ผู้เขียน หัวข้อ: ดินแดนในเงามืด(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1915 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
พม่าคือดินแดนแห่งเงามืด เป็นที่ซึ่งแม้แต่คำถามที่ใสซื่อที่สุด ก็อาจดูเหมือนเต็มไปด้วยวาระซ่อนเร้น ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ของห้าทศวรรษที่ผ่านมา  ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแห่งนี้ได้รับการหล่อหลอมจากอำนาจและความวิตกจริตของเหล่าผู้นำทางทหาร  ต้ะมะดอว์ ซึ่งเป็นชื่อเรียกกองทัพพม่านั้น เป็นเพียงสถาบันเดียวที่สามารถใช้อำนาจบังคับควบคุมประเทศที่ตกอยู่ในสภาพแตกร้าวอันเป็นผลมาจากการประกาศเอกราชจากอังกฤษ กองทัพพม่าทำเช่นนั้นได้ส่วนหนึ่งก็ด้วยการปิดประเทศหรือโดดเดี่ยวตนเองจากโลกภายนอก และเพิ่งก้าวออกจาก “เงามืด” เมื่อไม่นานนี้เอง

            นโยบายปิดประเทศตอกย้ำด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกนานถึงสองทศวรรษ   อาจทำให้ใครหลายคนนึกภาพว่าพม่าเป็นประเทศที่ดูราวกับหยุดนิ่งอยู่ในกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามเก่าแก่หรือวัฒนธรรมพื้นเมืองที่ยังไม่แปดเปื้อนอิทธิพลของโลกสมัยใหม่   แต่ขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้ประเทศที่เคยได้รับการขนานนามว่า “อัญมณีแห่งเอเชีย” มีแต่จะยิ่งถดถอยล้าหลัง  ขณะที่กองทัพซึ่งมีกำลังพลราว 400,000 นายสูบงบประมาณเกือบหนึ่งในสี่ของประเทศ  เรื่องอื้อฉาวที่สุดเห็นจะไม่พ้นการกดขี่ปราบปรามชนกลุ่มน้อยในประเทศและกลุ่มฝ่ายค้านที่เป็นพลเรือนของต้ะมะดอว์ ส่งผลให้พม่ากลายเป็นประเทศนอกคอกในสายตาประชาคมโลก

            แต่ท่ามกลางความมืดมนนี้ยังพอมีแสงสว่างแวบขึ้นมาให้เห็น  นั่นคือการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งแรกในรอบ 20 ปีของประเทศ  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว  นี่คือสิ่งที่บรรดาผู้นำทางทหารของพม่าประกาศว่าเป็นก้าวแรกของ “ประชาธิปไตยที่เจริญและมีระเบียบวินัย”  แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะมัวหมองจากปัญหาการทุจริตและการข่มขู่อย่างกว้างขวาง แต่นั่นก็ทำให้พม่าได้รัฐบาลพลเรือน (อย่างน้อยก็ในนาม) เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี พลเอกอาวุโสตานฉ่วยยอมก้าวลงจากอำนาจอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน แม้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะไม่ใช่ใครอื่น นอกจากผู้ช่วยซึ่งจงรักภักดีต่อเขาอย่างพลเอกเตงเส่ง ผู้สลัดเครื่องแบบทหารมาใส่เสื้อผ้าพลเรือนนั่นเอง

            หากเป้าหมายประการหนึ่งในการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารพม่า คือการสร้างความชอบธรรมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  เป้าหมายอีกประการหนึ่งย่อมอยู่ที่การลบความทรงจำเกี่ยวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 การเลือกตั้งในครั้งนั้นจัดขึ้นสองปีหลังจากต้ะมะดอว์ปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล   แต่รัฐบาลทหารกลับไม่ยอมรับชัยชนะแบบถล่มทลายของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญ จากนั้นตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีต่อมา รัฐบาลทหารพม่าก็จองจำผู้นำระดับสูงของฝ่ายค้านและกักบริเวณอองซานซูจี หัวหน้าพรรคไว้ในบ้านพักของเธอ

            อองซานซูจีหรือที่ชาวพม่าเรียกกันว่า “คุณผู้หญิง” ผลักดันให้พรรคเอ็นแอลดีคว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะนั้นเธอยังถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพัก และถูกกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง เธอให้เหตุผลว่าการร่วมสังฆกรรมในกิจกรรมที่ “ไม่ยุติธรรม” เช่นนี้ เท่ากับเป็นการหยิบยื่นความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารที่หันกลับไปใช้ความรุนแรงอีกครั้งเมื่อปี 2007 ด้วยการปราบปรามพระสงฆ์ที่ออกมาประท้วง และในปีต่อมาก็ละเลยผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีส  มหันตภัยครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 140,000 คน และอีกเกือบหนึ่งล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย

            หลังการเลือกตั้งปี 2010 ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ ขณะที่บรรดาพรรคการเมืองซึ่งมีกองทัพหนุนหลังออกมาอ้างสิทธิ ในชัยชนะอย่างท่วมท้น ความหวังอันเลือนรางก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เมื่อนางอองซานซูจีได้รับการปล่อยตัว ถึงตอนนี้เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 1991 มีอายุ 65 ปี และใช้เวลา 15 ปี จาก 21 ปีที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การกักบริเวณในบ้านพัก ภาพคุณผู้หญิงที่มีผู้สนับสนุนวัยหนุ่มสาวห้อมล้อม ทำให้บางคนถึงกับเชื่อว่ายุคใหม่ของพม่าได้มาถึงแล้ว แต่ซูจีไม่เห็นดีเห็นงามไปกับการมองโลกในแง่ดีเช่นนั้น “สังคมเปลี่ยนไปมากจริงๆค่ะ” เธอพูดถึงความประหลาดใจเมื่อได้เห็นโทรศัพท์มือถือ ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กอยู่ทุกหนทุกแห่งในคราวที่ผมสัมภาษณ์เธอเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ “แต่ในทางการเมืองกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยสักนิด”

            อย่างไรก็ตาม คุณผู้หญิงกับเหล่านายพลหาใช่ตัวแทนของขั้วการเมืองทั้งหมดในพม่าที่กำลังต่อสู้แย่งชิงอำนาจเพื่อกำหนดอนาคตประเทศ   เพราะยังมีชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์อีกมากมายหลายกลุ่มที่คิดเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด  และครอบครองดินแดนกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ คำถามที่ว่าจะปกครองกลุ่มคนหัวแข็งที่มีความแตกต่างหลากหลายและเป็นหนามยอกอกผู้ปกครองพม่ามาตั้งแต่สมัยกษัตริย์ยุคโบราณได้อย่างไร และความก้าวหน้าอย่างแท้จริงก็ขึ้นอยู่กับการรับฟังความคิดเห็นและการให้ความความร่วมมือของกลุ่มคนเหล่านั้น

            พม่าซึ่งตั้งอยู่ระหว่างมหาอำนาจใหม่อย่างจีนและอินเดียกลับมามีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อีกครั้ง แม้ขณะที่สหรัฐฯและรัฐบาลชาติตะวันตกอื่นๆยังคงบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เพื่อเป็นการลงโทษรัฐบาลพม่า ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ไทย และชาติทรงอำนาจอื่นๆในเอเชียต่างทุ่มเงินลงไปในพม่าเพื่อฉวยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายมหาศาล ตั้งแต่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ไม้ซุง อัญมณี สินแร่ ไปจนถึงพลังงานน้ำ  การลงทุนจากต่างชาติซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีทำให้การคว่ำบาตรคลายพิษสงลง แต่กลับเป็นการเติมเชื้อไฟให้ความความตึงเครียดเขม็งเกลียวขึ้นในดินแดนของชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

            ในบรรดาประเทศต่างๆที่แห่เข้ามาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของพม่า จีนเป็นประเทศที่รุกหนักที่สุด ส่วนหนึ่งของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงเกือบหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหมดไปกับการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชายฝั่งพม่าสู่ชายแดนประเทศจีน ซึ่งเป็นทางลัดที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกาที่ทั้งแคบและมีโจรสลัดชุกชุม ในรัฐกะฉิ่นซึ่งมีพรมแดนร่วมกันยาวกว่า 950 กิโลเมตร บริษัทสัญชาติจีนกำลังเร่งสูบทรัพยากรล้ำค่าอย่างทองคำ หยก และไม้สัก เช่นเดียวกับไฟฟ้าพลังน้ำ   

            ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สื่อของรัฐบาลวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนคุณผู้หญิงผู้งามสง่าเป็นนางยักษ์ที่กินของให้ทานจากชาติตะวันตกเป็นอาหาร การโจมตีนี้ยุติลงได้สองสามเดือนหลังจากเธอได้รับการปล่อยตัว แต่เมื่อพรรคเอ็นแอลดีออกแถลงการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อแก้ต่างแทนชาติตะวันตกที่คว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ นิวไลต์ออฟเมียนมาร์ (New Light of Myanmar) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล ก็เขียนเตือนซูจีและพรรคของเธอว่า อาจ “พบจุดจบอันน่าเศร้าสลด”
                การคว่ำบาตรอาจเป็นหนึ่งในไพ่ใบสุดท้ายของซูจี บรรดาผู้สังเกตการณ์นานาชาติ รวมทั้งนางฮิลลารี คลิน- ตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรใช้ไม่ได้ผลในพม่า ส่วนใหญ่เป็นเพราะประเทศอื่นๆ เช่นจีนเป็นตัวอย่าง ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะทำธุรกิจกับรัฐบาลพม่า “เรายินดีที่จะประนีประนอมค่ะ” ซูจียืนยัน  แต่หลังจากเสียสละสวัสดิภาพและอิสรภาพของตนเองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เธอจะไม่เรียกร้องให้มีการผ่อนปรน มาตรการคว่ำบาตร เว้นเสียแต่ว่าจะมีการโอนอ่อนผ่อนตามอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เริ่มจากการปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวพม่ากว่า 2,000 คน เธอตั้งคำถามตรงไปตรงมาว่า “ถ้าการคว่ำบาตรไม่ได้ผล แล้วทำไมรัฐบาลทหารกับพวกถึงอยากให้ยกเลิกเหลือเกินล่ะคะ” ดูเหมือนว่ารัฐบาลพม่าปรารถนาสิ่งหนึ่งที่คุณผู้หญิงมี แต่รัฐบาลไม่เคยได้ครอบครอง นั่นคือความชอบธรรมในสายตาประชาคมโลก

สิงหาคม 2554