ผู้เขียน หัวข้อ: นิติวิทยาศาสตร์กับวิกฤตชายแดนใต้  (อ่าน 2881 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
นิติวิทยาศาสตร์กับวิกฤตชายแดนใต้
« เมื่อ: 14 มิถุนายน 2011, 22:45:53 »
ปัญหาในเรื่องของความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาประมาณ 7 ปี ผ่านนายกรัฐมนตรี มาถึง 5 สมัย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พันตำรวจโททักษิณ  ชินวัตร,  พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์, นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งจะมีรัฐบาลใหม่ก็ยังไม่มีท่าทีว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจะลดน้อยถอยลง กลับจะทวีความรุนแรงมากขึ้น  ซึ่งความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลแต่ละยุคสมัยได้พยายามศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด  บางครั้งก็ใช้มาตรการแข็งกร้าว บางครั้ง ก็ใช้มาตรการผ่อนปรน แต่ปัญหาก็มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
   
สถิติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เทียบกับเม็ดเงินงบประมาณที่ทุ่มลงไปคลี่คลายสถานการณ์กว่า 1.45 แสนล้านบาท แต่ยังต้องมีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบันมากถึง 4,370 ราย บาดเจ็บ 7,136 ราย เด็กกำพร้า 5,111 คน หญิงหม้าย 2,188 คน คดีความมั่นคง 7,680 คดี ศาลพิพากษาแล้วเพียง 256 คดี และยกฟ้อง ถึง 45.31% กลายเป็นเครื่องยืนยันความล้มเหลวของภารกิจดับไฟใต้ของฝ่ายความมั่นคง (หนังสือพิมพ์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 973 วันที่ 21 มกราคม 2554 หน้า 18)
   
สถานการณ์ในภาคใต้เหมือนกับคลื่นสึนามิ บ่มเพาะอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานาน แล้วก็เปิดปฏิบัติการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 คล้ายวันเสียงปืนแตก คือเหตุการณ์ปล้นปืน จำนวน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส นับว่าเป็นเรื่องที่อุกอาจและท้าทายต่อความมั่นคงของประเทศชาติเป็นอย่างมาก  เป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานของรัฐบาลต้องร่วมมือกันดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
   
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มองเห็นถึงปัญหาของวิกฤตชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะความสำคัญของงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โดยมี แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์  โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นที่ปรึกษาดำเนินการโครงการวิจัยเกี่ยวกับ การจัดการความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำการศึกษาวิจัยในระหว่างเดือนเมษายน 2553 ถึง มีนาคม 2554 มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์กระบวนการดำเนินงานค้นหา ปัญหา อุปสรรค พิสูจน์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ มาใช้ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและการก่อความไม่สงบในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการสร้างคู่มือในการจัดการความรู้ทางด้านการตรวจสถานที่เกิดเหตุ พิสูจน์หลักฐาน และพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติงาน คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยยึดหลักความเป็นธรรม และต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนิติวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคดีในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะพิเศษต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศไทย คือ การหาพยานบุคคลเป็นไปได้ยากมาก ต้องใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
   
“สถานการณ์ของฝ่ายก่อความไม่สงบตอนนี้น่าจะขาดแคลนผู้ปฏิบัติการอย่างมาก เพราะส่วนหนึ่งถูกจับ อีกส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากการปะทะและอีกส่วนหนึ่งหลบหนีออกนอกพื้นที่ทำให้การก่อเหตุรุนแรงลดความถี่ลงอย่างชัดเจน หลาย ๆ ครั้งต้องใช้วิธีระดมพลข้ามเขตเรียกว่า “รวมการเฉพาะกิจ” คือระดมกองกำลังจากหลายๆพื้นที่มาก่อเหตุใหญ่ครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่สมัยก่อนผู้ปฏิบัติจะมีเขตงานชัดเจนและไม่ข้ามเขตกัน สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้เชื่อได้ว่าฝ่ายคนร้าย มีผู้ปฏิบัติการน้อยลงและแม้ฝ่ายแกนนำจะพยายามฝึกแนวร่วมรุ่นใหม่แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติการได้มีประสิทธิภาพเท่าแนวร่วมรุ่นเก่า ๆ”
   
การใช้กฎหมายพิเศษผนวกกับการใช้ “นิติวิทยาศาสตร์” ในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานยังทำให้ได้ฐานข้อมูลการใช้อาวุธปืนในพื้นที่โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมาสามารถตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุจาก “ปลอกกระสุน” ที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุจำนวน 4,381 ปลอก พบว่าเป็นการ “ยิงซ้ำ” จากปืน 574 กระบอก จึงเชื่อว่ายอดอาวุธปืนที่กลุ่มคนร้ายมีอยู่จริงไม่น่าจะเกิน 600 กระบอก และใช้หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ขณะนี้
   
จากการศึกษาปัญหาอุปสรรค มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่รัฐบาลควรรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนอย่างน้อย 3 ประการ ด้วยกัน
   
1)  ปัญหาข้อขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างเจ้าหน้าที่ของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลต้องเข้าไปแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง  และเป็นรูปธรรมมิฉะนั้นแล้วปัญหาในเรื่องนี้จะเกิดผลเสียต่อทางราชการเป็นอย่างมาก และยากที่จะแก้ไขปัญหาได้
   
2)  เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและฝ่ายปกครองต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครอง เช่น ท่านกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้พูดในที่ประชุมของการทำ storytelling เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 ว่าฝ่ายทหารและปกครองมีอำนาจในการสั่งการแต่ขาดความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์เพียงพอ มองไม่เห็นภาพในการบริหารงานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร จึงสมควรจัดสัมมนาการประชาสัมพันธ์ หรือการให้ความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ต่อฝ่ายทหารและฝ่ายปกครองในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง

3)  การยอมรับของประชาชน (Public Acception) ควรศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้ เกิดการยอมรับของประชาชนในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้เกิดการสนับสนุนในเรื่อง ความเป็นธรรมทางสังคมมากขึ้น จะได้นำข้อมูล ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาวิจัย ไปสู่การวางแผนและการบริหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการอีกทางหนึ่ง

รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินงบประมาณไปมากกว่า 1.45 แสนล้านบาท แต่ยังแก้ไขไม่ถูกจุด ไม่ตรงประเด็น ลองสร้างมิติและมุมมองในการนำนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดการยอมรับของประชาชนในเรื่องกระบวนการยุติธรรม น่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความเป็นธรรมทางสังคมตามที่ประชาชนแต่ละกลุ่มชนชั้นเรียกหา เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ในพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันทั้งทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ รวมทั้งความฝังใจในเรื่องของศาสนา การแบ่งชนชั้น และการไม่ได้รับความเป็นธรรม จะทำให้สถานการณ์ในชายแดนภาคใต้ดีขึ้นเพราะนิติวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ได้ และเป็นที่ยอมรับกันในอารยประเทศ

พลตำรวจโท ดร.ณรงค์  กุลนิเทศ
ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เดลินิวส์ 10 มิถุนายน 2554