ผู้เขียน หัวข้อ: อรุณรุ่งแห่งศาสนา(สารคดี-แนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1524 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ณ ยอดเขาอันห่างไกลทางตอนใต้ของตุรกีแห่งนี้  บ่อยครั้งที่กำเนิดแห่งอารยธรรมกลับมาย้อนรอยตนเองอีกครั้งด้วยนักท่องเที่ยวเต็มคันรถ  รถทัศนาจรค่อยๆ คืบคลานมาตามถนนลาดยางเป็นช่วงๆ ที่คดเคี้ยวขึ้นสู่สันเขา ก่อนจะเคลื่อนมาจอดตรงซุ้มประตูทางเข้าที่เป็นหินราวกับเรือเข้าเทียบท่า นักท่องเที่ยวซึ่งมีทั้งชาวตุรกีและชาวยุโรปกรูกันลงมา แล้วเดินดุ่มๆ ขึ้นสู่ยอดเขา  และ ณ ยอดเขานั้นเอง พวกเขาก็ต้องอ้าปากค้างด้วยความอัศจรรย์ใจ

ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า คือกลุ่มเสาหินขนาดมหึมาเรียงเป็นวงซ้อนกัน  บ้างล้มทับหรือพาดกันอยู่    เมื่อดูเผินๆ เกอเบกลีเตเป (Göbekli Tepe) อาจละม้ายคล้ายสโตนเฮนจ์  แต่เกอเบกลีเตเปเก่าแก่กว่ามาก  และแทนที่จะสร้างจากหินที่ถากหรือเกลาขึ้นอย่างหยาบๆ  กลับเป็นเสาหินปูนเกลี้ยงเกลาที่เต็มไปด้วยภาพสลักนูนต่ำรูปสัตว์  ทั้งฝูงกาเซลล์ งู  สุนัขจิ้งจอก แมงป่อง และหมูป่าท่าทางดุร้าย กลุ่มเสาหินเหล่านี้สร้างขึ้นเมื่อราว 11,600 ปีก่อน ก่อนหน้ามหาพีระมิดแห่งกีซา ถึง 7,000 ปี  และเป็นที่ตั้งของวิหารหรือศาสนสถานเก่าแก่ที่สุดของโลกเท่าที่เรารู้จัก

ในยุคที่มีการสร้างเกอเบกลีเตเปนั้น  มนุษยชาติส่วนใหญ่ยังอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ  ยังชีพด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ การจะสร้างสถานที่ขนาดใหญ่เช่นนี้คงต้องอาศัยการรวบรวมกำลังคนมากกว่าที่เคยปรากฏให้มาอยู่รวมกันในที่แห่งหนึ่ง ช่างน่าพิศวงที่เหล่าผู้สร้างวิหารสามารถตัด เกลา และชักลากหินหนัก 16 ตัน เป็นระยะทางหลายร้อยเมตรโดยปราศจากเครื่องทุ่นแรงอย่างล้อลากหรือแรงงานสัตว์  ผู้คนที่จาริกแสวงบุญมายังเกอเบกลีเตเปอาศัยอยู่ในโลกที่ไม่มีภาษาเขียน โลหะ หรือแม้แต่ภาชนะดินเผา และสำหรับผู้ที่ปีนป่ายขึ้นสู่วิหารจากทางด้านล่าง  เสาหินเหล่านี้คงดูตระหง่านเงื้อมราวกับยักษ์ปักหลั่น  ส่วนภาพสลักรูปสัตว์นั้นเล่าก็คงวูบไหวอยู่ในแสงไฟราวกับเป็นตัวแทนของโลกวิญญาณที่มนุษย์คงเพิ่งเริ่มวาดภาพในจินตนาการ

ปัจจุบัน  นักโบราณคดียังคงขุดค้นเกอเบกลีเตเปและถกเถียงอภิปรายถึงความสำคัญของสถานที่แห่งนี้  แต่เรื่องหนึ่งที่พวกเขารู้แน่ชัดคือ  แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ถือว่าสำคัญที่สุดในบรรดาการค้นพบที่ไม่คาดคิดทั้งหลายซึ่งเปลี่ยนความคิดเดิมๆ ของเราเกี่ยวกับความเป็นมาของมนุษยชาติ   ย้อนหลังไปเพียง 20 ปีก่อน  นักวิจัยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเราทราบเวลา สถานที่  และลำดับเหตุการณ์คร่าวๆ ของการปฏิวัติยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution)  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านหรือหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ทำให้เกิดเกษตรกรรม และเปลี่ยน โฮโม เซเปียนส์  จากการเป็นผู้ล่าสัตว์และเก็บของป่าที่อยู่เป็นกลุ่มกระจัดกระจาย  มาเป็นหมู่บ้านกสิกรรมซึ่งต่อมาพัฒนากลายเป็นสังคมที่มีเทคโนโลยีซับซ้อน  เพียบพร้อมไปด้วยศาสนสถานและหอคอยอันยิ่งใหญ่  ตลอดจนเหล่ากษัตริย์และนักบวชผู้รวบรวมและบัญชาแรงงานในการก่อสร้าง  แล้วบันทึกความสำเร็จของตนด้วยภาษาเขียน  แต่การค้นพบใหม่ๆหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้โดยเฉพาะที่เกอเบกลีเตเปทำให้นักโบราณคดีต้องหันมาทบทวนแนวคิดนี้กันใหม่

 

หลังจากตะลึงกันอยู่พักใหญ่  นักท่องเที่ยวก็คว้ากล้องถ่ายรูปและโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเก็บภาพ  แน่นอนว่าย้อนหลังไปเมื่อ 11,000 ปีก่อนไม่มีใครมีกล้องถ่ายภาพดิจิทัล  แต่จากวันนั้นถึงวันนี้สิ่งต่างๆไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากอย่างที่คิด  ศูนย์กลางทางศาสนาหลักๆในโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น วาติกัน เมกกะ เยรูซาเลม และพุทธคยา ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของการจาริกแสวงบุญ   สถานที่เหล่านี้คืออนุสรณ์สถานอันยิ่งใหญ่สำหรับนักเดินทางผู้เปี่ยมศรัทธา ซึ่งมักรอนแรมมาจากแดนไกล   เกอเบกลีเตเปอาจเป็นสถานที่แห่งแรกที่ว่านั้นและเป็นต้นแบบของการจาริกแสวงบุญสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เกอเบกลีเตเปแสดงให้เห็นอย่างน้อยก็ในสายตาของนักโบราณคดีซึ่งทำงานอยู่ที่นั่น  คือพลังศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความหลงใหลในเรื่องน่าตื่นตื่นใจของมนุษย์อาจเป็นบ่อเกิดแห่งอารยธรรมก็เป็นได้

ในช่วงทศวรรษ 1960 นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยชิคาโกได้สำรวจดินแดนแถบนี้  และลงความเห็นว่า เกอเบกลีเตเปไม่มีอะไรน่าสนใจ   แม้จะพบร่องรอยการก่อสร้างบนยอดเขาอย่างชัดเจน   แต่พวกเขาคิดว่าน่าจะเกิดจากกิจกรรมของด่านทหารในยุคไบแซนไทน์  และชิ้นส่วนแตกหักของหินปูนที่พบกระจัดกระจายก็น่าจะเป็นหินสลักหน้าหลุมฝังศพ  เคลาส์ ชมิดท์ ซึ่งเป็นนักวิจัยที่สถาบันโบราณคดีเยอรมนีได้อ่านรายงานของนักวิจัยจากชิคาโกที่บรรยายถึงยอดเขานี้อย่างสั้นๆ และตัดสินใจมาดูด้วยตนเอง  เขาพบเศษหินเหล็กไฟจำนวนมากตามพื้นและบันทึกไว้ว่า  “เพียงไม่กี่นาทีที่มาถึง”  เขาก็บอกได้ทันทีว่าที่แห่งนี้ต้องเคยมีคนหลายสิบหรืออาจหลายร้อยคนทำกิจกรรมอยู่ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา  แผ่นหินปูนที่พบไม่ใช่หินสลักหน้าหลุมฝังศพยุคไบแซนไทน์  แต่เป็นอะไรสักอย่างที่เก่าแก่กว่านั้นมาก ในปีถัดมาเขาจึงเริ่มขุดค้นร่วมกับสถาบันโบราณคดีเยอรมนี

เมื่อทีมงานขุดลงไปไม่ลึกนักพวกเขาก็พบหินแผ่นหนึ่งที่สลักเสลาอย่างงดงาม ตามมาด้วยแผ่นที่สองและสาม ก่อนจะพบว่าเป็นวงเสาหินตั้งอยู่  ตลอดหลายเดือนและหลายปีต่อมา  ทีมขุดค้นของชมิดท์พบวงเสาหินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การสำรวจด้วยวิธีวัดค่าความเข้มของสนามแม่เหล็กโลกเมื่อปี 2003 พบว่า ใต้ดินมีวงเสาหินอย่างน้อย 20 วงตั้งอยู่รวมกันอย่างไม่เป็นระเบียบ  เสาเหล่านี้มีขนาดใหญ่  ต้นใหญ่ที่สุดสูงถึง 5.4 เมตรและหนัก 16 ตัน  บนพื้นผิวเต็มไปด้วยภาพสลักภาพนูนต่ำของสัตว์นานาชนิด   บ้างสลักขึ้นอย่างหยาบๆ  บางชิ้นวิจิตรงดงามเป็นเชิงสัญลักษณ์

วงเสาหินเหล่านี้มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน  ทั้งหมดเป็นเสาหินปูนรูปทรงคล้ายตะปูยักษ์หรืออักษรทีตัวใหญ่ (T) ด้านบนกว้าง แต่ตัวเสาค่อนข้างบาง  แต่ละต้นตั้งห่างกันราวหนึ่งช่วงแขน  และเชื่อมต่อกันด้วยกำแพงหินเตี้ยๆ ตรงกลางของแต่ละวงมีเสาหินสองต้นที่สูงกว่าต้นอื่นๆ  ฐานเสาเรียวบางปักอยู่ในร่องตื้นๆที่บากอยู่บนพื้น

เสาหินรูปตัวทีอาจใช้แทนร่างกายมนุษย์   แนวคิดนี้มีหลักฐานสนับสนุนคือลวดลายสลักลักษณะคล้ายแขน พาดจากช่วง “หัวไหล่” (หรือบริเวณหัวตัวที) ของเสาบางต้นลงไปยังส่วนท้องที่มีลวดลายคล้ายผ้าเตี่ยวคาดอยู่   เสาหินทุกต้นหันหน้าเข้าสู่ด้านในวงกลมราวกับกำลังอยู่ใน “การประชุมหรืองานเต้นรำ”  ซึ่งอาจสื่อถึงพิธีกรรมทางศาสนาก็เป็นได้  ชมิดท์ยังตั้งข้อสังเกตว่า  ภาพสัตว์เผ่นโผนโจนทะยานที่ปรากฏบนเสาหินส่วนใหญ่เป็นสัตว์ร้าย ไม่ว่าจะเป็นแมงป่องที่เงื้ออาวุธเตรียมโจมตี หมูป่าที่วิ่งรี่เข้าใส่ หรือสิงห์โตท่าทางดุร้าย  “ร่างมนุษย์” ที่เสาหินสื่อถึงอาจได้รับการปกป้องจากสัตว์เหล่านี้  หรือไม่ก็กำลังวิงวอน หรืออาจใช้พวกมันเป็นสัญลักษณ์ของพลังทางจิตวิญญาณ

ยิ่งขุดต่อไป   นักโบราณคดีก็ยิ่งพบปมปริศนา   ดูเหมือนวงเสาหินแห่งเกอเบกลีเตเปจะสูญสิ้นพลังอำนาจเป็นระยะๆ หรืออย่างน้อยก็หมดความขลังโดยไม่ทราบสาเหตุ   ทุกๆ 20-30 ปี  ผู้คนในยุคนั้นจะฝังกลบเสาวงแรก  แล้วตั้งเสาหินวงที่สองซึ่งเล็กกว่าขึ้นภายในวงเก่า  และบางครั้งอาจมีวงที่สามตามมา  สุดท้ายเมื่อบริเวณนั้นเต็มไปด้วยกองซากหิน  พวกเขาจะย้ายไปตั้งเสาหินวงใหม่ใกล้ๆกัน  แหล่งโบราณคดีแห่งนี้จึงมีการสร้าง ฝังกลบ และตั้งวงเสาหินขึ้นใหม่วนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดหลายศตวรรษ

ที่น่าแปลกก็คือ ฝีมือการสรรค์สร้างของคนที่เกอเบกลีเตเปนับวันยิ่งด้อยลง วงหินวงแรกๆนั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดทั้งทางด้านเทคนิคและความงาม ท้ายที่สุดเมื่อถึงราว 8200 ปีก่อนคริสตกาล ความพยายามในการก่อสร้างก็ค่อยๆซบเซาก่อนจะยุติลงอย่างสิ้นเชิง

ทว่าหลักฐานที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสิ่งที่นักวิจัยค้นพบ  คือสิ่งที่พวกเขายังค้นไม่พบ  หลักฐานที่ว่านั้นคือร่องรอยของการอยู่อาศัย   การสลักและตั้งเสาหินน่าจะต้องอาศัยแรงงานคนหลายร้อยคน  แต่ที่นี่ไม่มีแหล่งน้ำกินน้ำใช้ ลำธารที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปราว 5 กิโลเมตร  คนงานเหล่านั้นคงต้องมีที่พักอาศัย  แต่การขุดค้นที่ผ่านมาไม่เคยพบร่องรอยของผนัง เตาไฟ หรือบ้านเรือนใดๆ ไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่ชมิดท์พอจะตีความได้ว่าเป็นครัวเรือน   พวกเขาต้องอยู่ต้องกิน  แต่เราก็ไม่พบร่องรอยของการเพาะปลูก  ยิ่งไปกว่านั้น ชมิดท์ยังไม่พบหลักฐานของโรงครัวที่ใช้ประกอบอาหารเลี้ยงคนจำนวนมาก หรือแม้แต่เตาไฟสำหรับหุงหา เกอเบกลีเตเปเป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรมอย่างแท้จริง 

ชมิดท์กล่าวว่า “คนเหล่านี้เป็นพวกเร่ร่อนหาอาหารน่ะครับ”  หรือคนที่เที่ยวเก็บของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร “เราเชื่อกันมาตลอดว่า   คนพวกนี้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆไม่กี่สิบคน  ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ  และไม่น่าสร้างอะไรใหญ่โตถาวรได้  เพราะต้องย้ายที่อยู่ไปตามแหล่งอาหาร  พวกเขาไม่อยู่ในสถานะที่จะแบ่งแยกชนชั้นอย่างนักบวชหรือช่างฝีมือ เพราะคงไม่มี ใครคอยขนข้าวของหรือเสบียงอาหารเพื่อเลี้ยงดูคนเหล่านี้  แต่แล้วเรากลับพบว่าพวกเขาทำสิ่งเหล่านี้ที่เกอเบกลีเตเป”
                การพบว่ากลุ่มคนเร่ร่อนเก็บของป่าล่าสัตว์เป็นผู้สร้างเกอเบกลีเตเป ก็คงไม่ต่างอะไรจากกับการค้นพบว่ามีใครสักคนต่อเครื่องบินโบอิ้ง  747 ทั้งลำที่ใต้ถุนบ้านด้วยคัตเตอร์เพียงเล่มเดียว  ชมิดท์เล่าว่า  “ผมและทีมงานจับต้นชนปลายไม่ถูกเลยว่านี่คืออะไรและสร้างขึ้นมาได้อย่างไร” เกอเบกลีเตเปมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว  เพราะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นหรือการเปิดฉากยุคแห่งอารยธรรม  และสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ที่สุดของความเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่กำลังกลายเป็นอดีต ชมิดท์ยังทำนายด้วยว่า “ในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า  เกอเบกลีเตเปจะโด่งดังยิ่งกว่าสโตนเฮนจ์ และด้วยเหตุผลที่ฟังขึ้นเสียด้วย”

 สิงหาคม 2554