ผู้เขียน หัวข้อ: อึ้ง! นร.ไทยกว่าครึ่ง ไอคิวไม่ถึง 100 ชี้ภาคอีสานน่าห่วง ไอคิวต่ำสุด  (อ่าน 1358 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
กรมสุขภาพจิต เผย ผลสำรวจระดับไอคิวนักเรียนไทย 3 สังกัด “สาธิต-สพฐ.-คกก.ส่งเสริมการศึกษาเอกชน” จำนวนกว่า 7.2 หมื่นคน ทึ่ง! เกือบร้อยละ 50 มีไอคิวต่ำกว่า 100 ขณะกลุ่มสติปัญญาบกพร่องไอคิวต่ำกว่า 70 สูงถึงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลคือ ขณะข้อมูลรายภาคพบ กทม.ไอคิวสูงสุด ขณะอีสานยังน่าห่วงไอคิวเฉลี่ยแค่ 95.99 ย้ำยังตามหลังสิงค์โปร์-ฮ่องกง-เกาหลี-ญี่ปุ่น เร่งส่งเสริมสร้างโภชนาการ-พัฒนาการเรียนรู้
       
       วันนี้ (7 ก.ค.) นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการแถลงข่าวผลสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทยร่วมกับทีมสำรวจสถิติระดับไอคิว (IQ) ครั้งใหญ่ปี 2554 ในกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 7,2780 รายใน 3 สังกัด คือ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สาธิต) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อรณรงค์ให้ทุกฝ่ายมีส่วนในการสนับสนุนการสร้างโภชนาการที่มีการเพิ่มโอดีนเพื่อเพิ่มระดับไอคิว และพัฒนาการทางการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนไทย ให้เท่าทันประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

   
       โดยนายณรงค์ฤทธิ์ อัศวเรืองพิภพ อาจารย์ประจำวิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจสำรวจในครั้งนี้ พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับไอคิวของเด็กนักเรียนไทยในภาพรวมระดับประเทศอยู่ที่ 98.59 จากค่าเฉลี่ยปกติอยู่ที่ 90 - 109 โดยผลนี้ถือว่าเป็นระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ค่อนไปทางต่ำ ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายภาคเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ กรุงเทพมหานครมีไอคิวเฉลี่ย 104.5 ภาคกลางเฉลี่ย 101.29 ภาคเหนือเฉลี่ย 100.11 ภาคใต้ไอคิวเฉลี่ย 96.85 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ย 95.99
       
       นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อดูในภาพรวมของประเทศ พบว่า มีเด็กเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 48.5 มีปัญหาระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 100 ซึ่งเป็นเกณฑ์ระดับสากลที่จะต้องพัฒนาให้ได้ รวมทั้งพบว่ามีเด็กกลุ่มที่มีปัญหาระดับสติปัญญาบกพร่อง คือไอคิวต่ำกว่า 70 อยู่ถึงร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล คือ ไม่ควรเกินร้อยละ 2
       
       “สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีนักเรียนซึ่งมีไอคิว เฉลี่ยสูงกว่าปกติ ได้แก่ 1.นนทบุรีอยู่ที่ 108.91 2.ระยองเฉลี่ย 107.52 3.ลำปางเฉลี่ย 106.62 4.กรุงเทพฯ เฉลี่ย104.50 5.ชลบุรีเฉลี่ย 103.92 6.สมุทรสาครเฉลี่ย 103.73 7.ตราดเฉลี่ย 103.51 8.ปทุมธานีเฉลี่ย103.34 9.พะเยาเฉลี่ย 103.32 และ 10.ประจวบคีรีขันธ์ เฉลี่ย 103.17” นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว
       
       นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับ10 อันดับจังหวัดที่มีนักเรียนไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่าปกติ ได้แก่ 1.นราธิวาส เฉลี่ยที่ 88.07 2.ปัตตานีเฉลี่ยที่ 91.06 3.ร้อยเอ็ดเฉลี่ยอยู่ที่ 91.65 4.อุบลราชธานี เฉลี่ยอยู่ที่ 93.51 5.สกลนคร เฉลี่ยที่ 93.74 6.กาฬสินธุ์ เฉลี่ยที่ 93.78 7.กระบี่ เฉลี่ยที่ 93.85 8.หนองบัวลำภู เฉลี่ยที่ 94.06 9.กำแพงเพชรเฉลี่ยที่ 95.22 และ 10.มหาสารคามเฉลี่ยที่ 95.28
       
       โดยยังพบว่า เด็กนักเรียนไทยเพศหญิงมีไอคิวเฉลี่ยสูงกว่านักเรียนชาย และนักเรียนในเขตเมืองสูงกว่านักเรียนในเขตอื่นๆ ส่วนนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สาธิต) มีไอคิวสูงกว่านักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีไอคิว 113.70, 106.35, 101.96 และ 97.59 ตามลำดับ
       
       ด้านนพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นการสำรวจทั่วประเทศเป็นครั้งแรกที่ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ที่เป็นตัวแทนในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัด สำรวจเด็กนักเรียน 6-15 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สาธิตและราชภัฏ) และสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ จากการสุ่มตัวอย่าง 7-19 โรงเรียนต่อจังหวัด จำนวนนักเรียนประมาณ 851 - 1,163 คน ต่อจังหวัดซึ่งสามารถเป็นตัวแทนภาพในระดับจังหวัดได้ โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนในระดับจังหวัดไม่เกินร้อยละ 2.8 และเป็นตัวแทนภาพในระดับประเทศ ที่มีค่าความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไม่เกินร้อยละ 0.33
       
       “โดยระดับไอคิวของเด็กนักเรียนไทยครั้งนี้ ยังถือว่าต่ำกว่าประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างสิงค์โปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียเล็กน้อย ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยควรมีการเร่งกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการพัฒนาไอคิว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรณรงค์ให้มีการเพิ่มสารไอโอดีนในอาหารที่จำเป็น เพื่อสร้างโภชนาการที่ดีซึ่งขณะนี้ สธ.เร่งดำเนินการอยู่ในส่วนของการแจกไอโอดีน และการเติมสารในเครื่องปรุงอาหาร ซึ่งในอนาคตคงต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่น อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอความร่วมมือในการออกกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อควบคุมให้ผู้ประกอบการมีการเติมสารไอโอดีนลงในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และอาหารต่าง รวมทั้งควบคุมอุตสาหกรรมเกลือและวัตถุปรุงรสอื่นๆ ให้มีส่วนผสมของไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสมด้วย” นพ.อภิชัย กล่าว
       
       อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า นอกจากการสร้างโภชนาการที่ดีแล้วการพัฒนาระองค์ความรู้ก็เป็นเรื่องจำเป็น เช่น ผู้ปกครองควรที่จะฝึกให้เด็กมีการอ่านเสริมสร้างจินตนาการ เรียนรู้จังหวะดนตรี และเล่นกีฬาออกกำลังกาย ช่วยส่งเสริมความฉลาดทางสติปัญญา หรือควรมีการกระตุ้นการเรียนรู้ในวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ล้วนมีผลทั้งสิ้น


ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 กรกฎาคม 2554