ผู้เขียน หัวข้อ: ตามหาพระนางคลีโอพัตรา(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 3204 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
พระนางคลีโอพัตราที่เจ็ดประสูติในอียิปต์  แต่ทรงสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์และราชินีกรีกที่ปกครองอียิปต์ มายาวนานเกือบ 300 ปี ราชวงศ์ปโตเลมีแห่งมาซิโดเนียเป็นราชวงศ์ที่หรูหราฟู่ฟ่าที่สุดราชวงศ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ เป็นที่เลื่องลือไม่ใช่เพียงเพราะมากล้นด้วยธนสารสมบัติและความฉลาดหลักแหลมเท่านั้น   แต่ยังรวมถึงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและราชบัลลังก์กันเองอย่างนองเลือด ไปจนถึงการสมรสร่วมสายโลหิต  และการเข่นฆ่าในหมู่พี่น้อง

            ราชวงศ์ปโตเลมีขึ้นครองอำนาจหลังพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชทรงพิชิตอียิปต์ได้  นับจาก 332 ปีก่อนคริสตกาลพระองค์ทรงยาตราทัพปราบปรามดินแดนน้อยใหญ่ในอียิปต์ตอนล่างทั้งหมดจนราบคาบ  ทรงขับไล่พวกเปอร์เซียที่ครอบครองดินแดนอยู่ก่อนและเป็นที่เกลียดชังของชาวอียิปต์  จึงทรงได้รับการสดุดีว่าเป็นเทพผู้ปลดปล่อย และได้รับยกย่องเป็นฟาโรห์ที่เมมฟิส นครหลวงของอียิปต์  พระองค์ยังทรงวางรากฐานในการสร้างอะเล็ก-ซานเดรียซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองหลวงของอียิปต์นานร่วมพันปี

         นักประวัติศาสตร์ยุคโบราณยกย่องคลีโอพัตราเรื่องความมีเสน่ห์  หาใช่พระสิริโฉม  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระนางทรงสามารถสยบมหาบุรุษโรมันผู้เกรียงไกรถึงสองคนให้ตกอยู่ในบ่วงเสน่หาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น  ได้แก่

จูเลียส ซีซาร์ ผู้ทรงมีพระโอรสด้วยกันหนึ่งพระองค์  และมาร์ก แอนโทนี ที่ทรงครองรักกันนานกว่าสิบปีและมีโอรสธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ พลูทาร์ก นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก กล่าวถึงพระสิริโฉมของพระนางว่า “ไม่ถึงกับทำให้ผู้พบเห็นตะลึงลาน แต่การมีปฏิสัมพันธ์กับพระนางเป็นประสบการณ์ที่ติดตราตรึงใจ”

            ที่ผ่านมามีผู้คนไม่น้อยพยายามสืบเสาะค้นหาหลุมพระศพของคลีโอพัตรา  นับตั้งแต่ทรงปรากฏพระองค์ในฉากสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพตามที่นักประวัติศาสตร์พร่ำพรรณาไว้  พระนางทรงทอดร่างในพัสตราภรณ์ล้ำค่าและมงกุฎ บนเตียงตั่งที่พลูทาร์กบรรยายว่าทำด้วยทองคำ  หลังจากซีซาร์ถูกลอบปลงพระชนม์แล้ว  ออกตาเวียนผู้เป็นรัชทายาทได้เปิด ศึกยืดเยื้อกินเวลานานกว่าสิบปีกับแอนโทนีเพื่อแย่งชิงอำนาจในการปกครองจักรวรรดิโรมัน  สุดท้ายแอนโทนีกับคลีโอพัตราเป็นฝ่ายปราชัยที่เมืองแอกติอุม   ออกตาเวียนยาตราทัพเข้าสู่อะเล็กซานเดรียในฤดูร้อนเมื่อ 30 ปีก่อนคริสตกาล  คลีโอพัตราทรงขังพระองค์อยู่หลังประตูบานมหึมาในสุสานของพระนาง  รายล้อมด้วยกองสมบัติล้ำค่าทั้งทองคำ เงิน ไข่มุก งานศิลปะ และสมบัติอื่นๆ ที่พระนางทรงลั่นวาจาว่าจะเผาทำลายเสียให้สิ้นหากต้องตกอยู่ในเงื้อมมือชาวโรมัน                               

            มาร์ก แอนโทนี ผู้หมายปลิดชีพตนเองด้วยคมดาบ ถูกหามมายังสุสานแห่งนี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อจิบไวน์เป็นครั้งสุดท้ายและขอสิ้นใจในอ้อมกอดของคลีโอพัตรา  และอาจเป็นที่สุสานแห่งนี้เองในอีกราวสิบวันต่อมาที่พระนางทรงตัดสินพระทัยหนีความอัปยศของการพ่ายแพ้และถูกจับเป็นเชลยด้วยการปลิดชีพพระองค์เองขณะมีพระชนมายุ 39 พรรษาโดยอาจทรงใช้พิษงูเง่า

            ถึงกระนั้น  เรากลับไม่เคยทราบเลยว่าหลุมฝังพระศพนั้นอยู่แห่งหนใด อะเล็กซานเดรียและพื้นที่โดยรอบไม่ได้รับความสนใจเท่ากับแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่กว่าตามลุ่มน้ำไนล์  เช่น หมู่พีระมิดแห่งกีซาหรือสิ่งก่อสร้างมหึมาในลักซอร์ จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ  เพราะดินแดนซึ่งเคยเป็นที่ประทับของคลีโอพัตราและบรรพบุรุษของพระนางมานานถึง 300 ปีถูกทำลายจากทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ ระดับทะเลที่สูงขึ้น แผ่นดินทรุดตัว ความขัดแย้งทางการเมือง และการขนย้ายหินจากโบราณสถานไปใช้ในงานก่อสร้างอื่นๆ ทำให้บัดนี้อดีตและความรุ่งเรืองส่วนใหญ่ของอะเล็กซานเดรียโบราณจมอยู่ใต้น้ำลึก 6 เมตร

            ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา นักโบราณคดีเริ่มลงมือค้นหาสถานที่ฝังพระศพของคลีโอพัตราอย่างจริงจัง การขุดค้นใต้น้ำซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 1992 โดยฟรังก์ กอดดีโอ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส และสถาบันโบราณคดีใต้น้ำแห่งยุโรป  ช่วยให้นักวิจัยสามารถทำแผนที่ส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำของอะเล็กซานเดรียโบราณ  รวมถึงท่าเรือ ทางเดินเลียบชายหาด และพื้นดินที่ยุบตัวลงซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของปราสาทราชวัง  โบราณวัตถุที่ได้รับการกู้ขึ้นมามีเพรียงเกาะอยู่เต็ม ทั้งประติมากรรมรูปสฟิงซ์ขนาดมโหฬาร แผ่นหินปูนปูพื้นชิ้นมหึมา เสาและหัวเสาหินแกรนิต ล้วนกระตุ้นความอยากรู้เกี่ยวกับโลกและยุคสมัยแห่งคลีโอพัตราให้ทวียิ่งขึ้น

            เมื่อไม่นานมานี้  วิหารแห่งหนึ่งในทะเลทรายนอกอะเล็กซานเดรียกลายเป็นจุดสนใจในการขุดค้นขึ้นมาอีกแห่ง เป็นสถานที่ที่ชวนให้คิดว่า  พระนางคลีโอพัตราในฐานะฟาโรห์ผู้ปราดเปรื่องและมองการณ์ไกลอาจทรงเลือกที่ตั้งสุสานของพระนางในที่ที่มีความหมายทางจิตวิญญาณมากกว่ากลางนครอะเล็กซานเดรียหรือไม่  และที่แห่งนั้นน่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มัมมี่ของพระนางจะได้พักผ่อนเคียงข้างแอนโทนี บุรุษผู้เป็นที่รักอย่างสงบชั่วนิรันดร์

            จุดเริ่มต้นของภารกิจนี้มาจากผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ แคทลีน มาร์ตีเนซ อาจารย์สอนวิชาโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยซานโตโดมิงโก สาธารณรัฐโดมินิกัน  ย้อนหลังไปเมื่อปี 2004  เธอติดต่อหาซาฮี ฮาวาส  ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาโบราณสถาน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับทฤษฎีที่เธอคิดว่า  สุสานของพระนางน่าจะอยู่ในซากวิหารแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองทะเลทรายริมชายฝั่งชื่อ ตาโปซิริสแมกนา (ปัจจุบันคืออาบูซีร์) ห่างจากอะเล็กซานเดรีย ไปทางตะวันตก 45 กิโลเมตร

            เมืองโบราณแห่งนี้เป็นเมืองท่าสำคัญในสมัยคลีโอพัตรา  สิ่งที่ทำให้มาร์ติเนซเชื่อว่าสุสานของพระนาง    คลีโอพัตราน่าจะอยู่ที่ตาโปซิริสแมกนา  คือเทพปกรณัมที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในศาสนาของอียิปต์ เป็นตำนานเกี่ยวกับเทพโอซิริสผู้ทรงถูกเซท ซึ่งเป็นพระเชษฐาสังหาร แล้วสับร่างเป็นชิ้นๆ ก่อนโปรยไปทั่วปฐพีอียิปต์    ทว่าเทพีไอซิสซึ่งเป็นทั้งพระชายาและพระภคินี  ทรงใช้พลังที่ได้มาจากการหลอกล่อสุริยเทพเร  ชุบชีวิตผู้เป็นทั้งพระสวามีและพระอนุชาขึ้นมาได้นานพอที่จะมีโอรสด้วยกันองค์หนึ่ง นั่นคือโฮรัส ซึ่งต่อมาได้สังหารเซท ผู้เป็นพระปิตุลา เพื่อแก้แค้นให้พระบิดา

            มาร์ตีเนซอธิบายว่า “สิ่งที่ทำให้ฉันสรุปว่าตาโปซิริสแมกนาน่าจะเป็นที่ฝังพระศพก็เพราะการปลิดพระชนม์ชีพของพระองค์เองนั้นเป็นพิธีกรรมที่มีนัยสำคัญทางศาสนาอย่างลึกซึ้ง และทรงทำตามพิธีกรรมอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนตามคติความเชื่อ  คลีโอพัตราทรงต่อรองกับออกตาเวียนว่าขอให้พระนางได้ฝังร่างของมาร์ก แอนโทนี ที่อียิปต์ และทรงมุ่งหวังให้ฝังพระศพของพระองค์เคียงข้างเขา  เพื่อสืบสานตำนานรักอันเป็นนิรันดร์ของไอซิสและโอซิริส  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือหลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว  ทวยเทพจะบันดาลให้พระนางและแอนโทนีมีชีวิตอมตะร่วมกันตลอดไป”

            ระหว่างฤดูการขุดค้นปี 2006 ถึง 2007 ทีมงานอียิปต์-โดมินิกันพบหลุมฐานรากขนาดเล็กสามแห่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวิหารโอซิริส     ฐานรากดังกล่าวเป็นหลักฐานชัดเจนที่เชื่อมโยงวิหารโอซิริสแห่งนี้เข้ากับรัชสมัยของฟาโรห์ปโตเลมีที่สี่ซึ่งครองราชย์ก่อนหน้าพระนางคลีโอพัตราราว 150 ปี

            ภายในหกปี ตาโปซิริสแมกนากลายเป็นแหล่งโบราณคดีอันคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของอียิปต์  นักวิจัยพบโบราณวัตถุกว่าพันชิ้น  ในจำนวนนี้มีอยู่ 200 ชิ้นที่ถือว่าสำคัญ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา เหรียญ เครื่องประดับทองคำ และเศียรของรูปปั้นที่แตกหัก แต่การค้นพบครั้งสำคัญคือสุสานขนาดใหญ่นอกกำแพงวิหาร ซึ่งบ่งบอกว่าพสกนิกรคงอยากถูกฝังใกล้กับกษัตริย์ของพวกเขา
                อย่างไรก็ตาม  แม้การค้นพบสุสานของพระนางคลีโอพัตรายังดูเหมือนอยู่ไกลเกินเอื้อม ราวกับภาพลวงตาที่ล่อหลอกให้มีความหวัง และทฤษฎีที่ว่าสุสานแห่งนี้น่าจะอยู่ที่ตาโปซิริสแมกนาก็ยังเป็นเพียงการคาดเดาโดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการมากกว่าข้อเท็จจริง  แต่มาร์ตีเนซบอกว่า “ฉันเชื่อว่าเราจะพบสิ่งที่ตามหากันอยู่ค่ะ อย่างน้อยๆความแตกต่าง ก็คือ เรากำลังลงมือขุดกันจริงๆ ไม่ใช่แค่ขุดหากันแต่ในหนังสือ”

กรกฎาคม 2554