ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.แจงทุจริตค่ายาราชการไม่เกี่ยวกับระบบ 30 บาท -มติชน-18เมย2553  (อ่าน 1655 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
สปสช.เผยกรณีตุกติกค่ายาราชการพบเฉพาะ รพ.รัฐใหญ่-ร.ร.แพทย์ แพทยสภาแนะสร้างระบบ
ออนไลน์เชื่อมข้อมูล รพ.ตรวจสอบพวกตุกติก สสส.เผย ขรก.5 ล้านใช้เกือบเท่าชาวบ้านกว่า 50 ล้าน

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการตามที่กรมบัญชีกลางร้องขอให้ตรวจสอบความผิดปกติในการเบิกจ่ายค่า รักษาพยาบาลระบบราชการที่สูงกว่า 60,000 ล้านบาท ในปี 2552 พบว่า มีบุคลากรในโรงพยาบาล (รพ.) มีพฤติกรรรมส่อไปในทางทุจริตจริง โดยฮั้วกับบริษัทยา จ่ายยาเกินจำเป็น และนำยาออกขายภายนอกโรงพยาบาล พบมากหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบรักษาพยาบาลเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้รายได้ของโรงพยาบาลลดลงนั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเชื่อว่าไม่ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงระบบรักษาพยาบาลของ สปสช. แต่มาจากระบบการเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเปลี่ยนจากที่เคยให้ข้าราชการสำรองจ่ายไปก่อนแล้วนำใบเสร็จมาเบิก เป็นระบบจ่ายตรง โดยให้ โรงพยาบาลเป็นผู้ไปเบิกจ่ายเอง ทำให้ยอดเงินพุ่งสูงขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงของระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ใช่เหตุผลหลัก เพราะงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวส่วนใหญ่จะกระจายไปยังต่างจังหวัดมากกว่าในเมือง ซึ่งปัญหาค่ารักษาพยาบาลข้าราชการส่วนใหญ่จะพบมากในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งของรัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ


นพ.ประทีปกล่าวด้วยว่า หลังจากจัดตั้ง สปสช.มา 8 ปี พบว่าแนวโน้มเงินบำรุงของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 16,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาท เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุหลักของปัญหาเบิกค่ายาสูง เรื่องนี้ควรไปดูที่ต้นเหตุ ซึ่งมาจากระบบของกรมบัญชีกลางเองมากกว่า

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภายังไม่ได้รับรายงานกรณีข้าราชการมีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผิดปกติ แต่ในเบื้องต้นได้มีการสำรวจข้อเท็จจริงดังกล่าว หากพบข้าราชการคนใดมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตก็จะมีความผิดตามกฎหมาย จากการตรวจสอบพบว่า มีข้าราชการจำนวนน้อยมากเพียง 3-4 รายเท่านั้นที่มีพฤติกรรมสั่งยาให้กับตัวเองและญาติ เพื่อนำไปใช้ในคลีนิคส่วนตัว อีกทั้งแพทย์คงไม่กล้าเสี่ยงที่จะโดนตรวจสอบจากกรมบัญชีกลาง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ไม่ยากนัก

นพ.สมศักดิ์กล่าวถึงผลการตรวจสอบของ ป.ป.ท.พบแพทย์บางโรงพยาบาลสั่งยาเกินความจำเป็น เพื่อรับค่าคอมมิสชั่นจากบริษัทขายยาว่า คงเป็นความเข้าใจผิดมากกว่า เพราะแพทย์จะจ่ายยาให้คนไข้ตามอาการ ยาบางชนิดมีราคาไม่แพงและหาซื้อได้ทั่วไป ทำให้คนไข้เข้าใจว่ายาดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา จึงร้องขอยาใหม่ที่มีราคาแพงกว่า แพทย์ไม่อยากขัดใจ ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบราชการพุ่งสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลรัฐชื่อดัง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลของกองทัพและ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้แพทยสภากำลังประชุมวางกฎเกณฑ์และวางกรอบแนวทางในการเบิกจ่ายยา เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยมาร่วมประชุมด้วย เบื้องต้นจะกำหนดข้อบ่งชี้ถึงการใช้ยาแต่ละประเภท รวมทั้งการเบิกจ่ายยาที่มีราคาแพง สำหรับรักษาโรคบางประเภท จะต้องผ่านการพิจารณาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคนั้นๆ ไม่ใช่แพทย์ทั่วไปอย่างที่ผ่านมา จะเป็นมาตราการควบคุมและป้องกันการจ่ายยาที่ไม่เหมาะสมได้ในระดับหนึ่ง

นพ.สมศักดิ์กล่าวถึงปัญหาการเบิกยาซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากการที่โรงพยาบาลในประเทศไทยยังไม่มีระบบออนไลน์ เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลด้วยกันเอง ทำให้ไม่ทราบว่าคนไข้ได้เบิกยาแล้ว มารู้อีกทีก็ตอนเรียกเก็บเงิน รวมทั้งการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการจ่ายเงินตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนไม่คำนึงถึงราคาและการใช้ยา เจ็บป่วยเล็กน้อยก็เข้าโรงพยาบาลเพราะเห็นว่าไม่ต้องเสียเงิน ต่างจากในต่างประเทศที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนหันมาดูแลรักษาตัวเองมากขึ้น

ทางด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า หากดูจากมูลค่าการเบิกจ่ายยาในระบบราชการ พบว่าข้าราชการไทยมีสถิติเบิกจ่ายยาเฉลี่ยต่อคนสูงมาก แต่ละปีรัฐบาลต้องจ่ายงบฯสวัสดิการรักษาพยาบาลเต็มอัตราการรักษาประมาณ 5 ล้านคน เกือบเท่ากับที่จ่ายให้ สปสช.ที่ดูแลประชาชนทั่วประเทศกว่า 50 ล้านคน น่าสงสัยและควรตรวจสอบ ส่วนการรักษาที่มีปัญหาน่าจะเป็นกรณีการรักษาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลมากกว่า เนื่องจากการเบิกจ่ายยาสามารถกระทำได้โดยตรงและไม่จำกัด เพราะตั้งแต่มีการเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยตรง โดยที่ข้าราชการไม่ต้องจ่ายเงินออกไปก่อนนั้น พบว่าเบิกจ่ายสูงมาก ควรมีหน่วยงานเฝ้าระวังและติดตามการใช้ยาอย่างเป็นระบบ เพื่อตรวจสอบการจ่ายยาโดยแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลาง หรือสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล