ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดนโยบายรัฐบาล “ปู” ยกเครื่องระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่  (อ่าน 5928 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด

...ความเปลี่ยนเปลงและความเป็นไปของโลก ทำให้ประเทศไทยวันนี้ อยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 3 ประการ อันประกอบด้วย
1.การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ
2.การเปลี่ยนผ่านทางด้านการเมือง และ
3.การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประชากรและสังคมไทย
ถ้อยคำเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำแถลงนโยบายบริหารบ้านเมืองที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2554

ใน 3 ประเด็นแห่งการเปลี่ยนผ่านนั้น นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย บอกว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข จึงแปลงออกมาเป็นนโยบายบริหารประเทศ และจำเป็นจะต้องได้พลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน โดยรัฐบาลชุดนี้ได้วางนโยบายบริหารประเทศไว้เป็น 2 ระยะ คือ นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในช่วง 1 ปีแรก และนโยบายการบริหารราชการในช่วง 4 ปีของรัฐบาล สำหรับในส่วนของ “นโยบายด้านสาธารณสุข” นั้น มาดูกันว่ารัฐบาลได้วางนโยบายและแถลงต่อรัฐสภาว่าอย่างไร

1เรื่องด่วน 7 เรื่องทำใน 4 ปี

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงว่า นโยบายเร่งด่วนด้านสาธารณสุขที่จะต้องเร่งดำเนินการในปีแรก คือ รัฐบาลจะ “พัฒนาระบบประกันสุขภาพ” โดย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งบูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและคุ้มค่าต่อการให้บริการ มาใช้แพร่หลาย รวมทั้งจัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและภาวะทุพโภชนาการ ที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็ง รวมทั้งเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ และมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร

ส่วนนโยบายด้านสาธารณสุขที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะ 4 ปี ของรัฐบาลชุดนี้ คือ

1.ลงทุนด้านบริการสุขภาพโดยการพัฒนาคุณภาพการให้บริการสุขภาพทั้งระบบ อย่างมีบูรณาการเชื่อมโยงทุกระดับ จัดให้มีระบบสารสนเทศทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอกับปริมาณงานที่เพิ่ม ขึ้นตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เพิ่มขีดความสามารถของโรคพยาบาลระดับต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ความเป็นเลิศที่กระจายอยู่ในส่วนภูมิภาค และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้โรงพยาบาลในระดับต่างๆ มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทัน สมัย รวมทั้งพัฒนาสถานบริการปฐมภูมิในเขตเมืองและชนบทที่สมบูรณ์แบบทั่วประเทศ   

2.ผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ โดยกำหนดแผนงานแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับจำนวน ประชากรในพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการเร่งผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้กลับไปปฎิ บัติงานในภูมิลำเนาเดินในชนบท พร้อมกับสร้างขวัญกำลังใจในเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพ และการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม

3.จัดให้มีมาตรการสร้างสุขภาพโดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราป่วย ตาย และผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็ง อย่างมีบูรณาการและครบวงจร ตั้งแต่การมีนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ จัดให้มีการสื่อสารสาธารณะของรัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ให้ความรู้ป้องกันโรคเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพเชิงรุก ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

4.พัฒนาขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทุกคนใหเป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน ขยายความครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน พัฒนาแกนนำสุขภาพครอบครัวและการสาธารณสุขมูลฐานที่ชุมชน ท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ และจัดการปัญหาสุขภาพของตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

5.พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย เริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยบรรลุนิติภาวะ วัยชรา และผู้พิการ สนับสนุนโครงการส่งเสริมเชาว์ปัญญาของเด็ก และให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ฝึกอบรม ผู้ปฎิบัติงานศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี เพื่อดูแลสุขภาพของสตรีและเด็กอย่างบูรณาการทั่วประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ให้ความรู้และดูแลป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้ง ครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อดุแลผู้สูงอายุและผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้ได้เข้าถึงการบริการอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพ และเป็นธรรม รวมทั้งให้มีระบบการฟื้นฟูสุขภาพชุมชน จัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างเป็นระบบ

6.ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีโอกาสออกกำลังกาย และเล่นกีฬาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและพลานามัยที่ดี สร้างนิสัยความมีน้ำใจ เป็นนักกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่น มั่วสุมกับอบายมุขและยาเสพติด

7.ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพและ การรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างความก้าวหน้าใน ทางวิชาการ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย สนับสนุนเอกชนให้จัดบริการศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการใช้บุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เอื้อ อำนวยต่อการดำเนินงาน

10 ปัญหารอ รมว.สธ.สะสาง

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวันที่ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เดินทางเข้าปฎิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเป็นทางการวันแรก นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอรายงานว่า ปัจจุบันพบว่าอัตราการให้บริการรักษาของสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกด้าน ดังนี้ ผู้ป่วยนอก จำนวน 174.8 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน จำนวน 4.497ล้านคน ผ่าตัดใหญ่ จำนวน 1.9 ล้านครั้ง การส่งต่อผู้ป่วย จำนวน 8 แสนครั้ง มูลค่าการใช้ยาสมุนไพร จำนวน 382.4 ล้ านบาท

นอกจากนี้ นพ.ไพจิตร์ ยังสรุปแผนงาน ภาระงานและปัญหาต่างๆ ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไว้ 10 ประเด็น ได้แก่

1.การขาดเอกภาพในการบริหารระบบบริการสุขภาพ ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการ รวมถึงภาวะการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ซึ่งพบว่าในปีงบประมาณ 2553 มีโรงพยาบาลทั่วประเทศขาดสภาพคล่องมากถึง 585 แห่งจากโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ที่มีอยู่ทั้งหมด 888 แห่ง

2.การสร้างสุขภาพที่ดี เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสุขภาพของประชาชน

3.การปรับระบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและโรคไม่ติดต่อ

4.การขาดแคลนกำลังบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยปัจจุบันพบว่า สธ.มีแพทย์จำนวน 15,684 คน พยาบาลวิชาชีพ จำนวน  84, 085 คน อีกทั้งยังพบว่ามีปัญหาค่าตอบแทนอีกด้วย

5.การขาดงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานพยาบาลโดยพบว่านับ ตั้งแต่มีนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้งบประมาณในส่วนนี้ลดลงไปมาก มาเป็นเวลากว่า10 ปีแล้ว

6.การเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติและโรคระบาด

7.ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยพบว่าจำนวนการฟ้องร้องแพทย์ เพิ่มมากขึ้นถึง14เท่า ในช่วงเวลา10กว่าปี ซึ่งจากตัวเลขสถิติ พบว่า ปี 2539 มีการฟ้องร้องเพียง 2 คดีแต่ในปี 2552 มีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้นเป็น 28 คดี

8.การเตรียมการเปิดเสรีการค้าอาเซียน

9.การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข และ

10.กฎหมายที่ยังพิจารณาค้างอยู่ในหน่วยราชการต่างๆเช่น ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์และสาธารณสุข พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ....เป็นต้น

เรื่องที่ภาคประชาสังคมอยากให้ทำ

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของเครือข่ายภาคประชาชนก็มองเห็นถึงปัญหาที่หมักหมมอยู่ภายใน สธ.และต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาทันทีเช่นกัน โดยมี 10 ประเด็น ที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไขหรือ คลี่คลายเป็นอันดับต้นๆ คือ
1. เร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ และญาติ
2.แก้ปัญหาโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
3.แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ พยาบาล โดยหามาตรการไม่ให้แพทย์และพยาบาลกระจุกตัวอยู่แต่โรงพยาบาลในเขตเมือง นอกจากนี้ มีการเสนอให้แยกอัตรากำลังแพทย์ พยาบาล ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อความเป็นอิสระในการจัดสรรตำแหน่งได้
4.แก้ปัญหาค่าตอบแทนแพทย์
5.การขยายสิทธิรักษาพยาบาล โดยทำให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ มีสิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ ที่เท่าเทียมกันหรือไม่แตกต่างกันมากนัก
6.การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล(รพ.) ทั้งยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) กว่า 9,000 แห่ง การปรับปรุงอาคารสถานที่และป้ายโรงพยาบาล  มีบุคลากรครบ มีระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลแม่ข่าย
7.การส่งเสริมป้องกันโรค ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับการการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ
8.งานคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นด้านสุขภาพ
9.การสานต่อกฎหมายด้านสุขภาพ เช่น การผลักดันร่างพ.ร.บ.ธุรกิจบริการสุขภาพ พ.ศ....ที่จะช่วยควบคุมธุรกิจสปาที่อาจมีการแอบแฝงขายบริการทางเพศ หรือการผลักดันให้ออกประกาศ กฎกระทรวงตาม พร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่เคยเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จำนวน6 ฉบับ ทั้งการห้ามขายเหล้าปั่น การห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร การกำหนดสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนท้ายรถกะบะ การติดภาพฉลากคำเตือนที่บรรจุภัณฑ์  ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาของรัฐโดยเด็ดขาด ส่วนสนามกีฬาเอกชน ให้ขายได้เฉพาะในสโมสรของสนามกีฬานั้นๆ และห้ามขายและดื่มในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
10.การคลี่คลายปัญหาภายใน สธ.ซึ่งแม้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร โดยเฉพาะประเด็นความเห็นต่างในหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า หนังสือแสดงสิทธิการตาย

หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่จะต้องเดินหน้าเต็มสูบ เพื่อทำงานตามที่ได้ให้ “สัญญาประชาคม” กันไว้ อย่างน้อยภายใน 1 ปี นับจากนี้ ประชาชนชาวไทยคงจะได้เห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

ที่มา สถาบันอิศรา 25 สิงหาคม 2011
เขียนโดย น.รินี เรืองหนู