้อน กับหัวใจขาดเลือด มันคล้ายกันมาก แทบจะเรียกได้ว่า ไม่แตกต่างกันเลยก็ได้

อาการอะไรหรือที่หมอ(ควร)จะต้องถาม... แรกเริ่มเลยหมอก็น่าจะต้องอยากรู้ว่า ไอ้อาการที่ว่านั้นมันมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ที่ทำให้หมอเข้าป่าโรคกรดไหลย้อนไปได้ ก็เพราะอาการที่บอกว่า แสบร้อน จุกๆตรงลิ้นปี่ นั่นแหละ

 
ทีนี้ เจ้ากรดไหลย้อนนั้น จะมีอาการที่เด่นชัดเลยคือ อาการเรอเปรี้ยว และน่าจะมีอาการมากขึ้นเวลาที่ทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาหารไขมันสูงจะไป “คลาย” หูรูดที่ส่วนปลายหลอดอาหารนั่นเอง

แต่สำหรับอาการที่เกิดจากโรคหัวใจนั้น อาการที่มีลักษณะ “แสบๆร้อนๆตรงลิ้นปี่” อาจจะรุนแรงขึ้นถ้าให้ไปทำอะไรที่ต้องใช้กำลัง เช่นเดินเร็วๆ เดินขึ้นบันได  เพราะถ้าหากเราไป “เร่งเครื่อง” ให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นกว่าขณะนอนเฉยๆ ถ้าหัวใจมีเลือดมาเลี้ยงเป็นปกติ ก็จะเร่งเครื่อง ให้ปั้มทำงานได้หนักขึ้น แต่ถ้าเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ หัวใจมันก็เร่งการทำงานไม่ไหว ก็จะแสดงอาการเหนื่อย หรือแน่นอก หรือ “จุก” บริเวณลิ้นปี่ อาจจะร้าวไปกรามได้

...และที่สำคัญคือ คนที่มีหัวใจขาดเลือด จะฝืนทำอะไรหนักๆ ต่อไปไม่ได้
ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว หมอก็จะถามคนป่วยว่า ...มีอาการเหนื่อยมากขึ้นมั้ย ช่วงหลังๆนี้
แต่คนป่วยที่แม้หัวใจทำงานไม่ค่อยจะไหวเท่าไหร่นัก ก็ยังมักจะบอกหมอว่า ...ไม่เห็นเหนื่อยอะไร ทำงานได้เป็นปกติดี

พอหมอได้ฟังจากปากคนป่วยเองว่า ..อ้อ... ไม่เหนื่อย ทำงานได้เป็นปกติดี ถ้างั้นอาการจุกๆเสียดๆลิ้นปี่ มีแผ่ขึ้นมาที่คอ ก็น่าจะเป็น ...โรคกรดไหลย้อน ไม่น่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือเส้นเลือดหัวใจตีบตันอะไรนั่นหรอก

....แล้วพอเอายาไปกิน ครั้งแล้วครั้งเล่าก็กลับมารับยาแบบเดิม หมอก็ถาม (หรืออาจจะไม่ถาม) ว่า “แล้วทานยาลดกรดไหลย้อนแล้วอาการดีขึ้นมั้ยครับ”
คนป่วยบางคน ก็บอกว่า “อืมม... ก็ทุเลาลงไปบ้าง” ...ทั้งๆที่อาการของเขามาจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนะนี่

altแต่คนป่วยบางคนก็ยืนยันกับหมอว่า “อาการไม่ค่อยดีขึ้นเลยครับหมอ มันยังจุกๆ แน่นๆ เหนื่อยๆอยู่ บางทีก็หายใจไม่ค่อยออก เออ..แล้วผมจะเป็นโรคหัวใจหรือเปล่าครับ”

หมอบางท่านเห็นคนป่วยอาการไม่ดีขึ้นหลังกินยา ก็มีการฉุกคิดขึ้นบ้างว่าอาจจะเป็นอย่างอื่นได้ ที่สงสัยมากก็โรคหัวใจ หมอเขาก็เลยให้ไปทำ EKG (ElectroKardioGram ใช้ตัว K เพราะมาจากภาษาเยอรมัน) ซึ่งก็คือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อดูว่า “สัญญาณไฟฟ้า” จากการบีบตัว และคลายตัวของหัวใจห้องต่างๆ มีความผิดปกติอย่างไรบ้าง

...ผลการตรวจ EKG ก็พบว่า ...ปกติ ตอนนั้นคุณลุงเขายังไม่ได้มีอาการอะไรตอนที่ตรวจ
...แต่คนป่วยมีโรคหัวใจขาดเลือดอยู่จริง เพียงแต่ตอนนอนธรรมดา เพื่อตรวจ EKG นั้น หัวใจขณะพัก ยังทำงานได้ปกติ เพราะเลือดยังผ่านบริเวณตีบแคบ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพออยู่แต่ข้อสรุปของหมอบางท่าน พอเห็นคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ก็อาจจะสรุปไปในทำนองว่า...
“คุณลุงครับ คลื่นหัวใจปกติ งั้นหมอให้ลุงทานยาเดิมไปก่อนนะครับ” หมอก็สั่งยาเดิมให้เสร็จสรรพ

แต่ทว่า อีกหลายเดือนต่อมา คุณลุงคนเดียวกันคนนี้แหละ ที่ต้องมาผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ฉุกเฉิน ซึ่งแน่นอนว่า การที่จำต้องมาผ่าตัดหัวใจฉุกเฉินนั้น แสดงว่าสภาพของหัวใจมันต้องถึงขนาดไปไม่ไหวแล้ว ...คำถามก็คือ แล้วทำไมเราต้องมารอกินยากรดไหลย้อนมาตั้งนาน ทั้งๆที่ควรจะส่งมารักษาโรคหัวใจตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ต้องมายื้อชีวิตกัน แบบที่เรียกว่า ความเป็นความตาย ห้าสิบห้าสิบ ด้วยเล่า

แสดงว่ามันต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างแล้วใช่หรือไม่
...ใช่ครับ ปัญหามันเกิดจากการที่อาการของโรคที่ร้ายแรงบางอย่าง มันก็คล้ายๆกับอาการของโรคที่ไม่ได้ทำให้ถึงฆาต แต่ก็แน่นอนว่า ถ้าหากหมอเราซักประวัติดีๆ ก็อาจจะได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น ...แต่ทว่า...

....เนื่องจากการให้ประวัติอย่างแม่นยำนั้น มันจำเป็นต้องอาศัยความสามารถในการสื่อสารจากตัวคนป่วยด้วย เพื่อที่เขาจะได้บอกได้ถูกต้องว่าตัวเองมีอาการอะไรให้ชัดเจน แต่บางครั้ง คนป่วยเองก็มีทักษะในการใช้ภาษา เพื่อจะสื่อความได้ไม่ดีเท่าไรนัก ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้การซักถามประวัติอาการ เกิดความไขว้เขวได้มาก

ผมเคยนั่งซักประวัติคนป่วยคนหนึ่ง ร่วมๆชั่วโมง สิ่งที่ได้คือ ไม่ได้อะไรเลย! (อ้อ...ไม่สิ ก็ได้อยู่บ้าง ได้ความหงุดหงิดมากกกก... กลับมาไงล่ะ) ตอนแรกถามไปอย่างนี้ก็ตอบกลับมาอย่างหนึ่ง พอคุยผ่านไปซักห้านาที หรือสิบนาที กลับมาถามคำถามเดิม ...อ้าว กลับตอบมาอีกอย่างหนึ่ง พอเดี๋ยวถามอีกที ก็ตอบกลับไปกลับมา
...นี่เขาเรียกว่า ให้การวกวน
คุณตำรวจอาจจะเจอบ้างกับผู้ต้องสงสัย ให้การวกวน แต่กับคนป่วยที่มาตรวจนั้น บอกเลยว่า มีไม่น้อยที่ป่วยจริง แต่ให้การวนไปวนมา ...ปวดเศียรอิบหาย

แต่นี่ยังไม่ได้บอกนะว่า ...แล้วที่ผมเปรยว่า “คนป่วยที่แม้หัวใจทำงานไม่ค่อยจะไหวเท่าไหร่นัก ก็ยังมักจะบอกหมอว่า ...ไม่เห็นเหนื่อยอะไร ทำงานได้เป็นปกติดี” นั้น มันเป็นเพราะอะไรกันล่ะครับ เพราะการที่คนป่วยบอกหมอแบบนี้ มันทำให้การวินิจฉัย เกิดความไขว้เขวไปอย่างมากได้ก็ไว้อธิบายให้ในตอนหน้าก็แล้วกันครับ

ผ่าอกคุย กับ หมอสัญญา
ฐานเศรษฐกิจ  21 สิงหาคม 2010