ผู้เขียน หัวข้อ: คลังอาหารโลก(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2866 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ความท้าทายกำลังใกล้เข้ามา  ในการเลี้ยงดูประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  เราจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตอาหารให้ได้สองเท่า  ทว่าพืชผลก็ยังเพิ่มไม่เร็วพอ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกับโรคชนิดใหม่ๆส่อเค้า  คุกคามชนิดพันธุ์อันจำกัดที่เราพึ่งพาเป็นแหล่งอาหาร โชคดีที่ยังมีเมล็ดพันธุ์และสายพันธุ์สัตว์ต่างๆ พอเป็นหลักประกันอาหารในอนาคตได้ แต่เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่ออนุรักษ์สิ่งเหล่านั้นไว้

            พวกเราส่วนใหญ่ในโลกที่อิ่มหนำแทบไม่เคยสนใจว่า  อาหารที่เรากินมาจากไหนหรือเพาะปลูกขึ้นมาอย่างไร เราเข็นรถเข็นไปตามชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตโดยไม่ตระหนักสักนิดว่า  ความสมบูรณ์พูนสุขที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าคือฉากสวยหรูที่สร้างขึ้นบนนั่งร้านที่นับวันจะมีแต่ง่อนแง่น  เราได้ยินข่าวเรื่องการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ในป่าดิบชื้น      มานานแล้ว แต่ในทางตรงข้าม การพูดถึงหรือลงมือทำเพื่อหยุดยั้งความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับความหลากหลายทางพันธุกรรมของอาหารที่เราบริโภคกลับมีน้อยมาก

            การสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชอาหารเกิดขึ้นทั่วโลก และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเสียด้วย ในสหรัฐฯ คาดกันว่าชนิดพันธุ์ของพืชผักผลไม้ในประวัติศาสตร์สูญสิ้นไปแล้วถึงร้อยละ 90 จากแอ๊ปเปิ้ลราว 7,000 ชนิดที่ปลูกในศตวรรษที่สิบเก้าปัจจุบันเหลือไม่ถึง 100 ชนิด ในฟิลิปปินส์ พันธุ์ข้าวหลายพันชนิดที่เคยเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลาย ตอนนี้เหลือที่นิยมปลูกกันอยู่เพียง 100 ชนิดเท่านั้น เช่นเดียวกับพันธุ์ข้าวสาลีที่ปลูกในจีนย้อนหลังไปเพียง 100 ปีก่อนสูญสิ้นไปแล้วถึงร้อยละ 90 ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า เราสูญเสียชนิดพันธุ์พืชอาหารในโลกไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งในศตวรรษที่ผ่านมา สำหรับปศุสัตว์ 8,000 สายพันธุ์ที่เรารู้จักมีอยู่ราว 1,600 ชนิดอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือไม่ก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว

            เพราะเหตุใดเรื่องนี้จึงเป็นปัญหา ลองคิดดูว่าหากเชื้อโรคหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในอนาคตรุกรานทำลาย พืชอาหารหรือปศุสัตว์หนึ่งในไม่กี่ชนิดที่เราต้องพึ่งพาในการเลี้ยงดูประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงตอนนั้น เราอาจโหยหา สายพันธุ์ที่ปล่อยให้ล้มหายตายจากไปเหล่านั้นก็ได้ การสูญเสียความหลากหลายของพันธุ์ข้าวสาลีอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่ ควรวิตกอย่างยิ่ง ศัตรูเก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งของข้าวสาลีอย่างโรคราสนิมที่ลำต้นกำลังระบาดไปทั่วโลก โดยปัจจุบันเป็นสายพันธุ์อันตรายที่สามารถกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วรี่ชื่อ ยูจี99 (Ug99) เนื่องจากพบครั้งแรกในยูกันดาเมื่อปี 1999 ก่อนจะแพร่กระจายไปสู่เคนยา เอธิโอเปีย ซูดาน และเยเมน พอถึงปี 2007 เชื้อนี้ก็โดดข้ามอ่าวเปอร์เซียไปถึงอิหร่าน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอีกไม่นานยูจี99 จะรุกคืบสู่อินเดียและปากีสถานซึ่งเป็นแหล่งปลูกพืชอาหารสำคัญ ก่อนไปถึงรัสเซีย จีน และด้วยสปอร์ปริมาณเพียงน้อยนิดที่ติดพื้นรองเท้าผู้โดยสารเครื่องบินสักคน เชื้อนี้ก็จะเข้าสู่ซีกโลกตะวันตกได้อย่าง ไม่ยากเย็น

            ชนิดพันธุ์ข้าวสาลีราวร้อยละ 90 ของโลกไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้ ถ้ายูจี99 แพร่มาถึงสหรัฐฯ ประเมินกันว่าข้าวสาลี มูลค่าไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยง นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ลำพังในเอเชียและแอฟริกา  ข้าวสาลีที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบโดยตรงจะส่งผลให้ประชากรโลกถึงหนึ่งพันล้านคนขาดแหล่งอาหารหลัก

            ภายในปีนี้คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดพันล้านคน และอาจขึ้นไปถึงเก้าพันล้านในปี 2045 ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่าเราจำเป็นต้องผลิตพืชอาหารมากเป็นสองเท่าเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรในประเทศเศรษฐกิจใหม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมสูงขึ้น เมื่อพิจารณาถึงความท้าทายด้านอื่นๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเชื้อโรคที่กลายพันธุ์อย่างไม่หยุดยั้งอย่างยูจี99 จึงนับเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งที่เราต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิตอาหารโดยไม่ทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชอาหารและปศุสัตว์ผ่านมายาคติแห่งความสมบูรณ์พูนสุขของการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาโลกแก้ปัญหาด้วยวิธีการอันเป็นสูตรสำเร็จที่พึ่งเทคโนโลยีมากขึ้นทุกที กระนั้นความหวังที่เป็นไปได้ที่สุดในการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอาจขึ้นอยู่กับความสามารถในการอนุรักษ์พืชอาหารท้องถิ่นจากอดีตของเรา

            ทางออกหนึ่งของปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชอาหารที่ลดลงอย่างรวดเร็ว คือการเก็บรวบรวมและอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ต่างๆให้ได้มากชนิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่พวกมันจะสาบสูญไปตลอดกาล  ทุกวันนี้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์ราว 1,400 แห่งทั่วโลก โครงการที่ถือว่าล้ำหน้าและทะเยอทะยานที่สุดคือ อุโมงค์เมล็ดพันธุ์พืชแห่งสฟาลบาร์ (Svalbard Global Seed Vault) แห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) ของภูเขาหินทรายลูกหนึ่งบนเกาะสปิตส์เบอร์เกนของนอร์เวย์ ห่างจากขั้วโลกเหนือเพียง 1,125 กิโลเมตร โครงการนี้ริเริ่มขึ้นโดย แครี ฟาวเลอร์ ร่วมกับกลุ่มที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเกษตรนานาชาติ “อุโมงค์วันโลกาวินาศ” ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันเล่นๆแห่งนี้ คือคลังสำรองของธนาคารเมล็ดพันธุ์แห่งอื่นๆทั่วโลก ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์จากธนาคารทั้งหมดเหล่านั้นจะถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในห้องใต้ดินที่มีอุณหภูมิเย็นจัดชั่วนาตาปีและตั้งอยู่ในเขตปลอดแผ่นดินไหว สูงกว่าระดับทะเล 122 เมตร เพื่อให้มั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะอยู่ในสภาพที่แห้งและปลอดภัยแม้หิมะขั้วโลกจะละลาย
                กระนั้น การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ในธนาคารเพื่อช่วยให้เรารอดพ้นจากหายนะอย่างทุพภิกขภัยหรือภัยพิบัติในอนาคตก็เป็นเพียงมาตรการ “ครึ่งทาง” เท่านั้น สิ่งที่มีค่าควรแก่การเก็บรักษาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือภูมิปัญญาที่ผ่านการลองผิดลองถูกและสั่งสมมายาวนานของชาวไร่ชาวนาทั่วโลก ผู้คนเหล่านี้รุ่นแล้วรุ่นเล่าลงมือปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ตอนนี้เรากำลังเสาะแสวงหาอย่างเหลือเกิน บางทีทรัพยากรอันทรงคุณค่าและ “ใกล้สูญพันธุ์ที่สุด” อาจเป็นความรู้ที่เก็บรักษาไว้ในสมองของบรรดาชาวนานี่เอง

กรกฎาคม 2554