ผู้เขียน หัวข้อ: นโยบายประชานิยมกำลังทำให้สาธารณสุขไทยล่มจม  (อ่าน 2020 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
นับตั้งแต่มีการออกพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ประสบความสำเร็จ ในการดำเนินการตามนโยบายประชานิยม จนทำให้ประชาชนทั้งประเทศจดจำคำขวัญว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” ได้อย่างขึ้นใจ และเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น เป็นสมัยที่สอง

 แต่ภายหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุคนั้นคือนพ.มงคล ณ สงขลา ได้สร้างกระแสประชานิยมมากกว่าที่พรรคไทยรักไทยเคยทำมาแล้ว โดยการยกเลิกการจ่ายเงิน 30 บาทของประชาชน  และนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากพรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามจะ “หาเสียงจากประชาชน” ให้มากยิ่งขึ้น โดยนำโครงการเก่ามาโฆษณาประชาสัมพันธ์และต่อยอดการ “หาความนิยม” จากประชาชน โดยการโฆษณาชวนเชื่อว่า บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรี 48 ล้านคน และอธิบายว่ารักษาฟรีอย่างมีคุณภาพ โดยกำหนดคุณภาพของโรงพยาบาลว่าต้องมี 3 ดี คือ บรรยากาศดี บริการดี  และบริหารจัดการดี

  แต่ที่นายจุรินทร์ พูดว่ารักษาฟรีอย่างมีคุณภาพนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างอย่างไม่มีความจริงมารองรับ ซึ่งความจริงที่ประชาชนเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง เวลาต้องไปโรงพยาบาลก็คือ

   ต้องเสียเวลานานมากในการไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล มีประชาชนแออัดยัดเยียด รอคอยการตรวจรักษาอยู่จนล้นโรงพยาบาล(บรรยากาศคงไม่ดีแน่ ถ้าเป็นแบบนี้)

  เวลาป่วยหนักจนถึงกับต้องนอนพักรักษาในโรงพยาบาล  ก็หาเตียงนอนไม่ได้ ต้องตระเวนไปตามหาเตียงจากอีกหลายๆโรงพยาบาล เพื่อจะหาเตียงสำหรับนอนพักรักษาตัวให้ได้  (แบบนี้ก็แสดงว่า บริการไม่ดีแน่นอน)

     และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขก็ขาดทุนจนแทบทุกโรงพยาบาล (อย่างนี้ก็แสดงว่าบริหารจัดการไม่ดีอย่างแน่นอน) ขาดแคลนแพทย์ พยาบาล  และบุคลากรอื่นๆอีกมากมาย รวมทั้งขาดการพัฒนาอาคารสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่จำเป็นอื่นๆอีกมาก

  ความเป็นจริงที่เห็นและเป็นอยู่ในระบบบริการสาธารณสุขก็คือ มีความขาดแคลนทรัพยากรทุกชนิดในการทำงานเพื่อประชาชน เริ่มตั้งแต่ขาดบุคลากรทุกประเภท ทุกระดับ ทั้งจำนวน (ปริมาณ) และคุณภาพ (บุคลากรที่เชี่ยวชาญทุกประเภท) ขาดงบประมาณในการบริหารจัดการ ทำให้ขาดอาคาร สถานที่ ขาดวัสดุอุปกรณ์ ขาดเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม และความขาดแคลนที่เป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ แพทย์ขาดอิสรภาพในการประกอบวิชาชีพอิสระ เนื่องจากถูกบังคับให้สั่งจ่ายยาหรือสั่งการรักษาตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กำหนดไว้เท่านั้น (ทั้งๆที่สปสช.ก็ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาทุกโรค) เพราะถ้าแพทย์ไม่ทำตามข้อกำหนดของสปสช.แล้ว สปสช.ก็จะไม่ยอมจ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วย ทั้งๆที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสปสช.ที่จะกำหนดว่าแพทย์ควรรักษาผู้ป่วยอย่างไร

   นอกจากนโยบายประชานิยมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเกิดความความขาดแคลนทรัพยากรทุกชนิดที่จำเป็นในการทำงานดังกล่าวแล้ว สปสช.ยังโฆษณาชวนเชื่อว่า “รักษาทุกโรค” มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 แต่ความเป็นจริงก็คือ สปสช.จะประกาศให้ “สิทธิ”ที่ประชาชนจะได้รับการรักษาโรคต่างๆเพิ่มเติมอีกทุกๆปี เมื่อเร็วๆนี้ก็เพิ่งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการให้ยาต้านพิษอีก 4 รายการ(1) และต่อๆไปสปสช.ก็คงจะประกาศรายการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาอีกเรื่อยๆ

  ซึ่งการ “เพิ่มสิทธิ” ในการรับการรักษานี้ แสดงว่าการที่สปสช.โฆษณาว่า “รักษาทุกโรค” นั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดทั้งสิ้น

  การให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนในปัจจุบันนี้ ตรงกันข้ามกับเมื่อก่อนที่จะมีการประกาศพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือเมื่อก่อนนั้นโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุข สามารถให้การรักษาผู้ป่วยทุกคน ทุกโรค โดยถือเป็นสวัสดิการแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยประชาชนที่มีรายได้และมีเงินก็จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลของตนเองและครอบครัวในราคาถูก(จ่ายน้อย) ส่วนประชาชนที่ยากจน ก็จะได้รับความช่วยเหลือตามโครงการรักษาประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จ่ายงบประมาณในการรักษาผู้มีรายได้น้อยไปให้แต่ละโรงพยาบาล ทดแทนเงินค่ารักษาที่ประชาชนไม่มีเงินจ่าย นอกจากนั้น ประชาชนที่ยากจนไม่มีเงินค่ารถเดินทาง ก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากงานสังคมสงเคราะห์และมูลนิธิต่างๆของโรงพยาบาลอีกด้วย

   ในระบบเดิมนั้น รัฐบาลจะจัดสรรเงินงบประมาณให้แก่กระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีงบประมาณที่เหมาะสมในการบริหารจัดการในการให้บริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน มีบุคลากรในการให้ความรู้แก่ประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการปฐมพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยไม่ร้ายแรงได้ด้วยตนเอง ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพได้  ไม่ต้องไปใช้บริการจากโรงพยาบาลมากเกินความจำเป็น โดยการที่ประชาชนต้องจ่ายเงินในการไปโรงพยาบาลด้วยนั้น ทำให้ประชาชนต้องสนใจที่จะต้องระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพและป้องกันความเจ็บป่วยของตนเองและครอบครัว เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาความเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น

   แต่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.ได้แต่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมารับสิทธิในการรักษาฟรี โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัว  ทำให้ประชาชนบางส่วนมารับการดูแลรักษาจากโรงพยาบาลมากเกินความจำเป็น ประชาชนบางส่วนได้รับยาไปแล้ว กินยาไป2-3 วันก็กลับมาเรียกร้องขอรับการตรวจรักษาใหม่ ทั้งๆที่ยาที่กินไปตอนแรกนั้นอาจจะยังไม่ให้ผลในการรักษาเต็มที่ ทำให้สูญเสียยาไปโดยไม่จำเป็น โรงพยาบาลต้องจ่ายเงินค่ายามากกว่าที่จำเป็น สูญเสียงบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์มากมาย นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดในการรักษาบางโรค ที่สปสช.จะไม่จ่ายเงินในการรักษาผู้ป่วย ทั้งๆที่สปสช.รับงบประมาณในการรักษา “ทุกโรค” มาจากรัฐบาลแล้ว ซึ่งเป็นผลให้โรงพยาบาล ไม่มีเงินใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้

     นอกจากนั้น การที่ประชาชนมาใช้บริการมากเกินไป ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาให้การดูแลเอาใจใส่แก่ผู้ป่วยแต่ละคนน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดพลาดหรือแพทย์ขาดเวลาอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ทำให้ผู้ป่วยและ/หรือญาติผู้ป่วยเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของคำแนะนำในการรักษา เกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เกิดการร้องเรียนฟ้องร้องมากมาย  ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความอึดอัดคับข้องใจ ลาออกจากระบบราชการมากขึ้นหลังจากเริ่มมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะใช้มาตรการบังคับแพทย์ให้ต้องมาทำงานชดใช้ทุน แต่แพทย์ก็ยังลาออกจากราชการอย่างต่อเนื่อง และจำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายตามจำนวนแพทย์ที่เรียนจบการศึกษาในแต่ละปี(2)

   การให้หลักประกันด้านสุขภาพแก่ประชาชนเพียง 48 ล้านคนนี้ นอกจากจะทำให้ประชาชน 48 ล้านคน ทั้งคน “มีเงิน” และคน “ไม่มีเงิน” ได้รับ “อภิสิทธิ์” เหนือประชาชนกลุ่มอื่น ในการได้รับการดูแลรักษาสุขภาพฟรี ยังได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไป และทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินแทน “คนมีเงิน” ในการรักษาสุขภาพ ส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินงบประมาณในการรักษาสุขภาพของประชาชนมากขึ้นทุกปี จากปีเริ่มต้นที่ ประมาณ หกหมื่นล้านบาท มาเป็น หนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน 

  ถึงแม้ว่าจะต้องเพิ่มงบประมาณเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างมากมายเพียงใดก็ตาม แต่งบประมาณในการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังขาดแคลนมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานในการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนได้ ไม่สามารถพัฒนาซ่อมแซมอาคารสถานที่ ไม่สามารถจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย  เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานให้คงเดิมตามที่เป็นอยู่ในอดีต และไม่สามารถพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ให้เท่าเทียมกับโรงพยาบาลเอกชน ในประเทศ  (ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศ) เนื่องจากความขาดแคลนทรัพยากรทุกอย่างดังกล่าวแล้ว

  แต่พรรคการเมืองแทบทุกพรรค ที่กำลังหาเสียงจากประชาชนในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ต่างก็ชูนโยบายประชานิยมทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นเรียนฟรี แจกเงินฟรี  ลดหนี้ฟรี ให้หลักประกันสุขภาพฟรี  รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ฯลฯ ซึ่งคงจะต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนมาชดเชยภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้อีกมากมายมหาศาล แต่ยังไม่เห็นพรรคไหนเลยที่บอกว่า จะ “หาเงิน” มาเพื่อโครงการ “ฟรีๆ” สำหรับประชาชนเหล่านี้อย่างไร?

   จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น หรือจะแจกฟรีๆแต่ด้อยคุณภาพ อย่างที่เกิดขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบันนี้ ที่ทำให้รัฐบาล “ได้หน้า” ว่าให้รักษาฟรี แต่ระบบบริการสาธารณสุขกำลังจะล่มจม และการแจกฟรีๆแบบนี้ จะทำให้ประชาชนบางส่วนพอใจที่จะ “แบมือขอ” อย่างเดียว แต่ประเทศไทยคงจะล้มละลายในไม่ช้านี้ เพราะยังไม่มีพรรคการเมืองไหน บอกวิธีการว่าจะหาเงินมา “แจกประชาชน” ทุกโครงการได้อย่างไร?

   ประชาชนอยากจะได้รับการแจกฟรีๆอย่างไม่มีคุณภาพ ตามที่ได้รับแจกจากโครงการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรี 48 ล้านคน” หรืออยากจะมีส่วนร่วมในการร่วมรับผิดชอบดูแลตนเองด้วย เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาสุขภาพอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน

  ถ้าประชาชนจะเชื่อคำพูดนักการเมืองในตอนหาเสียงเลือกตั้ง โดยไม่คิดถึงความเป็นไปได้ที่แท้จริงแล้ว ประชาชนก็คงได้รับ “ของฟรี” ที่ไม่มีคุณภาพ แต่เป็นภาระหนักแก่งบประมาณแผ่นดิน  และประเทศชาติคงจะรอวันล้มละลายในไม่ช้านี้

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
7 มิ.ย. 54

 เอกสารอ้างอิง

1.    สปสช.เพิ่มกลุ่มยาต้านพิษอีก 4 รายการ ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รับพิษโบทูลินัม ท็อกซิน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์  2 มิถุนายน 2554 15:10 น.
 
http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000067405

2.    สถิติของกลุ่มทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข