ผู้เขียน หัวข้อ: มนุษย์กับหุ่นยนต์(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2224 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
หุ่นยนต์แอนดรอยด์ (android) หรือหุ่นยนต์เสมือนคนรุ่น แอ็กทรอยด์-ดีอีอาร์ที่สร้างขึ้นในประเทศญี่ปุ่นนี้สามารถเช่าไปแสดงเป็นหุ่นยนต์โฆษกแห่งโลกอนาคตตามงานของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆได้  แต่แม้บริษัทผู้สร้างจะทุ่มเงินลงไปถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนา เธอก็ยังเคลื่อนไหวกระตุกไม่เป็นธรรมชาติ และท่าทางที่ออกจะแข็งๆ ทำให้เธอดูไม่ค่อยสมประกอบเท่าไรนักภายใต้ใบหน้าจิ้มลิ้มน่ารักนั้น

หุ่นแอ็กทรอยด์-ดีอีอาร์ตัวนี้จะถูกส่งไปยังมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อปรับปรุงให้เหมือนมนุษย์มากขึ้น อันเป็นเป้าหมายของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาห้าคนที่ศูนย์เทคโนโลยีความบันเทิงของมหาวิทยาลัย  โดยมีเวลาหนึ่งภาคเรียนหรือ 15 สัปดาห์ในการทำให้หุ่นยนต์สาว   ผู้นี้มีความเป็นผู้หญิงมากขึ้นและเป็นหุ่นยนต์น้อยลง พวกเขาเริ่มต้นด้วยการตั้งชื่อใหม่ให้เธอว่า ยูเมะ แปลว่า ความฝันในภาษาญี่ปุ่น

หุ่นยนต์แอนดรอยด์แอ็กทรอยด์เป็นส่วนหนึ่งของหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้มุ่งออกแบบให้  ทำงานตามโปรแกรมแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนเครื่องจักรอุตสาหกรรมทั่วไป  หากเป็น “ผู้กระทำ” ที่บังคับควบคุมตนเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถรับบทบาทต่างๆ ได้ อีกไม่นานหุ่นยนต์ที่ทันสมัยกว่านี้อาจทำอาหารให้เรา พับเสื้อผ้า และแม้แต่เป็นพี่เลี้ยงลูก หรือดูแลพ่อแม่ผู้แก่ชราของเรา ขณะที่เราคอยดูและช่วยเหลืออยู่ห่างๆ ผ่านทางคอมพิวเตอร์จากระยะไกล

“อีกห้าปีหรือสิบปี หุ่นยนต์อาจทำงานในสภาพแวดล้อมของมนุษย์จนกลายเป็นเรื่องปกติครับ”             รีด ซิมมอนส์ อาจารย์ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ให้ความเห็น

ทว่าเราเองพร้อมหรือยังที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์เช่นนั้น  แล้วหุ่นยนต์เล่าล้ำหน้าพอจะตอบสนองต่อความคาดหวังของเราหรือยัง 

 

สแน็กบอตเป็นหนุ่มน้อยน่ารักเช่นเดียวกับหุ่นยนต์สังคมตัวอื่นๆ  มันสูงไม่ถึง 1.5 เมตร  มีส่วนหัวและรูปร่างหน้าตาเหมือนตัวการ์ตูนที่ดูคล้ายมนุษย์อยู่บ้าง  นอกจากจะทำให้คนไม่คาดหวังสูงแล้ว ยังเป็นการหลีกเลี่ยงความรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่มะซะฮิโระ โมริ นักวิทยาการหุ่นยนต์รุ่นบุกเบิกชาวญี่ปุ่นเมื่อกว่า 40 ปีก่อนใช้คำว่า “อันแคนนีแวลลีย์ ” (uncanny valley) หรือการตอบสนองอารมณ์เชิงลบของมนุษย์ต่อหุ่นยนต์ที่ดูเหมือนมนุษย์  เขาตั้งข้อสังเกตไว้ว่าคนเรามักมีปฏิกิริยาเชิงบวกต่อหุ่นยนต์ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกและการเคลื่อนไหวแบบมนุษย์   แต่เมื่อใดก็ตามที่พวกมันเริ่มคล้ายมนุษย์มากเกินไป ทั้งๆ ที่ไม่มีชีวิต  ความรู้สึกรักใคร่เอ็นดูที่เคยมีจะแปรเปลี่ยนเป็นความหวาดระแวงและรังเกียจในเวลาอันรวดเร็ว

แม้นักวิทยาการหุ่นยนต์ส่วนใหญ่มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างหุ่นยนต์ให้เหมือนคนมากที่สุด แต่ก็มีบางรายที่มอง “อันแคนนีแวลลีย์” ว่าเป็นอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่าเพื่อให้ได้มาซึ่งหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างหน้าตา  การเคลื่อนไหว และท่วงท่าเหมือนคนมากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความเห็นอกเห็นใจแทนที่จะรังเกียจพวกมัน นักวิจัยที่อาจพูดได้ว่ามีความมุ่งมั่นมากที่สุดในเรื่องนี้คือ  ฮิโรชิ อิชิกุโระ ผู้อยู่เบื้องหลังสาวน้อยยูเมะแอ็กทรอยด์-ดีอีอาร์  ที่ผ่านมาอิชิกุโระดูแลการพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ มากมายเพื่อศึกษาปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ของมนุษย์ที่มีต่อหุ่นยนต์หรือเอชอาร์ไอ (human-robot interaction: HRI)

ที่ผ่านมาสิ่งประดิษฐ์อันโด่งดังที่สุดของอิชิกุโระเห็นจะไม่พ้นหุ่นเจมินอยด์รุ่นก่อนซึ่งเป็น “ฝาแฝด” ของเขาเอง  เมื่อผมไปพบเขาที่ศูนย์ปฏิบัติการวิทยาการหุ่นยนต์อัจฉริยะและการปฏิสัมพันธ์เอทีอาร์ (ATR -  Intelligent Robotics and Communication Laboratories) ในจังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ทั้งสองอยู่ในชุดดำตั้งแต่หัวจรดเท้า  หุ่นยนต์ซึ่งนั่งอยู่ข้างหลังอิชิกุโระ มีเรือนผมสีดำและคิ้วขมวดครุ่นคิดเหมือนเจ้าตัวไม่มีผิด  อิชิกุโระสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโอซะกะซึ่งอยู่ห่างออกไปราวสองชั่วโมง  เขาบอกว่าที่สร้างฝาแฝดซิลิโคนขึ้นมาก็เพื่อจะได้อยู่สองที่ในเวลาเดียวกัน  และควบคุมหุ่นยนต์ผ่านอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อที่เขาจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่เอทีอาร์ผ่านหุ่นยนต์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตขณะสอนอยู่ที่โอซะกะ 

อิชิกุโระไม่เพียงต้องการขยายขอบเขตของเทคโนโลยี  แต่ยังรวมถึงแนวคิดเชิงปรัชญาเช่นเดียวกับผู้บุกเบิกหลายคนในสาขาเอชอาร์ไอ  กล่าวคือการสร้างหุ่นยนต์ให้เหมือนมนุษย์มากขึ้น แล้วสังเกตว่าเรามีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรกับมัน  จากนั้นจึงนำผลที่ได้ไปออกแบบและสร้างสรรค์หุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์มากขึ้นไปอีก

“คุณเชื่อว่าผมเป็นของจริง และคิดว่าหมอนั่นไม่ใช่มนุษย์” เขากล่าวพลางชี้ไปทางหุ่นยนต์คู่แฝด        “แต่การแยกแยะความแตกต่างนี้จะทำได้ยากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น สุดท้ายถ้าคุณไม่สามารถบอกความแตกต่างได้   แล้วมันจะต่างกันตรงไหนว่าคุณมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์หรือกับหุ่นยนต์” เขาบอกว่าเป้าหมายสูงสุดของการใช้หุ่นยนต์ฝาแฝดของเขาคือ  การนำมันไปไว้ที่บ้านแม่ซึ่งอยู่ไกลและเขาไม่ค่อยมีโอกาสได้กลับไป เพื่อที่ท่านจะได้อยู่กับเขามากขึ้น

 “ทำไมคุณถึงคิดว่าคุณแม่จะรับหุ่นยนต์ได้ล่ะครับ” ผมถาม

ใบหน้าของ “ฝาแฝด” หันมาและนิ่วหน้าใส่ผม “ก็เพราะมันคือผมเองยังไงละครับ” หนึ่งในนั้นตอบ

สิงหาคม 2554