ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เล็งขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะไปยัง รพ.ขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่ว ปท.  (อ่าน 1745 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สธ. เตรียมขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ(Transplant Center) ระดับภูมิภาคไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่วประเทศ หลังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย พร้อมให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศอีก 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะเพื่อเปลี่ยนทดแทนให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่รอเปลี่ยนไตจำนวน 2,654 คน

สธ.เล็งขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะไปยัง รพ.ขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่ว ปท.
ข่าวทั่วไป สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- อังคารที่ 9 สิงหาคม 2554 13:23:00 น.
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตรียมขยายศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ(Transplant Center) ระดับภูมิภาคไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 5 แห่งทั่วประเทศ หลังโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ประสบผลสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย พร้อมให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศอีก 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะเพื่อเปลี่ยนทดแทนให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่รอเปลี่ยนไตจำนวน 2,654 คน

"กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกระจายบริการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทุกประเภท เช่น ตับ, ไต, ปอด, หัวใจ, ดวงตา โดยพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ให้เป็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะในระดับภูมิภาคครบวงจร" นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว และให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดทั่วประเทศที่มี 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและมีภาวะสมองตายแล้ว ตั้งเป้าภายใน 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2553-2554 จะผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้ได้ 300 ราย และเพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ต่อปี หลังจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ดำเนินการและประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรกแล้ว

ปัจจุบันพบว่าคนไทยป่วยจากโรคเรื้อรังมากขึ้น ที่สำคัญ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคถือว่าเป็นมหันตภัยเงียบ เมื่อโรคลุกลามไปมากจะทำให้เกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องได้รับการล้างไต เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องล้างอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง การรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือการผ่าตัดเปลี่ยนไต (Kidney  Transplant ) ซึ่งเดิมทำได้เฉพาะโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดขาดโอกาสได้รับบริการ ขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขึ้นทะเบียนรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนไตประมาณ 2,654 คนทั่วประเทศ

และข้อมูลจากสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตตั้งแต่เริ่มมีการผ่าตัดในประเทศไทยจนถึง 31 ธันวาคม 2553 จำนวน 4,864 ราย เฉลี่ยปีละ 200-300 ราย ซึ่งควรจะมีปีละประมาณ 1,000 รายต่อปี เนื่องจากขาดแคลนอวัยวะบริจาค

--อินโฟเควสท์ 9 สิงหาคม 2554

today

  • Staff
  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 263
    • ดูรายละเอียด
โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี สุดยอดๆๆๆๆๆ  ผ่าตัดเปลี่ยนไตได้แล้ว