ผู้เขียน หัวข้อ: เผย 10 ปีไทยมีอุบัติเหตุล้านครั้งคร่า 1 แสนชีวิต  (อ่าน 1375 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
พบอุบัติเหตุในไทย ล้านครั้ง ในรอบ 10 ปี ย้อนรอย 10 ปี  คร่าชีวิตคนไทยกว่าแสนราย ชี้สาเหตุหลักยังเป็นน้ำเมา   เผยพบสิงห์นักบิดขี้เมาสุด 52.4% ทั้งเมาแล้วขับ- ไม่สวมหมวก 
       
       วันนี้ (17 ส.ค.)ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวเรื่อง “11 ดัชนี ชี้วัดตัวการคร่าชีวิตคนไทยบนท้องถนน สู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time For Action” ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส.กับร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย บ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ราชปรารภ กทม.ว่า  อุบัติเหตุเป็นสาเหตุของความสูญเสียทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา ซึ่งเก็บข้อมูลในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 จากผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรในโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ พบว่า กลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์มีสัดส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงสุด คือ  52.4% รองลงมาคือ กลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยาน /รถสามล้อ 40.4% และรถปิกอัพ  35.5% มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากการขับขี่พาหนะทุกประเภทที่ดื่มแล้วขับ 51.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2552 มี 44.4% เยาวชนเป็นกลุ่มที่บาดเจ็บและเสียชีวิต  สูงที่สุด จากพฤติกรรมเสี่ยงทั้งเมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี บาดเจ็บรุนแรงจากการเมาแล้วขับ 47.9% กลุ่มอายุ 15-19 ปี พบ 30.4% ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ดื่มก่อนขับขี่สูงถึง 12.8%
       
       “แม้ ว่าจะมีผู้ดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในกรณีเมาแล้วขับลดลง คิดเป็น 2.57% ของคดีอุบัติเหตุทางถนน ลดลงจากปี 2552 ที่มีถึง 3.75% และยังพบการละเมิดกฎหมายขายสุราในเวลาที่ห้ามขาย 9.63% ทั้งนี้ มีการประมาณการณ์ว่า หากสามารถลดพฤติกรรมเมาแล้วขับได้จะป้องกันการตายจากอุบัติเหตุได้ปีละ 3,000 ราย และป้องกันการบาดเจ็บได้ถึงปีละ 30,000 ราย ดังนั้น จำเป็นต้องสนับสนุนความเคลื่อนไหวภาคประชาชนและภาครัฐ เพื่อปลุกจิตสำนึก และขยายผลการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น”         ดร.สุปรีดา กล่าว
       
       ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า  สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในบ้านเรา ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543 - 2552 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 983,076 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 124,855 ราย และมีอีก 151,286 ราย ที่ต้องทนทุกข์จากการบาดเจ็บสาหัส  ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 สำรวจผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน50,272,371 คน พบมีผู้เคยประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางทางถนน 1,546,337 คน คิดเป็น 3.1% เฉลี่ยวันละ 4,384 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บ 1,189,133 คน คิดเป็น 76.9% และมีถึง 11,386 คน คิดเป็น 0.9% ที่มีการสูญเสียอวัยวะร่วมด้วย โดย 43.5% ของกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด เป็นหัวหน้าครัวเรือน และ 37.2% เป็นบุตร
       
       ทั้ง นี้ระหว่าง วันที่ 25-26 ส.ค.นี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สสส. และภาคีเครือข่ายอุบัติเหตุ ได้จัดงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง        ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 10 “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time For Action”  ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ ไบเทค บางนา  เน้นการมีส่วนร่วม เพื่อลดการตายให้ได้ครึ่งหนึ่ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 สิงหาคม 2554