ผู้เขียน หัวข้อ: Unseen พระเณรทำนา  (อ่าน 1284 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
Unseen พระเณรทำนา
« เมื่อ: 27 สิงหาคม 2011, 19:33:12 »
เรื่องราวพระเณรทำนาของ“วัดเชิงผา” อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงพระ เณรและผู้ปฏิบัติธรรม

พระ-เณร “ทำนา” เป็นเรื่องราวอีกมุมของวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย ท่ามกลางความเปราะบางของพุทธศาสนาในสังคมปัจจุบัน จึงถูกตั้งคำถามว่า สำหรับเพศบรรพชิตแล้วเหมาะสมหรือไม่

 คณะของเราจึงต้องไปพิสูจน์ให้เห็นกับตา โดยเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ “วัดเชิงผา” อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย วัดแห่งนี้ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยประมาณ  60 กิโลเมตร

 เมื่อถึงหน้าวัดเชิงผา ก็ต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ราบเชิงเขา ท่ามกลางหมอกจางๆ เสียงน้ำไหลรินกลางลำธาร และเสียงนกร้อง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมนำชีวิต” พื้นที่ซึ่งวัดแบ่งไว้เพื่อใช้ทำประโยชน์

 หลังเสร็จจากวัตรปฏิบัติประจำวัน พระปลัดปราโมช อธิปญฺโญ หรือพระอาจารย์ปราโมทย์ วัดเชิงผา เล่าถึงที่มาที่ไปในการให้พระและเณรทำนา พร้อมพาพวกเราเยี่ยมชมรอบๆ ศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 โดยมีพื้นที่ปลูกข้าว 8 ไร่

 “แรกๆ ก็กลัวว่า ชาวบ้านจะไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่วิถีของพระสงฆ์และสามเณร แต่เมื่ออธิบายเหตุผลให้ทุกคนเข้าใจ ก็มีชาวบ้านเข้ามาช่วยพระเณรทำนาปลูกข้าวมากขึ้นทุกปี ซึ่งนอกจากผลผลิตจะสามารถเลี้ยงพระ เณร และผู้ปฏิบัติธรรมได้ตลอดทั้งปีแล้ว บางปียังเหลือให้ญาติโยมนำไปขยายพันธุ์ โดยไม่คิดค่าดอกผลด้วย” พระอาจารย์ปราโมทย์ เล่าถึงการทำนา

 กิจวัตรตลอดทั้งวันของพระเณรกว่า 30 รูปที่นี่อาจต่างจากวัดอื่นๆ สามเณรนอกจากเรียนหนังสือ ศึกษาธรรม และรับการอบรมต่างๆ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังต้องช่วยกันทำนา ส่วนภิกษุสงฆ์ก็ต้องช่วยกันอบรมสามเณร และผู้มาปฏิบัติธรรม รวมทั้งคอยดูแลแปลงพืชผักสวนครัวและผืนนาด้วย และพระเณรต้องช่วยกันทำงานเพื่อให้ได้ข้าวมาเลี้ยงทุกคนในวัด

 ภิกษุสงฆ์ผิวกร้านดำ รูปร่างสูงใหญ่ แต่มีรอยยิ้มแห่งความเมตตา เล่าว่า ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้มีชาวบ้าน และผู้ที่สนใจแวะเวียนเข้ามารับการฝึกอบรมทั้งในเรื่องธรรมะและการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตลอดทั้งปี แต่ในเรื่องการทำนานั้นจะทำแค่ปีละครั้ง

 “พูดง่ายๆ ว่า เราปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” พระอาจารย์ปราโมทย์ เล่าให้ฟัง ก่อนจะพูดต่อว่า “ส่วนการทำนานั้นจะเริ่มปลูกช่วงวันแม่ แล้วเก็บเกี่ยวตอนวันพ่อ"

 หลังจากได้พูดคุยกับพระอาจารย์ พวกเราก็มีโอกาสเดินเยี่ยมชมส่วนต่างๆ ซึ่งปลูกสร้างอย่างเป็นระเบียบแบ่งเป็นสัดส่วน กลมกลืนกับธรรมชาติ สถานที่ปฏิบัติแห่งนี้ พระ เณร และชาวบ้านมาเรียนรู้ทั้งธรรมะและวิถีชีวิตไทยแบบดั้งเดิมไปพร้อมๆ กันบนผืนดินที่สงบร่มเย็น

 พระ-เณร ช่วยกันตระเตรียมทุกขั้นตอนของการทำนา ตั้งแต่การไถ่ หว่าน ดำ และเกี่ยว โดยมีชาวบ้านในชุมชนมาร่วมแรงร่วมใจดำกล้าลงในท้องนา เพื่อทำให้พื้นดินอันว่างเปล่า กลายเป็นพื้นดินเขียวขจี

 เณรน้อยลูกข้าวเหนียววัย 13 ปีคนหนึ่ง เล่าถึงตอนอยู่บ้านที่ขอนแก่นว่า พ่อแม่ก็ทำนา แต่ตัวเองไม่เคยทำ นี่เป็นครั้งแรก รู้สึกสนุก ไม่เหนื่อยเลย เพราะมีเพื่อนๆ ได้ทั้งความรู้ และได้ “ทำนา”   

 ส่วนพระอาจารย์ปราโมทย์ เล่าต่อว่า เมื่อพระเณรได้เห็นความยากลำบากในการทำนา กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละเม็ด ก็จะมีสำนึกในการใช้ของอย่างมีคุณค่า เห็นประโยชน์ที่แท้จริง เข้าใจความทุกข์ของคนอื่นมากขึ้น

 "ส่วนจะเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ ต้องใช้พระธรรมวินัย ไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิดของผู้หนึ่งผู้ใด"

 ในพระธรรมวินัยระบุว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงส่งพระอรหันต์ 60 รูปแรกไปประกาศพุทธศาสนานั้นมีความตอนหนึ่งว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ  พหุชนหิตาย พหุชน สุขาย โลกานุกมฺปาย”  -ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่มวลมนุษย์

 จากที่ได้สัมผัสวิถีของพระเณรทำนาในสองวันหนึ่งคืน นอกจากจะทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ของศูนย์เรียนรู้คุณธรรมนำชีวิตที่มีต่อชาวบ้าน เด็กและเยาวชน และผู้มาปฏิบัติธรรมแล้ว ยังช่วยขัดเกลาสำนึกของเราด้วย

 จะเรียกว่าเป็น Unseen Thailand ก็คงไม่เกินเลยไป เพราะภาพเหล่านี้คงไม่มีโอกาสพบเห็นในสังคมทั่วไป...สามเณรหลายสิบรูป สวมสังฆาฏิ ถกสบง กำต้นกล้า ช่วยกันปักต้นข้าวในนาที่มีน้ำเจิ่งนอง ส่วนพระสงฆ์และชาวบ้าน ก็มาร่วมทำนาด้วย โดยปีหนึ่งวัดแห่งนี้ทำนาแค่ครั้งเดียว และเป็นกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่องผ่านมาหลายปี

Life Style : Life
กรุงเทพธุรกิจ 25 สิงหาคม 2554