ผู้เขียน หัวข้อ: เยาว์เกินกว่าจะแต่ง(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3047 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ประเพณีการแต่งงานเด็กพบเห็นได้ในหลายทวีป  ประพฤติโดยผู้คนหลากภาษา ศาสนา และชนชั้นวรรณะ ในอินเดีย เด็กหญิงมักถูกหมั้นหมายกับเด็กชายที่แก่กว่า 4 – 5 ปี ในเยเมน อัฟกานิสถาน และประเทศอื่นๆที่มีอัตราการสมรสในวัยเด็กสูง สามีถ้าไม่ใช่หนุ่มวัยละอ่อน ก็เป็นพ่อหม้ายวัยกลางคน หรือไม่ก็ชายที่ฉุดคร่าและข่มขืนก่อนจะอ้างสิทธิเอาผู้เคราะห์ร้ายมาเป็นภรรยาในภายหลัง บางครั้งการแต่งงานลักษณะนี้เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจ เช่น การยกหนี้เพื่อแลกกับเจ้าสาววัย 8 ขวบ หรือความบาดหมางระหว่างครอบครัวที่คลี่คลายลงด้วยการส่งมอบญาติวัย 12 ที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง เมื่อใดที่เรื่องเหล่านี้บังเอิญเล็ดลอดสู่การรับรู้ของสาธารณชน ก็มักกลายเป็นข่าวร้อนในชั่วข้ามคืน พร้อมกับจุดกระแสความโกรธขึ้งจากทุกมุมโลก เช่น เมื่อปี 2008 ละครชีวิตของนูจู๊ด อาลี เด็กหญิงชาวเยเมนวัย 10 ขวบที่เดินทางไปศาลเพียงลำพังเพื่อยื่นคำร้องขอหย่าจากชายวัย 30 ที่พ่อของเธอบังคับให้แต่งงานด้วย กลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก และเมื่อไม่นานมานี้หนังสือเรื่อง นูจู๊ด..หนูจะหย่า! (I am Nujood, Age 10 and Divorced) ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆแล้ว 30 ภาษาทั่วโลก (รวมทั้งภาษาไทย) 

ประเพณีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนตั้งแต่วัยเยาว์ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ในหลายภูมิภาคของโลก  โดยพ่อแม่เป็นผู้จัดแจงให้ลูกในไส้ของตน  แม้ว่ามักจะขัดต่อกฎหมายในประเทศ  (ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากการบังคับเด็กหญิงให้มีเพศสัมพันธ์และคลอดบุตรก่อนที่ร่างกายจะพร้อม เช่น ผนังช่องคลอดฉีกขาด  แผลหรือการฉีกขาดของอวัยวะภายในซึ่งอาจนำไปสู่การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ตลอดชีวิต)   แต่เป็นที่เข้าใจและยอมรับของชุมชนว่า  เป็นหนทางเหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับให้เด็กสาวเจริญเติบโตขึ้นมา  ขณะที่ทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะทางเลือกที่แฝงความเสี่ยงจากการที่เด็กสาวอาจเสียความบริสุทธิ์ให้ชายอื่นผู้ไม่ใช่สามี เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

 กระนั้นในสังคมไม่กี่แห่งที่ประเพณีการแต่งงานเด็กถือเป็นเรื่องปกติ คุณอาจรู้สึกลำบากใจที่จะตัดสินหรือชี้ชัดลงไปว่าการกระทำนี้สมควรต่อเด็กหญิงหรือไม่อย่างไร  การศึกษาของเด็กๆเหล่านี้ไม่เพียงต้องสะดุดหยุดลงเพราะการแต่งงานเท่านั้น  แต่ยังมาจากระบบการศึกษาในชนบทเองด้วย  เพราะแม้อาจจะมีโรงเรียนใกล้บ้าน แต่ก็สอนถึงแค่ระดับประถมเท่านั้น ถ้าจะเรียนสูงกว่านี้ พวกเธอต้องโดยสารรถประจำทางเข้าเมืองทุกวัน โดยเบียดเสียดยัดเยียดอยู่ท่ามกลางผู้ชายที่จ้องหาโอกาสล่วงเกิน  ที่สำคัญการศึกษาเล่าเรียนยังมีค่าใช้จ่ายซึ่งครอบครัวทั่วไปเลือกที่จะกันไว้ให้บรรดาลูกชายที่มีโอกาสหารายได้เลี้ยงครอบครัวมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในอินเดีย ส่วนใหญ่แล้วภรรยาที่เพิ่งแต่งงานจะออกจากบ้านไปอยู่กับครอบครัวของสามี ลูกสาวที่ยังอยู่กับพ่อแม่ มีคำเรียกในภาษาฮินดีว่า ปารายาธาน ซึ่งแปลตามตัวว่า “ทรัพย์สินของคนอื่น”

ดังนั้น ในชุมชนยากจนที่หญิงสาวผู้ไม่บริสุทธิ์ถูกมองว่าเสียหายและไม่คู่ควรกับการแต่งงาน เหล่าญาติผู้ใหญ่จึงมักเร่งรัดการแต่งงาน   ไม่น่าแปลกใจที่แม้แต่นักเคลื่อนไหวต่อต้านการแต่งงานเด็กผู้มุ่งมั่นทุ่มเทที่สุดก็ยังอาจลังเล  สรีลา ทาส คุปตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในนิวเดลี  ซึ่งก่อนหน้านี้ทำงานให้ศูนย์วิจัยสตรีนานาชาติ (International Center for Research on Women: ICRW) เล่าว่า “มีพ่อคนหนึ่งมาพบกับเจ้าหน้าที่ของเรา เขาระบายความอัดอั้นตันใจว่า ‘ถ้าผมเต็มใจให้ลูกสาวแต่งงานช้าแล้วละก็ คุณจะรับหน้าที่ดูแลปกป้องดูแลเธอหรือเปล่า’ เจ้าหน้าที่รายนี้กลับมาหาเราและบอกว่า ‘ผมควรบอกเขายังไงดี ถ้าลูกสาวเขาเกิดถูกข่มขืนตอนอายุ 14 ล่ะ’ คำถามทำนองนี้แหล่ะค่ะที่เราเองก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน”

ท่ามกลางการรณรงค์ต่อต้านประเพณีการแต่งงานเด็กในระดับสากล ตัวละครผู้แข็งแกร่งที่สุดส่วนหนึ่งคือเด็กหญิงที่หาญกล้าลุกขึ้นสู้บนลำแข้งของตนเอง  เรื่องราวชีวิตของพวกเธอแต่ละคนคือแบบอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กหญิงคนอื่นๆลุกขึ้นสู้  ในเยเมนฉันได้พบกับรีม เด็กหญิงวัย 12 ปีที่ได้รับอนุญาตให้หย่าขาดจากสามีเพียงไม่กี่เดือนหลังคดีของนูจู๊ด เธอสามารถโน้มน้าวผู้พิพากษาหัวรั้นที่เอาแต่ยืนกรานว่าเจ้าสาวเด็กขนาดนี้ยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเรื่องการหย่า  ส่วนในอินเดียฉันได้พบกับสุนิล อายุ 11 ปีที่สาบานต่อหน้าพ่อแม่ว่า เธอไม่มีวันยอมรับเจ้าบจวนจะมาถึงอยู่รอมร่อ และขู่ว่าถ้าถูกบีบบังคับ  เธอจะเปิดโปงเรื่องทั้งหมดให้ตำรวจทราบ

ความพยายามในการเข้าถึงเด็กหญิงที่อายุไม่ถึงเกณฑ์และครอบครัวให้มากขึ้น ไม่ได้พุ่งเป้าเพียงแค่การแก้ปัญหาการแต่งงานก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นประเด็นหวือหวาที่สร้างความโกรธขึ้งให้สาธารณชนได้ง่ายที่สุด สรังคา เชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพวัยรุ่น กล่าวว่า “เด็กหญิงที่แต่งงานก่อนวัยอันควรส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 13 ถึง 17 ปี เราต้องการสร้างทัศนคติต่อปัญหาดังกล่าวเสียใหม่ว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของเด็กอายุน้อยๆ เท่านั้น”

ในมุมมองของศูนย์วิจัยสตรีนานาชาติ  การแต่งงานของเด็กสาววัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปีถือเป็นการแต่งงานเด็กทั้งสิ้น และแม้จะไม่มีตัวเลขสถิติที่แน่ชัด แต่นักวิจัยประเมินว่า ในแต่ละปี เด็กหญิง 10 – 12 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาต้องแต่งงานตั้งแต่เด็ก  ความพยายามในการลดตัวเลขดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการที่ผลักดันเด็กสาวเข้าสู่การแต่งงานและมีบุตร ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาและอาชีพ  นอกจากนี้ การบีบบังคับไม่ได้มาในรูปของพ่อแม่ที่บงการให้เป็นเช่นนั้นเสมอไป บางครั้งเด็กหญิงต้องเลิกเรียนกลางคันแล้วก้าวเข้าสู่ชีวิตคู่เพราะคิดว่าเป็นการทำหน้าที่ตอบแทนครอบครัว  ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่ดูจะได้ผลที่สุดเพื่อชะลอเวลาการแต่งงานของเด็กหญิงออกไป คือการสร้างแรงจูงใจภายในชุมชน  แทนการประณามหยามเหยียดประเพณีการแต่งงานเด็ก เช่น การให้เงิน หรืออาหารแก่ครอบครัวเพื่อแลกกับการยอมให้เด็กหญิงได้เรียนหนังสือต่อไป รวมทั้งจัดหาโรงเรียนที่เด็กๆ สามารถไปเรียนได้จริง  เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลอินเดียได้จัดทำโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหมู่บ้านที่เรียกว่า สฐิน เพื่อคอยสอดส่องดูแลความเป็นอยู่ของครอบครัวในพื้นที่  หน้าที่ของพวกเขายังรวมถึงการคอยย้ำเตือนกับคนในหมู่บ้านว่า การแต่งงานเด็กไม่เพียงเป็นความผิดทางอาญาเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายอย่างมากต่อลูกสาวของตนเองด้วย 
                มอลลี เมลชิง ผู้ก่อตั้งองค์กรในเซเนกัลชื่อ โทสตัน (Tostan) ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากลในด้านการส่งเสริมโครงการที่ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง  เพื่อกระตุ้นหรือจูงใจชาวบ้านให้ยอมหันหลังให้ประเพณีการแต่งงานเด็ก บอกว่า “คุณคงไม่อยากส่งเสริมให้เด็กหญิงหนีออกจากบ้านหรอกนะคะ  หนทางในการเปลี่ยนขนบทางสังคมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา  ไม่ใช่การต่อต้านหรือชี้นิ้วประณามกล่าวโทษว่าพวกเขาล้าหลัง  เราเคยเห็นมาแล้วที่ทั้งชุมชนยินยอมพร้อมใจที่จะเปลี่ยนอย่างไม่รีรอ นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เราค่ะ”

กรกฎาคม 2554