ผู้เขียน หัวข้อ: รอบ 9 เดือน ผู้ป่วยร้องรพ.เอกชนกว่า 3 พัน  (อ่าน 2247 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รอบ 9 เดือน ผู้ป่วยสิทธิรักษาฟรี ร้องเรียนปัญหาสถานบริการเอกชนกว่า 3 พันกรณี ไม่ได้รับบริการตามสิทธิมากสุด รก.ผอ.สปสช.เขต 13 เผย รก.เอกชนส่วนใหญ่ในกทม.กระจุกตัวแต่ชั้นใน ส่วนต่างจังหวัดมีแค่จังหวัดละ 1 แห่ง เหตุเพราะเกรงผู้ป่วยรักษาโรคแทรกซ้อน เสนอรัฐจัดบริการสังคมสงเคราะห์

 เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ความร่วมมือของหน่วยบริการเอกชน: ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หวังยกระดับความร่วมมือของโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน” จัดโดยเครือข่ายรัฐสวัสดิการ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)ว่า จากปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของการรับบริการด้านสาธารณสุขในหน่วยงานบริการเอกชนผ่านสายด่วน 1330 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระหว่างเดือน ต.ค.2553 - มิ.ย.2554 พบว่ามีการร้องเรียนสูงถึง 3,165 กรณี แบ่งเป็นประเด็นมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขจำนวน 532 กรณี อาทิ แพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาด และไม่ได้รับการส่งต่ออย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
 ประเด็นไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร 707 กรณี เช่น รอรับบริการนาน ประเด็นถูกเรียกเก็บเงิน 702 กรณี เช่น การนอนโรงพยาบาลแล้วถูกเรียกเก็บค่าเตียงนอน และไม่ได้รับบริการตามสิทธิที่กำหนด 1,224 กรณี เช่น ไม่สามารถเลือกหน่วยบริการใกล้บ้านไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาทางออกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเร่งสำรองเตียงนอนสำหรับผู้ป่วยเพื่อรองรับผู้ป่วยในอย่างมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศมีระบบบริการเตียงสำรองแล้ว แต่ไทยยังล่าช้า ต้องเร่งยกระดับมาตรฐาน
 นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กทม. กล่าวว่า จากข้อมูลของ สปสช.เขต 13 มีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมด 29 แห่ง ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ใน กทม.ส่วนกลาง แต่ในส่วนของเขตนอกๆ อาทิ เขตทวีวัฒนา บางขุนเทียน ยังไม่ค่อยมี สำหรับในต่างจังหวัดมีประปราย ราวจังหวัดละ 1 แห่ง เหตุผลที่โรงพยาบาลไม่ค่อยเข้าร่วม เท่าที่เคยรับฟังมา น่าจะเป็นเพราะกังวลว่าผู้ป่วยจะเข้ารักษาตัวด้วยโรคที่แทรกซ้อน และโรคที่รักษายาก เกรงว่าจะต้องรับภาระที่หนักเกินควร อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ บอร์ด สปสช.พยายามที่จะประคองโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมในระบบให้อยู่ต่อนานๆ โดยคาดหวังว่า เพื่อจะได้แก้ปัญหาเรื่องเตียงไม่พอได้ แต่ถ้าเชิญชวนให้ รพ.ใหม่ เข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นก็จะมีศักยภาพในการแข่งขันด้านบริการได้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามในการเพิ่มค่าหัวของผู้ป่วยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปี 2555 เป็น 2,895 บาท น่าจะเป็นแรงจูงใจให้สถานบริการเอกชนเข้ามาสนใจเข้าร่วมระบบมากขึ้น
 ด้าน พลตรี. นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า รพ.ได้เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพกับ สปสช.มานานกว่า 1 ปี ซึ่งมีผู้ป่วยในสิทธิต่างๆ เข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีผู้ป่วยราว 5 หมื่นรายต่อปี ต้องมารับเพิ่มกว่า 2 แสนราย สิทธิของระบบหลักประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น กรณีการคลอดบุตรของเด็กและวัยรุ่น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในเด็กแรกเกิดที่มีโรคแทรกซ้อน ส่งผลให้ รพ.จำเป็นต้องเปิดบริการศูนย์ทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤติมากถึง 22 ศูนย์ และบางครั้งเจอผู้ป่วยโรคร้ายแรง เช่น วัณโรค โรคเอดส์ ในผู้ป่วยไร้ญาติ และถูกทอดทิ้ง เหล่านี้ทำให้ รพ.ต้องแบกรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่อยากเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือรัฐบาลก็ คือ ควรมีการเปิดบริการกองทุนสุขภาพในเชิงสังคมสงเคราะห์ด้วย เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีปัญหาสุขภาพแต่ไม่มีกำลังจ่ายค่ารักษาพยาบาล

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 28 กรกฎาคม 2554