ผู้เขียน หัวข้อ: แร่หายาก(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 2955 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
พวกเราส่วนใหญ่คงนึกไม่ออกว่าเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มณฑลเจียงซี หรือมณฑลกวางตุ้งของจีนอยู่ตรงไหนของแผนที่  แต่เครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคสารพัดที่เราพึ่งพาอาศัย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ และอื่นๆอีกมากมายหลายร้อยชนิด คงไม่มีทางเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ หากปราศจากกลุ่มแร่หายากซึ่งน้อยคนนักจะรู้จัก และบางครั้งมีการทำเหมืองอย่างผิดกฎหมายในภูมิภาคทั้งสามข้างต้นและภูมิภาคอื่นๆของจีน

แร่หายากหรือแร่ธาตุหายาก (rare earth หรือ rare earth element) ซึ่งถูกค้นพบในช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปด แท้จริงแล้วเป็นโลหะ และไม่ได้หายากเหมือนชื่อแต่อย่างใด เพียงแต่พบกระจัดกระจายเป็นปริมาณเล็กน้อยอยู่ตามที่ต่างๆ ดินกำมือหนึ่งจากสวนหลังบ้านคุณอาจมีแร่เหล่านี้ปะปนอยู่เล็กน้อย แร่หายากที่จัดว่าหายากที่สุดยังมีปริมาณมากกว่าทองคำถึงเกือบ 200 เท่า แต่แหล่งแร่หายากแหล่งใหญ่และมีปริมาณมากพอคุ้มค่ากับการลงทุนทำเหมืองต่างหากที่หาได้ยากยิ่งกว่า

รายชื่อข้าวของเครื่องใช้ที่มีแร่หายากเป็นส่วนประกอบนั้นยาวเป็นหางว่าว แม่เหล็กที่ทำจากแร่หายากมีพลังมากกว่าแม่เหล็กธรรมดามากและยังมีน้ำหนักเบากว่า นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากมีขนาดเล็กลง แร่หายากยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเครื่องจักรหลายชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฮบริดและกังหันลม

คาร์ล ชไนด์เนอร์ นักโลหกรรมอาวุโส ผู้ศึกษาแร่ธาตุหายากมากว่า 50 ปี บอกว่า “แร่พวกนี้อยู่รอบๆตัวเราทั้งนั้นครับ” ไม่ว่าจะเป็นสารเรืองแสงในโทรทัศน์ที่ได้สีแดงจากธาตุยูโรเพียม เครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา (catalytic converter) หรือระบบท่อไอเสียซึ่งมีธาตุซีเรียมและแลนทานัม เพียงแต่ซุกซ่อนอยู่ในชิ้นส่วนของอุปกรณ์ต่างๆที่เราใช้ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะรู้เรื่องเกี่ยวกับพวกมัน คนส่วนใหญ่จึงไม่เคยใส่ใจแร่เหล่านี้ตราบเท่าที่ยังหาซื้อได้”

แต่ตอนนี้หลายคนเริ่มเป็นกังวลแล้ว

จีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกแร่หายากคิดเป็นปริมาณถึงร้อยละ 97 ของโลก เขย่าตลาดโลกในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2010 ด้วยการระงับการส่งออกแร่หายากไปยังญี่ปุ่นเป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังเกิดความขัดแย้งทางการทูต ในช่วงสิบปีข้างหน้า คาดว่าจีนจะลดการส่งออกแร่หายากลงอย่างต่อเนื่องเพื่อสำรองไว้ให้อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของตนเอง ซึ่งต้องอาศัยแร่หายากราวร้อยละ 60 ที่ผลิตได้ภายในประเทศอยู่แล้ว ความวิตกเกี่ยวกับความขาดแคลนในอนาคต ส่งผลให้ราคาแร่หายากพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าความต้องการแร่หายากในปีนี้จะอยู่ที่ 55,000 ถึง 60,000 ตันนอกประเทศจีน และทุกคนต่างคาดหวังว่าจีนจะส่งออกราว 24,000 ตัน ซึ่งนั่นน่าจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมพอประคับประคองสถานการณ์ไปได้

กระนั้น อุปสงค์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย  คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2015 อุตสาหกรรมโลกจะต้องใช้แร่หายากสูงถึง 185,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปริมาณทั้งหมดของปี 2010 ถึงร้อยละ 50 ในเมื่อจีนหวงแหนทรัพย์ในดินของตนเช่นนี้ แล้วชาวโลกที่เหลือจะไปหาแร่ธาตุซึ่งกลายเป็นของขาดไม่ได้สำหรับเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจากไหนกัน

จีนมีปริมาณแหล่งแร่หายากสำรองคิดเป็นร้อยละ 48 ของโลก ส่วนสหรัฐฯมีอยู่ร้อยละ 13 รัสเซีย ออสเตรเลีย และแคนาดาก็มีแหล่งแร่ใหญ่ๆอยู่หลายแห่ง สหรัฐฯเองเคยเป็นผู้นำด้านการผลิตแร่หายากของโลกจนถึงทศวรรษ 1980

สหรัฐฯครองตลาดอยู่จนถึงกลางทศวรรษ 1980 เมื่อจีนซึ่งซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีในการสกัดหรือแยกแร่หายากมาตลอดทศวรรษ 1960 ถึง 1970 (ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแร่เหล่านี้มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายคลึงกันมาก) ผงาดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดแร่หายากระดับโลก อุตสาหกรรมแร่หายากของจีนสามารถตัดราคาคู่แข่งรายอื่นๆได้อย่างราบคาบ และเมืองเป่าโถวในมองโกเลียในได้กลายเป็นเมืองหลวงแร่หายากแห่งใหม่ของโลก เฉินจ้านเหิง ผู้อำนวยการแผนกวิชาการของสมาคมแร่หายากแห่งประเทศจีนในกรุงปักกิ่ง บอกว่า เหมืองแร่หลายแห่งในเป่าโถวมีแหล่งแร่หายากรวมกันเป็นปริมาณถึงร้อยละ 80 ของจีน แต่เป่าโถวก็ได้ตำแหน่งนี้มาด้วยราคาแสนแพง เพราะกลับกลายเป็นว่าเทคโนโลยีบางอย่างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ไฮเทคทั้งหลายแหล่ล้วนมีที่มาอันแสนสกปรก

เหมืองแร่หายากมักมีธาตุกัมมันตรังสี เช่น ยูเรเนียมและทอเรียมปะปนอยู่ด้วย มีรายงานว่าชาวบ้านที่อยู่ใกล้ๆ เมืองเป่าโถวต้องย้ายถิ่นฐานเพราะน้ำและพืชผลปนเปื้อนของเสียจากเหมืองแร่ ทุกปีเหมืองใกล้ๆกับเป่าโถวปล่อยน้ำเสียออกมาราวสิบล้านตัน ส่วนมากถ้าไม่เป็นกรดสูงก็มักปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี และน้ำเกือบทั้งหมดแทบจะไม่ได้รับการบำบัด เฉินจึงผลักดันให้รัฐบาลจีนทำความสะอาดอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง

เฉินบอกว่า “รัฐบาลได้ออกกฎเข้มงวดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และขจัดสิ่งไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะเทคโนโลยีและเครื่องไม้เครื่องมือที่ล้าหลัง ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ก่อมลพิษ โรงงานที่ไม่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมจะต้องปิดตัวลงหรือไม่ก็ควบรวมกับบริษัทที่ใหญ่กว่า”

ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลจีนอาจควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่หายากขนาดใหญ่รอบๆเป่าโถวได้ แต่แก๊งอาชญากรยังคงควบคุมเหมืองแร่หายากนับสิบแห่งที่ก่อมลพิษระดับสูงและให้กำไรงามในมณฑลเจียงซีและกวางตุ้ง สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า เมื่อปี 2008 อาชญากรในจีนลักลอบนำแร่หายากออกขายเป็นปริมาณ 20,000 ตัน หรือเกือบหนึ่งในสามของปริมาณแร่หายากที่มีการส่งออกทั้งหมดในปีนั้น ถ้าคุณมีสมาร์ตโฟนหรือทีวีจอแบนสักเครื่องละก็ ในนั้นอาจมีแร่หายากที่ได้มาจากการทำเหมืองผิดกฎหมายในภาคใต้ของจีนก็เป็นได้
ทุกวันนี้ ทั่วโลกกำลังเร่งค้นหาแหล่งแร่หายากอื่นๆ การพัฒนาเหมืองแร่หายากในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย รัสเซีย และประเทศอื่นๆ อาจช่วยตัดวงจรการลักลอบค้าแร่หายากลงได้ในที่สุด

มิถุนายน 2554