หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

โลกลับของกุมารี(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)

(1/1)

pani:
เทศกาลอินทรยาตราปีนี้  อมิตา ศากยะมีอายุ 21 ปี เธออาศัยอยู่กับครอบครัวในตึกแถวสี่ชั้น ชานกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ไม่ไกลจากวัดสวายัมภูนาถ หนึ่งในสัญลักษณ์ของอดีตราชอาณาจักรแห่งนี้ แต่หากย้อนเวลากลับไปเพียงสิบกว่าปี อมิตา ศากยะก็คือหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของประเทศเช่นกัน เพราะในเวลานั้นเธอไม่ใช่มนุษย์ หากเป็นเทพเจ้าที่มีชีวิต

อมิตา ศากยะในวัยเยาว์ดำรงสถานะกุมารีหลวงแห่งกาฐมาณฑุนาน 10 ปี (พ.ศ. 2534 - พ.ศ. 2544)

ตลอดระยะเวลานั้น เธอพำนักอยู่ที่กุมารีพะหาล (Kumari Bahal) หรือกุมารีเช (Kumari  Che) ในภาษาเนวารี ตำหนักไม้แกะสลักอายุกว่าสองร้อยปีในย่านพระราชวังโบราณหรือจัตุรัสกาฐมาณฑุทุรพาร์ (Kathmandu Durbar Square) ซึ่งเมื่อหลายศตวรรษก่อนเจริญรุ่งเรืองขึ้นจากการเป็นชุมทางการค้าสู่อาณาจักรทิเบต  ปัจจุบันที่นี่ยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก เทศกาลอินทรยาตราปีนี้ อมิตาจะเดินทางไปร่วมพิธีที่กุมารีเช ซึ่งในเวลานี้ มาตินา ศากยะ กุมารีหลวงองค์ปัจจุบันวัย 4 ขวบพำนักอยู่ในฐานะเทพเจ้าที่มีชีวิต

หากลองเดินสำรวจร้านขายของที่ระลึกในย่านจัตุรัสกาฐมาณฑุทุรพาร์ เราจะพบเห็นไปรษณียบัตรรูปใบหน้ากุมารีอมิตาได้ไม่ยาก เด็กหญิงตัวน้อยในอาภรณ์สีแดงเข้มเดินดิ้นทองแพรวพราว ศีรษะเล็กๆครอบไว้  ด้วยมงกุฎทองทรงสูงรูปพัดประดับอัญมณีหลากสี  มาลัยสีแดงห้อยระย้าอยู่สองข้างพวงแก้ม  ส่วนรอบคอประดับด้วยสร้อยนาคราชและมาลัย  ทว่าใบหน้าอ่อนเยาว์ของเด็กหญิงไม่แสดงความรู้สึกใดๆ  ดวงตาคมเข้มคู่นั้นถูกระบายด้วยผงทาขอบตาสีดำลากจากหางตาสูงขึ้นไปจนจรดขมับทั้งสองข้าง ทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังอำนาจเหนือเด็กหญิง ธรรมดา

ทว่าอมิตาในวันนี้เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มสดใส  ผมยาวสยายประบ่า หากบุคลิกยังคงงามสง่าและเงียบขรึมเมื่อถามว่าเธอรู้สึกอย่างไรที่เห็นรูปตัวเองอยู่บนไปรษณียบัตร เธอตอบเพียงสั้นๆว่า “รู้สึกดีใจ” และเมื่อถามว่า เวลานี้เธอยังรู้สึกถึงความเป็นเทพเจ้าในตัวเองหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่”

ช่วงเวลาที่อมิตา ศากยะดำรงตำแหน่งกุมารีหลวง  ระบอบกษัตริย์ในเนปาลยังไม่ถูกล้มเลิก อมิตาในฐานะเทวีพรหมจรรย์  ผู้เป็นองค์จุติของเทวีตาเลจู  (หรือพระนางทุรคา ศักติของพระศิวะ) และหนึ่งในเทพเจ้าที่ปกปักรักษานครกาฐมาณฑุ คือผู้เจิมติกะหรือผงวิภูติ (ทำจากมูลวัวที่นำมาเผาและบดจนละเอียดแล้วผสมกับสีแดงชาดที่ได้จากรากไม้) ให้กษัตริย์พิเรนทรา พีระ พิกรม ชาห์ เทพ ทุกปีในช่วงเทศกาลอินทรยาตรา ก่อนที่พระองค์จะถูกปลงพระชนม์ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมแห่งราชวงศ์เนปาลเมื่อปี พ.ศ. 2544 ปีเดียวกับที่อมิตาสิ้นสุดสถานะความเป็นเทพเจ้าเมื่อเธอพ้นจากวัยเยาว์เข้าสู่วัยสาวแรกรุ่น จากนั้นเด็กหญิงไร้เดียงสาตัวน้อยนาม ปรีติ ศากยะ (กุมารีหลวงระหว่างปี พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2551) เด็กหญิงจากตระกูลศากยะอีกคนก็ได้รับเลือกให้เป็นองค์จุติของเทวีตาเลจูแทนที่เธอ

อมิตาในวัย 13 กลายเป็นเด็กสาวธรรมดาเพียงชั่วข้ามคืน  ต้องย้ายออกจากตำหนักที่เคยอยู่ตลอดระยะเวลา 10 ปี มีคนรับใช้ใกล้ชิด มาอยู่ในบ้านร่วมกับคนในครอบครัวที่ไม่คุ้นเคย เพราะเธอต้องจากบ้านไปตั้งแต่ยังจำความไม่ได้

เด็กหญิงในช่วงวัยก่อนมีประจำเดือนเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ไร้รอยมลทินและตัณหา...

พ่อของเธอเล่าว่า อมิตาต้องใช้เวลาปรับตัวนานกว่า 2 ปี  เธอเข้ากับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้ยาก ไม่มีใครกล้าคุยด้วยเมื่อรู้ว่าเธอเคยเป็นเทพเจ้ามาก่อน ขณะที่บุคลิกเคร่งขรึมและพูดน้อยของเธอก็เป็นอุปสรรคในการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ เช่นกัน นอกจากนี้ อมิตายังต้องหัดทำงานบ้านต่างๆ ด้วยตัวเอง และเรียนรู้ที่จะเดินบนถนนโดยลำพัง
ตอนที่เราพบอมิตาดูเหมือนเธอจะปรับตัวเข้ากับโลกของคนธรรมดาได้ดีแล้ว แต่เธอก็ยังประหยัดถ้อยคำและระมัดระวังในการตอบคำถาม ปัจจุบันเธอศึกษาวิชาบัญชีอยู่ในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อมิตายังเก็บตุ๊กตาและของเล่นที่คนนำไปถวายให้ตอนเป็นกุมารีไว้ในตู้กระจกของห้องรับแขก เธอบอกว่า ตอนเป็นกุมารีสิ่งที่เธอโปรดปรานมากที่สุดก็คือตุ๊กตา

สิงหาคม 2554

kartoonyna:
อืม

เปงแค่นามสมมุติ


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version