ผู้เขียน หัวข้อ: กรมวิทย์เผย ผัก-ผลไม้นำเข้าพบอะฟลาท็อกซินเพียบ  (อ่าน 1254 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลการตรวจ อาหารนำเข้า และเครื่องดื่มที่มีพืช ผัก ผลไม้ผสม ระหว่างเดือน ม.ค.53 - ม.ค.54 จำนวน 426 ตัวอย่าง พบอะฟลาท็อกซินเกินมาตรฐาน อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
       
       นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (สคอ.) ได้ตรวจวิเคราะห์สารพิษจากเชื้อราอะฟลาท็อกซินในตัวอย่างอาหารนำเข้า ที่เก็บและส่งตรวจ โดยกองงานด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระหว่างเดือนมกราคม 2553 ถึงเดือนมกราคม 2554 จำนวน 426 ตัวอย่าง ได้แก่ ถั่วลิสง เมล็ดเกาลัด ถั่วขาว เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดถั่วลันเตา ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง อัลมอนด์ ถั่วมาคาเดเมีย เมล็ดแตงโม ถั่วพิตาชิโอ ถั่วปากอ้า เมล็ดงา เมล็ดข้าวโพดดิบ เมล็ดข้าวโพดสำหรับทำ ป๊อปคอร์น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ พริกแห้ง พริกป่น อบเชย พริกไทย เมล็ดผักชี โป๊ยกั๊ก กระเทียม ชอกโกแลต ขนมแครกเกอร์ แป้งถั่วเหลือง อาหารเช้าซีเรียล เครื่องดื่มที่มีพืช ผัก ผลไม้ผสม และชา ตรวจพบถั่วลิสงมีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้มีปนเปื้อนได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของตัวอย่างที่วิเคราะห์ทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 6.7 ของตัวอย่างถั่วลิสงที่ส่งตรวจทั้งหมด 60 ตัวอย่าง
       
       รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวต่ออีกว่า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ของประเทศไทยเป็นแบบร้อนชื้น ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อราได้ง่าย อีกทั้งสารพิษอะฟลาท็อกซินไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อนหรือการชะล้าง ดังนั้น ผู้บริโภคต้องเลือกซื้ออาหารโดยการสังเกตว่าไม่มีเชื้อรา รอยกัดแทะ ของแมลงหรือสัตว์ ในส่วนการเก็บรักษา ก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเก็บอาหารในที่มิดชิด ไม่มีความชื้นสูง ไม่ให้เกิดไอน้ำในบรรจุภัณฑ์ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดสารพิษจากเชื้อราอะฟลาท็อกซินได้
       
       นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) เป็นสารพิษที่เกิดจาก เชื้อราสายพันธุ์แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัช (Aspergillus flavus) และแอสเปอร์จิลลัส พาราซิติคัส (Aspergillus paraciticus) เชื้อราสายพันธุ์นี้เจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ในสภาวะที่เหมาะสม คือ ความชื้นร้อยละ 18-30 อุณหภูมิ 43-63 องศาเซลเซียส หากร่างกายได้รับสารนี้จะสามารถสะสมพิษได้ ซึ่งจะมีผลต่อตับ ทำให้เกิด จนถึงระดับ ที่ทำให้เกิดอันตรายจะส่งผลต่อตับ เช่น ทำให้เกิดโรคตับแข็ง ตับอักเสบ เลือดออกในตับ เซลล์ตับถูกทำลาย และอาจก่อให้เกิดมะเร็งตับได้ และหากได้รับปริมาณที่สูงในครั้งเดียว จะมีผลให้เปิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปอดบวม ชัก หมดสติและอาจทำให้เสียชีวิตได้ อัลฟาท็อกซินมักพบในพืชตระกูลถั่ว โดยเฉพาะถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง นอกจากนี้ยังพบในอาหารแห้งหลายชนิด เช่น พริก ข้าวโพด กระเทียม หัวหอม เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรเลือกบริโภคอาหารแห้งที่ใหม่จากฤดูกาลเก็บเกี่ยว หลีกเลี่ยงอาหาร ที่เก่าเก็บหรือเลือกรับประทานอาหารสด เช่น พริกสดแทนพริกแห้ง หรือกำจัดเปลือก ในการประกอบอาหาร เช่น ถั่วคั่วให้กำจัดเปลือกที่ร่อนออก

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กรกฎาคม 2554