ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อแพแตก(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2081 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ย้อนหลังไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1881 จอห์น มิวร์ นักธรรมชาติวิทยา แล่นเรือกลไฟชื่อ โทมัสคอร์วิน เข้าใกล้ชายฝั่งอะแลสกา  เพื่อค้นหาเรือสามลำที่หายสาบสูญไปในน่านน้ำมหาสมุทรอาร์กติก ขณะลอยลำอยู่นอกชายฝั่งแหลมพอยต์แบร์โรว์ เขาสังเกตเห็นหมีขั้วโลกสามตัวและพรรณนาไว้ว่า “สหายผู้งามสง่าตัวอ้วนพีแต่กระฉับกระเฉง ประลองกำลังกันอย่างสนุกสนานท่ามกลางแดนน้ำแข็งอันเวิ้งว้างว่างเปล่า”

หากมิวร์แล่นเรืออยู่นอกชายฝั่งแหลมพอยต์แบร์โรว์ในเดือนสิงหาคมของทุกวันนี้ หมีขั้วโลกที่เขาพบเห็นอาจไม่ได้อยู่ท่ามกลางแดนน้ำแข็งรกร้างว่างเปล่าอีกต่อไป แต่แหวกว่ายอยู่กลางน่านน้ำเปิดโดยอาศัยพลังงานจากการเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้ในร่างกาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะน้ำแข็งทะเล (sea ice) ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของพวกมันกำลังหดหายอย่างรวดเร็ว

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจำนวนประชากรหมีขั้วโลกทั้งหมดมีอยู่ 20,000 ถึง 25,000 ตัว โดยแบ่งเป็น 19 กลุ่มประชากรย่อย หมีขั้วโลกในสฟาลบาร์ ทะเลโบฟอร์ต และฮัดสันเบย์ ได้รับการศึกษามายาวนานที่สุด พื้นที่ทางตะวันตกของฮัดสันเบย์ที่น้ำแข็งละลายในฤดูร้อนและกลับมาแข็งตัวจนถึงแนวชายฝั่งในฤดูใบไม้ร่วง คือแดนวิกฤติแห่งแรกที่ทำให้ชะตากรรมของหมีขั้วโลกได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์และสาธารณชนทั่วโลก                             

เอียน สเตอร์ลิง ซึ่งปัจจุบันเกษียณจากกรมสัตว์ป่าแห่งแคนาดา เฝ้าติดตามหมีขั้วโลกที่นั่นมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 เขาพบว่าพวกมันกินแมวน้ำจำนวนมากในฤดูใบไม้ผลิและต้นฤดูร้อนก่อนที่น้ำแข็งจะแตก แล้วถอยร่นกลับสู่แผ่นดินเมื่อน้ำแข็งละลาย ในช่วงนี้ของปีที่อาหารอุดมสมบูรณ์ เราจะเห็นหมีเนื้อตัวอ้วนพีไปด้วยไขมัน ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่บนฝั่งหมีจะเข้าสู่สภาวะที่เรียกกันว่า การลดการเผาผลาญพลังงาน (walking hibernation) หรือการเคลื่อนไหวร่างกายแบบสูญเสียพลังงานน้อยที่สุดเพื่อกักเก็บไขมันให้ได้นานที่สุด

ระหว่างการเฝ้าสังเกตหมีขั้วโลกในอีกหลายปีต่อมา สเตอร์ลิงและแอนดริว เดโรเชอร์ เพื่อนร่วมงาน เริ่มเห็นสัญญาณเตือนประการหนึ่ง พวกเขาสังเกตว่าแม้จำนวนประชากรหมีจะคงที่ แต่พวกมันกลับผอมลง หมีในแถบตะวันตกของฮัดสันเบย์ไม่สามารถออกล่าแมวน้ำได้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่มีแมวน้ำให้ล่ามากที่สุด และภายหลังเมื่อน้ำแข็งกลับมา     ในฤดูหนาว การอดอาหารของพวกมันก็ต้องยืดเยื้อออกไปอีก พอถึงปี 1999 นักชีววิทยาค้นพบว่ามีความเกี่ยวข้องระหว่างสุขภาพที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องของหมีขั้วโลกกับการลดลงของปริมาณน้ำแข็งทะเล หมีขั้วโลกตัวไม่ใหญ่เท่าที่เคย หมีเพศเมียตกลูกน้อยครั้งลง อีกทั้งจำนวนลูกต่อครอกและลูกหมีที่รอดชีวิตยังน้อยลงอีกด้วย

ข้อมูลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นับจากนั้นยิ่งสนับสนุนสัญญาณเตือนภัยข้างต้น นับตั้งแต่มิวร์ออกเดินทางด้วยเรือ คอร์วิน เมื่อ 130 ปีก่อน ก๊าซเรือนกระจกมีส่วนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นราวครึ่งองศาเซลเซียสแล้ว ตัวเลขนี้อาจดูน้อยนิดจนไม่น่าสลักสำคัญอะไร แต่ในความเป็นจริงอุณหภูมิที่สูงขึ้นแม้เพียงครึ่งองศาก็อาจส่งผลกระทบต่อวัฏจักรน้ำแข็งและหิมะอย่างเห็นได้ชัด

น้ำแข็งทะเลเหนือบริเวณไหล่ทวีปตื้นๆเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของหมีขั้วโลก แต่เมื่อไม่นานมานี้ น้ำแข็งได้ถอยร่นออกไปไกลจากบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้ถิ่นอาศัยในฤดูร้อนซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของหมีมากที่สุดหดตัวลง ระยะเวลาที่พวกมันสามารถล่าเหยื่อบนน้ำแข็งทะเลได้นับวันจะมีแต่สั้นลง บีบบังคับให้หมีขั้วโลกต้องอดอาหารยาวนานขึ้น ซ้ำร้ายน้ำแข็งทะเลที่บางลงมักถูกลมและกระแสน้ำพัดพาได้ง่าย หมีจึงอาจถูกพัดพาไปยังสถานที่แปลกถิ่น ทำให้พวกมันต้องว่ายน้ำในทะเลเปิดไกลขึ้นและยากลำบากมากขึ้นเพื่อหาน้ำแข็งทะเลที่เหมาะสมหรือเพื่อขึ้นฝั่ง

หมีขั้วโลกเป็นนักว่ายน้ำทรงพลังก็จริง แต่การว่ายน้ำในทะเลเปิดเป็นระยะทางไกลๆอาจทำให้พวกมันถึงกับหมดเรี่ยวแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ชะตากรรมของหมีเพศเมียดูจะยากลำบากเป็นพิเศษ หมีเพศผู้ที่ขาดอาหารอาจฆ่าและกินลูกหมีหรือแม้แต่ตัวแม่หมีเอง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพฤติกรรมนี้อาจพบเห็นได้บ่อยขึ้นเมื่อแหล่งอาหารลดน้อยลง ขณะที่การขึ้นฝั่งเพื่อไปยังถิ่นที่บรรพพบุรุษของพวกมันสร้างรวงรังก็ยิ่งยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้  กระแสน้ำยังคงซัดน้ำแข็งทะเลที่ลอยคว้างเข้าสู่หมู่เกาะอาร์กติกแคนาดาและตอนเหนือของกรีนแลนด์ในฤดูร้อน ก่อให้เกิดหย่อมน้ำแข็งที่กระจุกตัวมากพอที่จะหล่อเลี้ยงหมีขั้วโลกได้ตลอดศตวรรษนี้ สตีเวน อัมสตรัป  หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำองค์กรหมีขั้วโลกระหว่างประเทศ กล่าวว่า หากเราสามารถลดภาวะโลกร้อนได้ ก็คงไม่สายเกินไปสำหรับหมีขั้วโลก แต่ “ถ้าโลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดแม้แต่แหล่งพักพิงแห่งสุดท้ายเหล่านั้นก็คงไม่อาจพิทักษ์สัตว์ผู้เป็นดั่งสัญลักษณ์แห่งแดนอาร์กติกเอาไว้ได้”

กรกฎาคม 2554