ผู้เขียน หัวข้อ: หมีขาวศักดิ์สิทธิ์(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2075 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงที่สายฝนพรำบนชายฝั่งของรัฐบริติชโคลัมเบียในแคนาดา ร่างดำทะมึนร่างหนึ่งเดินอาดๆไปยังชายฝั่ง นั่นคือหมีดำที่กำลังออกหาอาหาร ช่วงนี้เป็นฤดูวางไข่ ปลาที่มีไข่เต็มท้องคลาคล่ำอยู่ในธารน้ำน้อยใหญ่บนเกาะกริบเบลล์ซึ่งเป็นส่วนเล็กๆของผืนป่าดิบชื้นเกรตแบร์ (Great Bear Rainforest) ป่าดิบชื้นเขตอบอุ่นแถบชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  เจ้าหมีหยุดอยู่บนก้อนหินที่มีสาหร่ายสีแดงขึ้นอยู่เพื่อสูดอากาศ ซากปลาแซลมอนนอนเกลื่อนอยู่ตามกอกกและวัชพืชริมชายน้ำ  เจ้าหมีเยื้องกรายผ่านภูมิทัศน์ราวกับภาพเงามืด ขนสีดำของมันกลมกลืนไปกับโขดหินทะมึนและผืนป่ายามสนธยา

มาร์เวน โรบินสัน สังเกตเห็นเจ้าหมี แต่กลับมองข้ามไปอย่างไม่ไยดี “ลองขึ้นไปทางต้นน้ำดีกว่าครับเผื่อจะโชคดี” เขาพูดขึ้น โรบินสัน หนุ่มใหญ่วัย 43 ปี เป็นมัคคุเทศก์พาชมสัตว์ป่าและสมาชิกของกลุ่มปฐมชาติกิตแกต (Gitga’at First Nation) ซึ่งอาณาเขตดั้งเดิมของพวกเขาครอบคลุมเกาะกริบเบลล์ด้วย หมีตัวนี้ไม่ใช่ตัวที่เขากำลังตามหา เป้าหมายของโรบินสันคือสัตว์โลกที่ทั้งหายากและเป็นที่เคารพยำเกรงมากกว่า นั่นคือสิ่งมีชีวิตที่ชาวกิตแกตเรียกกันว่า มักส์กะมอล หรือหมีศักดิ์สิทธิ์ เป็นความขัดแย้งที่มีเลือดเนื้อและลมหายใจ จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากหมีดำที่มีขนขาวนั่นเอง

หมีศักดิ์สิทธิ์หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า หมีเคอร์โมดี (Kermode bear) นั้น ไม่ใช่ทั้งหมีเผือกและหมีขั้วโลก แต่เป็นหมีดำพันธุ์อเมริกาเหนือที่มีสีขาวและเกือบทั้งหมดพบได้เฉพาะในป่าดิบชื้นเกรตแบร์แห่งนี้เท่านั้น ผืนป่าขนาด 65,000 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้กินอาณาเขตยาวลงมาทางชายฝั่งตะวันตกของแคนาดาถึง 400 กิโลเมตรและครอบคลุมเครือข่ายฟยอร์ดอันกว้างใหญ่ที่ปกคลุมด้วยสายหมอก เกาะแก่งน้อยใหญ่ที่มีผืนป่าแน่นขนัด และขุนเขาห่มธารน้ำแข็ง

โรบินสันกวาดสายตามองหาความเคลื่อนไหวขณะเดินไปตามเส้นทางชื้นแฉะ แต่ไม่มีวี่แววของหมีสักตัวเขาสังเกตเห็นกระจุกขนสีขาวติดอยู่บนกิ่งต้นเอลเดอร์ “พวกมันต้องอยู่แถวนี้แน่ๆครับ” เขาเอ่ยขึ้นพลางชี้ไปยังเปลือกไม้ที่มีรอยกัดแทะ

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป หมีสีขาวตัวหนึ่งเดินออกมาจากหลังต้นไม้ไปยังก้อนหินข้างลำธาร เรือนขนมอซอของมันแลดูแวววาวตัดกับฉากหลังสีทึบทึมของป่าดิบชื้น เจ้าหมีส่ายหัวไปมา พยายามมองหาปลาแซลมอนที่แหวกว่ายอยู่ใต้ผิวน้ำ แต่ก่อนที่มันจะลงมือจับปลา จู่ๆหมีดำตัวหนึ่งก็โผล่ออกมาจากราวป่าและไล่เจ้าหมีขาวไปจากชัยภูมิที่มันยืนอยู่ เจ้าหมีสีขาวเดินอุ้ยอ้ายเข้าไปในดงไม้และหายลับไป

โรบินสันเฝ้าดูอยู่ห่างๆ แม้จะใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับหมีศักดิ์สิทธิ์ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา กระนั้น เขาก็ยังตะลึงกับภาพที่เห็น “เจ้าหมีขาวตัวนี้หัวอ่อนมากครับ ผมเคยเห็นหมีขาวแก่ๆตัวหนึ่งถูกหมีดำวัยหนุ่มจู่โจม ผมเกือบจะกระโดดเข้าไปกลางวง แล้วพ่นสเปรย์พริกไทยใส่เจ้าหมีดำอยู่รอมร่อ สัญชาตญาณปกป้องในตัวผมแรงมากครับ แต่แล้วเจ้าหมีขาวก็ยกขาหน้าขึ้นและเหวี่ยงหมีดำออกไป” โรบินสันเล่าพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้มราวกับจะยอมรับในความบ้าบิ่นของชายคนหนึ่งที่พร้อมจะกระโจนเข้าไปสวมบทกรรมการห้ามหมีสู้กัน แต่แววตาของเขาบ่งบอกว่า เขาอาจทำจริงอย่างที่พูดก็ได้

โรบินสันไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น สัญชาตญาณปกป้องเช่นนี้แบ่งบานอยู่ทั่วป่าดิบชื้นเกรตแบร์ นี่คือหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้หมีศักดิ์สิทธิ์ยังคงยืนหยัดอยู่ได้

“พวกเราไม่เคยล่าหมีขาวค่ะ” เฮเลน คลิฟตัน บอก เธอนั่งอยู่ในห้องครัวที่บ้านในฮาร์ตลีย์เบย์ หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆที่มีควันไฟจากเตาฟืนลอยกรุ่นและเสียงนกการ้องระงม แม่เฒ่าคลิฟตัน วัย 86 ปี เจ้าของน้ำเสียงหนักแน่นน่าฟังที่สะท้อนออกมาจากจิตใจ เป็นแม่ใหญ่ของชาวกิตแกต หนึ่งในชนพื้นเมือง 14 เผ่าที่ประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มชาวชิมเชียน (Tsimshian people) แห่งดินแดนแถบชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของบริติชโคลัมเบีย เธอเล่าว่า เนื้อหมีแทบไม่เคยเป็นอาหารหลักของคนแถบนี้ แต่พรานป่าพื้นเมืองเคยล่าหมีดำอย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วงที่พ่อค้าชาวยุโรปเริ่มทำธุรกิจค้าขนสัตว์ในบริติชโคลัมเบียในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปด อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในยุคนั้น การล่าหมีขาวก็ถือเป็นข้อห้ามที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว “เราไม่เคยแม้แต่จะเอ่ยถึงหมีศักดิ์สิทธิ์บนโต๊ะอาหารเลยค่ะ” คลิฟตันกล่าว

นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าหมีดำเกิดมามีสีขาวได้อย่างไร พวกเขาเพียงแต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุใดเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า การที่หมีดำเกิดมามีสีขาว (Kermodism) ถูกกระตุ้นจากการกลายพันธุ์ของลักษณะด้อยในยีนเอ็มซี1อาร์ (MC1R) ซึ่งเป็นยีนเดียวกันกับที่ส่งผลให้มนุษย์เรามีผมแดงและผิวขาวซีด การจะเกิดมาเป็นหมีขาวนั้น หมีตัวนั้นต้องสืบทอดการกลายพันธุ์ของลักษณะยีนด้อยจากทั้งพ่อและแม่ ตัวพ่อแม่เองไม่จำเป็นต้องมีสีขาว พวกมันเพียงแค่เป็น พาหะของการกลายพันธุ์ของลักษณะยีนด้อยเท่านั้น

ขนสีขาวเกิดขึ้นกับหมีดำบนชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ของบริติชโคลัมเบียเพียงหนึ่งใน 40 ไปจนถึง 100 ตัว แต่ลักษณะสืบสายพันธุ์นี้กลับพบเห็นได้มากเป็นพิเศษบนเกาะบางแห่งในเขตป่าดิบชื้นเกรตแบร์ เช่น ที่เกาะพรินเซสรอยัล หมีดำหนึ่งในสิบตัวจะมีสีขาว ส่วนบนเกาะกริบเบลล์ อัตราส่วนอยู่ที่หนึ่งในสาม

ลักษณะสืบสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไรยังไม่เป็นที่แน่ชัด ทฤษฎีหนึ่งคือ สมมุติฐาน “หมีธารน้ำแข็ง” ที่เชื่อว่า การที่หมีดำเกิดมามีสีขาวแสดงให้เห็นถึงกระบวนการปรับตัวที่หลงเหลือมาจากสมัยน้ำแข็งครั้งสุดท้ายซึ่งสิ้นสุดลงที่นี่เมื่อ 11,000 ปีก่อน ในตอนนั้นดินแดนส่วนใหญ่ของรัฐบริติชโคลัมเบียในปัจจุบันยังปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง และขนสีขาวอาจช่วยในการพรางตัว แต่ทฤษฎีหมีธารน้ำแข็งก็จุดประเด็นคำถามหนึ่งขึ้นมาว่า เพราะเหตุใดลักษณะสืบสายพันธุ์ดังกล่าวจึงไม่สูญสิ้นไปเมื่อธารน้ำแข็งหดตัวลง

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยได้พิสูจน์ให้เห็นว่าขนสีขาวของหมีศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้มันได้เปรียบในการจับปลา แม้ว่าอัตราความสำเร็จในการจับปลาของหมีขาวและหมีดำจะมีแนวโน้มพอๆกันในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่หมีมักออกจับปลา ทว่าไรม์เชนและแดน คลิงกา นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย สังเกตเห็นความแตกต่างในช่วงเวลากลางวัน โดยพบว่าหมีขาวจับปลาแซลมอนสำเร็จหนึ่งในสามครั้ง ขณะที่หมีดำทำได้เพียงหนึ่งในสี่ครั้ง ไรม์เชนสันนิษฐานว่า “ปลาแซลมอนดูจะไม่ค่อยระแวงวัตถุสีขาวเมื่อมองขึ้นมาจากใต้น้ำครับ” หากปลาแซลมอนเป็นแหล่งโปรตีนและไขมันหลักของหมีตามชายฝั่งแล้ว หมีเพศเมียที่สามารถจับปลาแซลมอนได้มากย่อมสะสมไขมันสำหรับฤดูหนาวได้มากขึ้น และอาจส่งผลให้จำนวนลูกในการตั้งท้องแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นั่นอาจเป็นคำตอบบางส่วนได้ว่าเพราะเหตุใดลักษณะสืบสายพันธุ์ขนขาวจึงยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สิงหาคม 2554